ส่งออกเดือนม.ค.ติดลบ26.5%ทุบประวัติศาสตร์17ปี

ส่งออกเดือนม.ค.ติดลบ26.5%ทุบประวัติศาสตร์17ปี

ส่งออกเดือนม.ค.ติดลบ26.5%ทุบประวัติศาสตร์17ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศก.โลกกระทบหนัก ส่งออก ม.ค.วูบติดลบ 26.5% เป็นครั้งประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี พาณิชย์ยังไม่ตกใจแค่เกิดเดือนเดียว ต้องดูต่ออีกระยะ ผู้ว่าการ ธปท.เผยยังประเมินตัวเลขทั้งปีไม่ได้แต่หากต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อการเติบโต ชี้จีดีพีมีโอกาสติดลบ "อุ๋ย"แนะอัดฉีดกระตุ้น พึ่งการบริโภคในประเทศแทน

ประวัติการณ์ส่งออกม.ค.วูบ26.5%

วิกฤตเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ เมื่อ ตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคมปีนี้ติดลบ 26.5% นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่กระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2552 มีมูลค่า 10,496 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 26.5% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับจากกรมส่งเสริมการส่งออกเก็บสถิติมาในปี 2535 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 9,119 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 37.6% ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1,377 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.38 หมื่นล้านบาท โดยการส่งออกไปตลาดใหม่มีสัดส่วน 50.5%และตลาดเก่า 49.5% เป็นเดือนแรกที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่สูงกว่าตลาดเก่า และในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์นี้ จะประชุมทูตพาณิชย์เพื่อรับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทบทวนตัวเลขคาดการณ์การส่งออกแต่ละประเทศอีกครั้ง โดยเบื้องต้นจะเร่งรัดให้การส่งออกดีขึ้นและแก้ปัญหาเป็นรายประเทศและภูมิภาค ซึ่งคงต้องทำให้ทำงานหนักขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ขยายตัว 0-3%


อ้างลบตามศก.โลก-พณ.ไม่ตกใจ

"การส่งออกติดลบตามเศรษฐกิจโลกที่ติดลบและประเทศนำเข้าชะลอการสั่งซื้อในกลุ่มสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ที่เป็นสัดส่วน 38% ลดลงถึง 30-40% การส่งออกยังมีโอกาสติดลบต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้และฟื้นตัวอีกครั้งในครึ่งปีหลัง แต่จะติดลบเท่าไหร่ยังระบุไม่ได้ เพราะปัจจัยลบภายนอกยังไม่นิ่ง การส่งออกและนำเข้าเดือนมกราคมติดลบในทุกประเทศทั่วโลก อาทิ จีน ส่งออกลดลง 17.4% นำเข้าลดลง 43.1% ญี่ปุ่นส่งออกลดลง 46.1% นำเข้าลดลง 25.5% เวียดนามส่งออกลดลง 24.2% นำเข้าลดลง 44.8%และเกาหลีใต้ ส่งออกลดลง 32.8%แต่ไม่แจ้งตัวเลขการนำเข้า" นายศิริพล กล่าว

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ตกใจกับตัวเลขที่ติดลบสูง เพราะเพิ่งเกิดเดือนเดียวคงต้องดูสถานการณ์อีก 2-3 เดือนหรือเมษายน-พฤษภาคมนี้ ก่อนจะประเมินตัวเลขส่งออกอีกครั้ง ซึ่งกรมฯมีการเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายซึ่งมีถึง 698 โครงการ แม้ตลาดใหม่ติดลบมากถึง 30% แต่ยังเป็นตลาดเป้าหมายดันส่งออก ซึ่งจะผลักดันเพิ่มสัดส่วนให้ถึง 51-52% ภายในปีนี้


ผู้ว่าธปท.ไม่มั่นใจจีดีพีชี้อาจ"ลบ"

