สวนสัตว์เชียงใหม่ผสมเทียมช่วงช่วง-หลินฮุ่ย
เนื่องจากการปล่อยให้หมีแพนด้าทั้งคู่ผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะช่วงช่วงไม่ตอบสนองอาการเป็นสัดของหลินฮุ่ย
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 กพ.52 ณ ห้องควบคุมหมีแพนด้า นายโสภณ ดำนุ้ย ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ ได้มาเป็นประธานในการให้หมีแพนด้าทำการผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติในช่วงเดือนที่ฮอร์โมนของหมีแพนด้าเพศเมียพุ่งขึ้นสูงสุด โดยมี นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์มาดูแลอย่างใกล้ชิด การปล่อยให้หมีแพนด้าทั้งคู่ได้อยู่ด้วยกันและทำการผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติ ปรากฏว่า หลินฮุ่ย หมีแพนด้าเพศเมียมีอาการเป็นสัดอย่างเห็นเด่นชัดและส่งเสียงร้อง แต่ปรากฏว่าหมีแพนด้าเพศผู้คือ ช่วงช่วง กลับไม่ตอบสนองอาการเป็นสัดของหลินฮุ่ย และแสดงอาการหงุดหงิด ส่วนหมีแพนด้าหลินฮุ่ยได้พยายามหันก้นให้เพื่อให้ช่วงช่วงทำการผสมพันธุ์แต่ปรากฏว่าช่วงช่วง กลับใช้เท้าหน้าปัดและเดินจากไป ทางเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่เป็นผลจึงได้เปลี่ยนแผนใหม่ทันที โดยมีการเรียกประชุมทีมสัตวแพทย์เพื่อทำการผสมเทียมเป็นการด่วน เพราะหากไม่ทำวันนี้ก็จะไม่โอกาสแล้ว
กระทั่งเวลา 13.30 น. นายโสภณ จึงได้ให้ทีมสัตว์แพทย์ทำการผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ย โดยให้ทีมงานใช้ยาสลบฉีดหลินฮุ่ยก่อนจากและได้นำหลินฮุ่ยซึ่งอยู่ในอาการสลบขึ้นเตียง จากนั้นก็ได้นำน้ำเชื้อของช่วงช่วง ซึ่งทางสัตว์แพทย์โดยผู้เชี่ยวชาญ คือ นายกรไชย กรแก้วรัตน์ นักวิทยาศาสตร์ 8 ภาคิชาเวชศาสตร์คลีนิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์กำแพงแสน นครปฐม ซึ่งได้ทำการรีดน้ำเชื้อของช่วงช่วง เมื่อวานนี้ นำน้ำเชื้อช่วงช่วง ส่งมอบให้กับทีมสัตวแพทย์เพื่อทำการฉีดน้ำเชื้อปริมาณ 5 ซีซี แบ่งเป็นสองขั้นตอนทำการฉีดน้ำเชื้อไปยังมดลูกของหลินฮุ่ยก่อน 2.5 ซีซี และฉีดครั้งที่สองไปยังปากมดลูกของหลินฮุ่ยเพื่อให้อวัยวะเพศของหลินฮุ่ยดูดน้ำเชื้อบริเวณปากมดลูกไปอีกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการการผสมเทียม
นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย กล่าวว่าระดับฮร์โมนเพศของหมีพนด้าเพศเมีย หลินฮุ่ยมีความพร้อมที่สุดที่จะตกไข่ในการผสมพันธุ์ในวันนี้ แต่ปรากฏว่าการปล่อยให้หมีแพนด้าผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากหมีแพนด้าเพศผู้ ไม่สนองตอบ จึงต้องใช้วิธีการผสมเทียม ซึ่งถือเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสมมากกว่า ประกอบกับทางองค์การสวนสัตว์ได้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านทีมสัตวแพทย์ นักวิจัย และเครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ในการผสมเทียมพร้อมอยู่แล้ว
นายโสภณ กล่าวว่า การผสมเทียมของหมีแพนด้าในครั้งนี้ ตนมีความมั่นใจอย่างมาก เรายังได้ประสานไปยังประเทศจีนให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาที่สวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อมาตรวจสอบดูอีกครั้งถึงการผสมเทียมของเรา โดยคาดว่าผู้เชี่ยวชาญจากจีนจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 20 ก.พ. นี้ หากผู้เชี่ยวชาญจีนมาถึงก็อาจจะมีการผสมเทียมอีกครั้ง ก็แล้วแต่สถานการณ์ การผสมเทียมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สำคัญเพราะเป็นช่วงที่หมีแพนด้าเพศเมียตกไข่ซึ่งระบบของหมีแพนด้าแปลกจะมีการตกไข่เพียง 1-2 วันเท่านั้นจากนั้นก็จะต้องรอไปอีก 1 ปี จนครบฤดูผสมพันธ์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์