เหยื่อ..!! อุบัติเหตุ หรือ ตั้งใจ ชนหมาบนทางสาธารณะ
จากกรณีโลกออนไลน์ได้แชร์เรื่องราวสุดสะเทือนใจของคนรักสุนัข เมื่อเจ้าของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮักกี้รายหนึ่ง ได้โพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์รถกระบะแล่นมาด้วยความเร็วและทับสุนัขของตัวเองจนตายคาที่แล้วขับหนีไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมตั้งคำถามถึงคนขับรถว่าจงใจทับสุนัขของตัวเองหรือไม่
เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุมีไฟที่สว่างสามารถมองเห็นสุนัขที่นั่งกลางถนนอย่างชัดเจน และที่สำคัญจากกล้องวงจรปิดพบว่าคนขับเหมือนมีการเร่งความเร็ว และจงใจเบี่ยงรถเพื่อใช้ล้อทับสุนัขจนตาย และนี่ก็ไม่ใช่หมาตัวแรกที่ชน คนแถวนั้นรู้กันดี แต่ไม่มีหลักฐาน
ล่าสุดทางเจ้าของสุนัขได้เดินทางไปแจ้งความเป็นที่เรียบร้อยแล้วและทางตำรวจ สภ.แก่งคอย เปิดเผยว่าชายคนดังกล่าวได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่แล้วแต่ยังไม่ได้พูดคุยเจรจากับกับผู้เสียหาย
ซึ่งสาเหตุที่คนขับไม่ยอมเจรจาเนื่องจากว่าต้องการให้ผู้เสียหายไปร้องศาล
“ถ้าขับมาด้วยความเร็ว 70-80 ถามว่าเบรกทันไหม คุณสู้เพื่อหมาแต่ผมสู้เพื่อคน อุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดขึ้นอันมีสาเหตุมาจากหมาทำให้คนขับพิการ เสียชีวิต มีเจ้าของหมาคนไหนบ้างมายอมรับว่าเป็นเจ้าของหมาและจะช่วยเยียวยาค่ารักษาพยาบาล ผมไม่เคยเห็น มีแต่ใจบุญเอาเข้ามาให้หมา พอเกิดเรื่องมีคนมาตีหมาก็โมโหว่าทำหมาฉันทำไม แต่พอหมาไปกัดคนอื่นมีคนมาตามหาก็ไม่ทำเป็นไม่รู้เรื่อง”
นั่นคือทัศนะคติของคนขับรถที่พยามชี้ให้เห็นว่าเจ้าของสุนัขต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับการเลี้ยงสุนัข
ทีนี้ลองมาดูข้อกฎหมายกันบ้างว่าการขับรถทับหมาจนตายบนถนนสาธารณะนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 การขับรถเหยียบหมาแมวให้ตายทอดร่างอยู่กลางถนนถือเป็นอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ไม่มีความผิดเหตุถนนเป็นทางสาธารณะไม่ใช่ที่ของสัตว์และคนขับยังสามารถเรียกร้องเอาผิดจากเจ้าของสัตว์หากทรัพย์สินคือรถได้รับความเสียหาย นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนขับมีความมั่นใจว่าการขับรถทับหมาบนถนนสาธารณะนั้นไม่เป็นความผิด
แต่หากพิสูจน์ได้ว่าคนขับรถเหยียบหมาให้ตายทั้งๆที่มองเห็น และหมาก็นั่งนิ่ง มิได้เพ่นพ่านวิ่งตัดหน้ารถแต่อย่างใด และคนขับไม่ใช้ความระมัดระวังอันควรเป็นปกติของผู้ขับขี่ที่จะไม่ทำร้ายทำลายชีวิตสัตว์ แต่กลับตั้งล้อเร่งเครื่อง ตรงรี่เข้าไปเหยียบโดยตรงเป็นเจตนาทารุณกรรม ! ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์
นอกจากนี้เจ้าของสุนัขยังสามารถแจ้งความคนขับได้ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกันต่อไป
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะรู้ข้อกฎหมายดี แต่ก็ไม่ควรนำไปใช้ในทางที่ผิด และที่สำคัญทัศนะคติเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่สามารถนำเสนอหรือแก้ไขในทางที่ดีขึ้นได้ แต่ก็ไม่ควรนำสุนัขซึ่งคือสัตว์ที่มีชีวิตมาเป็นข้อต่อรองใดๆ เพราะถึงแม้ว่าจะได้ชัยนะและความถูกต้อง แต่ก็ไม่สามารถนำกลับไปทดแทนอีกหนึ่งชีวิตที่เสียไปได้