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงการส่งออกเดือนมกราคมที่ลดลง 26.5% ว่า เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค ซึ่งหลายประเทศลดลงไปก่อนหน้าแล้ว จากกำลังซื้อที่อ่อนตัวลงทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประมาณการตัวเลขทั้งปีได้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจโลกยังไม่นิ่ง แต่ที่ชัดเจนคือ ส่งออกไทยลดลงมาก และหากยังคงลดลงต่อเนื่อง ก็จะกระทบการส่งออกทั้งปีที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ประมาณการไว้ว่า ปีนี้จะติดลบ 5.5-8.5%

"ขณะนี้ยังไม่สามารถประมาณการตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะยังไม่ทราบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเห็นผลแค่ไหน จะสามารถดูแลไม่ให้เศรษฐกิจลงลึกมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งการส่งออกที่ลดลงจะมีผลต่อการประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีด้วย ซึ่งปีนี้ประมาณการจีดีพีขยายตัว 0-2% แต่ขณะนี้ตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จะมีทั้งที่เป็นปัจจัยบวกและลบ ซึ่งมีโอกาสที่จีดีพีจะลดลงจากนี้ จึงไม่มั่นใจว่าจะได้ตามเดิมและจะทบทวนใหม่ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งกรณีต่ำสุดมีโอกาสติดลบ" นางธาริษา กล่าว


"อุ๋ย"ทำนายเลวร้ายสุด 5ปีถึงจะฟื้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกคงจะใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะฟื้นตัว หรือเลวร้ายสุดอาจจะถึง 5 ปี ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบในช่วง 3 ปีจากนี้ เนื่องจากการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในไทยหดตัว ขณะที่การส่งออกลดลงโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศจี 3 คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 42% ของการส่งออกไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะต้องเร่งนโยบายใน 2-3ประการคือ ช่วงระยะสั้นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อให้เติบโต แต่เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหดตัว และรัฐบาลต้องฉวยโอกาสนี้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติม นอกจากโครงการรถไฟฟ้าที่ได้เริ่มลงทุนแล้ว เช่น โครงการวางระบบน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมในหน้าแล้ง เพราะรัฐบาลยังสามารถสามารถก่อหนี้ได้ เพราะสัดส่วนต่อจีดีพีปัจจุบันยังต่ำเพียง 37% และยังสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก 1 ล้านล้านบาท นอกจากนั้นจะต้องมีแผนใช้ประโยชน์จากพืชเกษตรโดยเฉพาะการทำเอทานอล และไบโอดีเซล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำแต่ระยะหลังราคาน้ำมันลดลงโครงการนี้ก็หายไป


แนะกระตุ้น-พึ่งการบริโภคในปท.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจหดตัวรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นความต้องการบริโภค เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ขายสินค้าได้ แต่อย่ากระตุ้นด้านการผลิต โดยเฉพาะการลดภาษี เพราะแม้ว่าผู้ประกอบการจะมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิดการขยายการลงทุน ทำให้เม็ดเงินที่หว่านลงไปไม่หมุนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่การแจกเงิน 2,000 บาทให้กับผู้มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 1.5หมื่นบาทนั้น เป็นการกระตุ้นระยะสั้น ครั้งเดียวจบ แต่จะไม่เห็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเลย และไม่ควรจะผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว เพราะขณะนี้ บริษัทที่ทำงานเป็นจะไม่หวังพึ่งสินเชื่อ เพราะต้องการระบายสินค้าคงคลังมากกว่า แต่พวกที่ต้องการสินเชื่อคือพวกที่ธุรกิจมีบริหารไม่เป็น ซึ่งอาจก่อผลเสียระบบธนาคารพาณิชย์ได้

"เวลานี้หวังพึ่งการลงทุนเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจยากมาก เพราะเอกชนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ต่างก็ประสบปัญหาทางการเงินทั้งนั้น จะไม่มีเงินมาลงทุนในไทยไปอีกนาน ขณะที่หวังการส่งออกเหมือนเดิมก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้นรัฐต้องหวังพึ่งการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการผลิตภายในประเทศ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook