อธิบดีสถ.ลั่น ไม่ผิดปลดไม่ได้ ย้ำขอตรวจสอบนมโรงเรียน7วัน
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ระบุ ขอเวลาตรวจสอบนมโรงเรียน 7 วัน ยันทำหน้าที่ดีที่สุด ไม่ผิดปลดไม่ได้
(19ก.พ.) นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า ตนเชื่อว่าท้องถิ่นส่วนมากผู้บริหารมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว และยังจะมีเรื่องเบี้ยยังชีพ งบอุดหนุน 2 พันล้าน หากพิจารณาเป็นจำนวนมาก และท้องถิ่นมีจำนวนมากเกิดปัญหาแน่นอน ไม่มีที่จะสมบูรณ์ ที่ถามว่าม่กระทบต่อตำแหน่งหรือไม่ ตนเคยบอกแต่แรกแล้วว่าไม่อยากมาเป็นอธิบดี สถ. แต่เมื่อมาอยู่แล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะรู้ดีว่าท้องถิ่นมีปัญหามาก ท้องถิ่น 8 พันกว่าแห่ง 4 พันแห่งรายได้เกือบ 400 ล้าน กทม.ก็ 7-8 หมื่นล้าน พัทยา 3 พันล้าน อบจ.นนทบุรี 1.2 - 1.6 หมื่นล้าน แต่ละแห่งมีความลักลั่นกัน ท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ เงินอุดหนุนที่ได้มาแต่ละแห่งก็ได้ไม่เท่ากัน รวมถึงการคลังท้องถิ่นก็ไม่เป็นไปตามระเบียบการคลัง ซึ่งเกิดจากคณะกรรมการไม่เข้าใจท้องถิ่น
"เมื่อผมมาอยู่ในตำแหน่งนี้ก็จะทำให้ดีที่สุด ผมไม่ผิดจะมาปลดได้อย่างไร" นายสุกิจ กล่าว
นายสุกิจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของนมโรงเรียนนั้น ในโรงเรียนหนึ่งจะมีนักเรียนเล็กไม่เกินพันคน นมก็ตกถุงละ 6-7 บาท คิดว่ากรรมการตรวจรับคงไม่ตั้งใจ แต่ประมาทเลินเล่อไม่แกะถุงเทใส่แก้ว ซึ่งหลักเกณฑ์อนุกรรมการโคนม ซึ่งมี ผอ.องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อสค.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า สามารถซื้นนมยูเอชทีได้ ซึ่งใน จ.ชุมพร สามารถซื้อข้ามเขตได้จาก 18 บริษัท ส่วนพาสเจอร์ไรซ์จะต้องเป็นเขตใครเขตมัน เมื่อพบว่านมไม่มีคุณภาพก็อย่าตรวจรับไป และต้องแจ้ง อย. และกรรมการ อสค.ตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ผิดพลาดได้แต่ปัญหาไม่ได้คุณภาพทั้งหมดหรือไม่ ล็อคสเปคหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบ โดยขอเวลา 7 วัน ซึ่งได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง ท้องถิ่น จังหวัด ตรวจสอบสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบบัญชีแล้วว่าทำถูกต้องหรือไม่
ส่วนที่ระบุว่าการกำหนดโซนจำหน่าย แต่มีเพียงบริษัทเดียวจำหน่ายทำให้ไม่มีการแข่งขัน นมจึงไม่มีคุณภาพนั้น นายสุกิจ กล่าวว่า หากฮั้วก็ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ผิดระเบียบของประกาศอนุกรรมการนมโรงเรียน แต่ผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการสมยอมราคา แม้จะซื้อไม่กี่หมื่นบาทก็ตาม และหากเอานมผงผสมน้ำ ถือว่าขาดจริยธรรมทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นความบกพร่องของโรงเรียนแต่ก็ดีถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ก็มีเป็นระลอก เพราะประเทศของเรามีผู้ผลิตรายย่อยขายน้ำนมดิบ แต่การบริโภคน้อยมาก ถ้าดื่มนมเป็นวิถีประจำวันปริมาณการผลิตในประเทศก็ไม่พอ แต่คนไทยดื่มนมไม่เป็นวิถีชีวิต จึงมองว่าโรงเรียนเป็นตลาดแน่นอนที่สามารถขายสินค้าได้ ก็เอา อสค.มาเป็นแกนหลักและเอามติ ครม.รองรับ ไม่เช่นนั้นจะสู้ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ได้
นายสุกิจ กล่าวอีกว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติ การแก้ปัญหาสิทธิของผู้จำหน่ายเป็นเรื่องของคณะกรรมการโรงเรียน และเมื่อปี 48 ก็มีการเพิ่มหลักปฏิบัติเพิ่มเติม เพราะกลัวว่าจะผิดพลาดโดยให้มีคณะกรรมการตรวจรับนมโรงเรียนของแต่ละโรงเรียนเป็นผู้ตรวจรับ ดังนั้นโรงเรียนต้องตั้งกรรมการตรวจรับ แต่บางทีก็หย่อนยาน