ลงตัวแจก 2 พันกู้ศก.จ่ายเช็คให้ดีเดย์รอรับปลาย มี.ค.
เงิน 2 พันบาทช่วยผู้มีรายได้น้อยได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว รัฐบาลจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมรุบชื่อคนรับชัดเจน ให้เจ้าตัวเซ็นชื่อกำกับด้านหลังอีก 2 ครั้งเพื่อป้องกันการทุจริต พร้อมเพิ่มความง่ายและคล่องตัวขึ้นเป็นเงินสดได้ ด้านเอกชนขานรับให้ส่วนลดแจงสวนสนุก-โรงแรม เพิ่มมูลค่าเงินให้ 2 เท่า คอมพ์ เพิ่มให้อีก 1 พันบาท ส่วนห้างดังให้ส่วนลด 10% นายกฯ อภิสิทธิ์ ระบุ สปส.เป็นคนจ่ายให้รวดเดียว เริ่ม 26 มี.ค.-8 เม.ย.นี้ ด้านเลขา สปส. ระบุ นายจ้างอมเงินโดนลงโทษตามกฎหมาย เผย มีคนโวยไม่ได้ 2 พันบาท ไพฑูรย์ ย้ำตกงานหมดสิทธิแต่ยังได้สิทธิประกันสังคมอยู่ ลูกจ้างกรุงเก่าโดนเพียบ ขณะที่ นายกฯ ไฟเขียวแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง เน้นลงทุนใน 5 สาขา มูลค่าลงทุน 2 ล้านล้านบาท ส่วนปัญหาเกษตรกรฯ ทำ สังศิต ล้มป่วยหยอดน้ำเกลือ นายกฯอุ้มสังศิต ให้ทำงานต่อ
เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนนั้น เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือกับภาคเอกชนเรื่องการนำมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปสู่การปฏิบัติใน 3 โครงการหลัก คือ 1. โครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานหรือฝึกอบรมแรงงานที่มีเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท 2.โครงการลดค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ที่จะนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่าย ซึ่งมีเอกชนแสดงความสนใจและให้ความร่วมมือ และ 3.โครงการเงิน 2,000 บาท ที่เอกชนสนใจที่เข้ามาร่วมและเพิ่มมูลค่าเงินมากขึ้น
"การจ่ายเงินจะมีลักษณะกึ่งคูปองแต่จ่ายเป็นเช็คซึ่งจะทำให้การปลอมแปลงได้ยาก เอกชนยืนยันว่าจะมีส่วนลดอย่างแน่นอน 5-50% และจะทำให้เกิดการแข่งขันโดยธรรมชาติ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายว่าภายในวันที่ 8 เม.ย.นี้ จะจ่ายเช็คถึงมือประชาชนได้ทั้งหมดคราวเดียว 8 ล้านคน ทั้งนี้จะจ่ายผ่านสำนักงานประกันสังคมผ่านไปยังสถานประกอบการ ส่วนบุคคลที่มีสิทธิได้รับแต่ไม่มีสถานประกอบการ ก็จะจ่ายผ่านสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ สำหรับประชาชน 1 ล้านคนอยู่ในระบบราชการที่จะจ่ายไปพร้อมเงินเดือน ขณะนี้รัฐบาลรอให้งบประมาณผ่านการพิจารณาของสภา จากนั้นรอกฎหมายประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ จึงคาดว่าน่าจะประมาณต้นเดือน มี.ค. นี้ แต่ระหว่างนี้กระบวนการสามารถจัดทำเช็คได้ทันที ซึ่งคาดเดือน เม.ย. นี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ข้อสรุปว่าจะจ่ายให้เป็นเช็ค ผ่าน 3 ช่องทางคือ 1.จ่ายให้ผู้ประกันตน ในกรณีสถานประกอบการขนาดเล็กหรือสถานที่ใกล้เคียงกับสำนักงานแรงงานทั่วประเทศ 2.จ่ายให้นายจ้างแจกจ่ายลูกจ้างในกรณีสถานประกอบการขนาดใหญ่ และ 3.สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะจัดรถโมบายเคลื่อนที่ไปตามจังหวัดที่มีสถานประกอบการหรือที่อยู่ของลูกจ้างผู้ประกันตนที่ห่างไกลกัน
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า นอกจากนี้สมาคมนายธนาคารได้เสนอให้จ่ายเป็นเช็คที่ไม่ขีดคร่อมชื่อผู้ถือเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายและเมื่อนำเช็คไปใช้จ่ายร้านค้าจะสามารถทอนมาเป็นเงินได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ในฐานะผู้ปฏิบัติไม่สามารถทำได้เนื่องจากอาจจะเกิดความยุ่งยากและเกิดผลเสียขึ้นกับผู้มีสิทธิรับเงินได้ อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ประกันตนเร่งแจ้งสิทธิกับ สปส. ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เพื่อให้สปส.นำรายชื่อทั้งหมดส่งให้ธนาคารออกเช็คให้ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ โดยจะเริ่มจ่ายเช็คในวันที่ 26 มี.ค.-8 เม.ย.นี้ มั่นใจว่าเช็คเงินจำนวนดังกล่าวจะถึงมือผู้ประกันตนที่มีสิทธิทุกคนอย่างแน่นอน
นายไพฑูรย์ กล่าวถึงกรณี ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.คืนความเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.... ว่า เรื่องนี้ สปส.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 35 เนื่องจากมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างผู้ที่ลาออกจากงาน ขาดส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมจำนวนกว่า 1 แสนคน จะได้รับอานิสงส์ให้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคมมาตรา 39 ต้องจ่ายเงินสมทบ 2 ขาคือ ทั้งในส่วนนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณีคือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และ ชราภาพ อย่างไรก็ตาม บุคคลกลุ่มดังกล่าวจะไม่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังไม่ออก
รมว.แรงงาน กล่าวถึงการช่วยเหลือคนว่างงานกรณีการฝึกอาชีพและให้เงินวันละ 200 บาท ว่า ขณะนี้เรามีความพร้อมโดยใครที่ต้องการฝึกให้มาลงทะเบียนได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจะเริ่มฝึกให้ทันทีตามความต้องการของผู้ฝึกและเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้จะมีการฝึกอาชีพอิสระให้ด้วย โดย สปส. ได้นำเงิน 4,000 ล้านบาทไปฝากธนาคารเพื่อปล่อยกู้
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้ประกันตนที่แจ้งความประสงค์จะรับเงิน 2,000 บาท ว่าเป็นผู้มีสิทธิและมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลอกลวง และขอให้ผู้มีสิทธิแจ้งความประสงค์ก่อนวันที่ 1 มี.ค.นี้ ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1506
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายกอร์ปศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรอ.ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยรายละ 2,000 บาท โดยจะจ่ายในรูปแบบของเช็คที่กระทรวงแรงงานเป็นผู้ออกเช็คขีดคร่อมระบุชื่อเจ้าของผู้ได้รับสิทธิ เพื่อให้ผู้ได้รับเช็คสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการตามร้านที่ร่วมโครงการหรือนำไปเข้าบัญชีเพื่อเบิกเป็นเงินสดไว้ใช้จ่ายภายหลังได้ โดยขั้นตอนการจัดส่ง สปส. จะประสานงานเพื่อจัดส่งเช็คผ่านนายจ้างหรือผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ได้อยู่ในระบบนายจ้างและลูกจ้าง สามารถขอรับเช็คได้ด้วยตนเอง โดย กระทรวงแรงงานเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 26 มี.ค.-8 เม.ย. 52
"ที่ประชุมได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะจ่ายเป็นเช็ค ระบุชื่อ เมื่อนำไปใช้ ก็ให้เจ้าของเซ็นชื่อสลักด้านหลังเช็ค 2 ลายเซ็น เพื่อป้องกันการรั่วไหล นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างดีในเวทีของ กรอ. ที่ยินดีจะให้ส่วนลดเพิ่มเป็นพิเศษแก่ผู้นำเช็คไปซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ประกอบการสวนสนุกยินดีจะเพิ่มมูลค่าเช็คดังกล่าวให้ถึง 2 เท่า คือจาก 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท หากเข้าไปเที่ยวที่สวนสนุก ผู้ประกอบการด้านคอมพิวเตอร์ มีส่วนลดเพิ่มมูลค่าให้เป็น 3,000 บาท หากนำไปซื้อคอมพิวเตอร์ ส่วนห้างท็อปส์ซูเปอร์มาร์เกต ให้ส่วนลด 10% เป็นต้น เรื่องการใช้เช็คครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังเฉพาะให้ร้านค้าขนาดใหญ่แต่ร้านค้าเล็ก ๆ หรือร้านค้าโชห่วย หรือบริการอื่น ๆ สามารถใช้เช็คได้เช่นกัน" รองนายกฯ กล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังกล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยได้แจ้งความประสงค์เสนอตัวจัดทำเช็คดังกล่าวให้ เพียงแต่ต้องรอให้ สปส. เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก ซึ่งประชาชนที่ถือเช็คดังกล่าว หากไม่นำไปโอนเข้าบัญชีธนาคาร ก็สามารถ นำเช็คไปใช้จ่ายซื้อสินค้าได้โดยตรงจากร้านค้าที่ร่วมโครงการ และร้านค้าสามารถจ่ายทอนเป็นเงินสดได้
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนให้ความร่วมมือให้ส่วนลดกับประชาชน โดยเฉพาะในด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งในที่ประชุมภาคเอกชนได้ขานรับและเสนอให้ส่วนลดมากมาย ทั้งสวนสนุก ที่เพิ่มมูลค่าเป็น 4,000 บาท หรือโรงแรม ที่ จ.ภูเก็ต ที่เสนอให้ส่วนลดเป็น 4,000 บาทด้วย และเอกชนก็พร้อมที่จะรับเช็คดังกล่าวด้วย
นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานและใกล้เคียง ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.สระบุรี กำลังมีปัญหาเนื่องจากเจ้าหน้าที่สปส.สระบุรี ปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และลาออกจากงานก่อนวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา มายื่นขอรับสิทธิเงิน 2,000 บาทโดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลอนุญาตให้ผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และอยู่ในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิตรงนี้เท่านั้น ทั้งที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีกว่า 800 คน
นายชาลี ลอยสูง ประธานสมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า รัฐจะโอนเข้าบัญชีหรือจะจ่ายเป็นเช็คตนคิดว่ามันมีความสะดวก พอ ๆ กัน แต่ประเด็นสำคัญ ในการเลือกวิธีการจ่ายนั่นคือการใช้งบประมาณ ที่ต้องคำนึงถึงความประหยัดเป็นสิ่งสำคัญเพราะเงินที่จะต้องเสียไปก็เป็นเงินของประชาชนทั้งสิ้น
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะนำเงิน งบประมาณ 1.6 หมื่นล้าน จ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการและมาตรา 39 และ 40 ที่สมัครใจส่งเงินสมทบด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่สมัครใจลาออกและถูกเลิกจ้างไปแล้วถือว่าเป็นผู้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกัน ตนและจะไม่ได้สิทธิรับเงิน 2,000 บาท แต่ได้รับความคุ้มครองในกรณีตาย เจ็บป่วยทุพพลภาพ และคลอดบุตรเป็นระยะเวลา 6 เดือนและคุ้มครองกรณีว่างงานเป็นเวลา 8 เดือน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะเร่งทำความเข้าใจกับลูก จ้างทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนจำนวนมากไม่เข้าใจในหลักการที่รัฐบาลกำหนด ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายโดยเฉพาะในพื้น ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวนมาก
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มูลค่าลงทุน 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เงินลงทุนจะมีทั้งเงินที่เป็นงบประมาณ เงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในรูปแบบพีพีพี ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยมอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ เป็นประธาน นายกรณ์ กล่าวว่า กรอบการใช้งบประมาณสำหรับโครงการลงทุนระยะกลางและยาว จะใช้เงินงบประมาณ 50% ที่เหลือเป็นนอกงบประมาณที่มาจากเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันจากปัญหางบประมาณปี 53 ที่ค่อนข้างน้อย ได้สั่งการให้สำนักงบประมาณไปพิจารณา ว่าโครงการใดที่ไม่มีการเบิกจ่ายก็จะให้มีการโยกงบประมาณมาให้กับโครงการที่พร้อมมากกว่า
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรอบของแผนฟื้นฟูฯเน้นใน 5 สาขาการลงทุนคือ 1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2.โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งโลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสาธารณูปการ 3. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 4. การลงทุนด้านการศึกษา และ 5. การลงทุนพัฒนาคุณภาพระบบบริการสาธารณสุข โดยนายกฯ ได้เน้นให้มีการลงทุนในด้านพืชอาหารและพืชพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ด้วย
ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายบรรจง ตะริโย ที่ปรึกษารักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แถลงข่าวแทนนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษา การเลขาธิการกองทุนฯ ว่าเป็นการแถลงการณ์แทนเนื่องจากนายสังศิต ป่วยกะทันหันต้องเข้าโรงพยาบาลให้น้ำเกลือโดยด่วนเพราะอ่อนเพลียมาก ซึ่งเกิดความเครียดสะสมและทำงานหนักอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร รวมทั้งต้องไปขึ้นเวทีชี้แจงให้กับเกษตรกรที่มาชุมนุมในการแก้ไขหนี้สินให้เกษตรกรตลอดเวลาจนดึกและต้องไปเจรจากับธนาคาร
นายชิดชัย เกษรแก้ว รักษาการประธานกรรมการบริหารสำนักงานกองทุนและคณะผู้บริหาร แถลงถึงการดำเนินการต่อไปหลัง ครม.มีมติใช้เงิน 5,700 ล้านบาทแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรว่า จะนำไปจัดการปัญหาหนี้เสียที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปให้กับเกษตรกร 2,352 ราย ที่ขึ้นทะเบียนไว้ 1,573 ล้านบาท และอีก 4,149 ล้านบาท จะนำไปฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้มีอาชีพพึ่งพาตนเองสามารถชำระหนี้ได้ ส่วนเกษตรกรที่ผิดชำระหนี้ตั้งแต่ 6 ปีลงมา จะจัดทำงบประมาณช่วยเหลือปีต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงครั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมฟังด้วยแสดงความไม่พอใจเพราะเห็นว่า ไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการช่วยเหลืออย่างชัดเจนและจะยังไม่สลายการชุมนุม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายหนี้สินฯ ที่กระทรวงการคลังว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวมี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มาเรียกร้องให้รับหนี้เข้าไปอยู่ในกองทุนฟื้นฟู และ 2.กลุ่มที่ไม่เข้าใจการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู ครม.จึงมอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปช่วยร่างกลไกตรวจสอบข้อเสนอดังกล่าว ทั้งนี้ในการทำงานต้องให้เวลาผู้บริหารชุดนี้ของกองทุนฯ ด้วย เพราะทำงานยังไม่ถึงปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น. ได้สั่งการไปยัง ผบก.น.3 ผบก.น.4 ผบก.ตปพ. บก.จร. และ บก.อก. ส่งกำลังตำรวจปราบจลาจลหน่วยละ 2 กองร้อย 300 นาย ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัยร่วมกับตำรวจ บก.น.2 บริเวณโดยรอบกระทรวงการคลังและด้านใน รวมถึงที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากมีกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยประมาณ 5,000 คน ปักหลักชุมนุมเรียกร้อง โดยเน้นย้ำการตรวจตราการพกพาอาวุธหรือสิ่งที่อาจใช้เป็นอาวุธร้ายแรงของผู้ชุมนุม ห้ามตำรวจพกปืน หรือกระบองเด็ดขาดให้มีเพียงโล่ป้องกันตัวเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ....(มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ) ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขด้วยคะแนนเสียง 249 ต่อ 2 ไม่ลงคะแนน 5 ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 3 (ฎ) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา สามีและภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการ ซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ
ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่อธิบดีประกาศไว้ ทั้งนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้หักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมิน ประจำปีพ.ศ. 2551 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 2552 เป็นต้นไป ทั้งนี้มีกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยสงวนคำแปรญัตติใน มาตรา 3 ที่เสนอให้ปรับเพิ่มเงินค่าอุปการะเลี้ยงดู จากที่ระบุให้ 30,000 บาท เป็นตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และขอให้ดูสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลคนแก่ คนพิการ ตกเฉลี่ยคนละ 5,000 บาทต่อเดือน
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่า สาเหตุที่กำหนดวงเงินไว้แค่ 30,000 บาท เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีไม่เข้าเป้า และมาตรการนี้ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 600 ล้านบาท ถ้าหากขยายวงเงินเพิ่มเป็น 100,000 บาท จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ อย่างน้อย 3,600 ล้านบาท.