ผิดหรือไม่? “ป้ายกองโจร” นั่งถือยืนถือโฆษณาริมฟุตบาท
เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าขณะที่ขับรถออกไปต่างจังหวัดหรือไปตามถนนหนทางเพื่อที่จะไปทำธุระตามสถานที่ต่างๆ สิ่งที่จะต้องพบเจออยู่ตลอดข้างสองทางนั่นคือป้ายโฆษณาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ ป้ายโครงการหมู่บ้าน ป้ายคอนโด หรือ แม้กระทั่งป้ายงานมหรสพสมโภชต่างๆ
ซึ่งป้ายเหล่านี้อาจสร้างความรำคาญให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไม่ว่าจะเป็นบดบังทัศนวิสัยหรือทำให้ทัศนียภาพสองข้างทางต้องมัวหมอง และที่สำคัญช่างดูไม่เป็นระเบียบเอาเสียเลย
ป้ายโฆษณาเหล่านี้จะรู้จักกันในวงการว่า “ป้ายกองโจร” โดยส่วนประกอบหลักคือ โครงไม้ และผ้าไวนิล นิยมนำไปติดตั้งตามสถานที่ที่ทุกคนพลุกพล่านและผู้ที่สัญจรไปมา เช่น ตามข้างถนนต่างๆ หรือ ข้างทาง รวมไปถึงตามตรอกซอกซอยต่างๆ ซึ่งสื่อประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากเพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงและที่สำคัญราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสื่อโฆษณาอื่นๆ
เห็นถึงสรรพคุณอันมากมายแต่ก็ใช่ว่าป้ายกองโจรจะสามารถนำไปติดตั้งที่ไหนก็ได้ เพราะต้องขออนุญาตจากเทศบาลเสียก่อน โดยจะต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องถึงจะสามารถติดตั้งได้ และที่สำคัญหากนำไปติดตั้งข้างถนนหลวงส่วนมากจะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535
แต่ทำไมเรายังเห็นป้ายกองโจรอยู่ริมถนนมากมาย หรือ แม้กระทั่งป้ายที่ติดตั้งในเขตเทศบาลนั้นเสียภาษีหรือขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่
ป้ายกองโจรที่ขออนุญาตติดตั้งในเขตเทศบาลนั้นสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ จะมีตราประทับที่หน่วยราชการออกให้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แต่ถ้าป้ายไหนไม่มีตราประทับส่วนใหญ่จะลักลอบติดโดยผิดกฎหมาย ซึ่งป้ายประเภทนี้เราจะพบเห็นเป็นจำนวนมาก นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ป้ายกองโจร” เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะหลบเลี่ยงการขออนุญาตในการติดตั้ง
นอกจากจะยุ่งยากแล้วยังอาจจะเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย จึงนิยมสั่งทำป้ายกองโจรแล้วให้ผู้รับเหมานำไปติดยังสถานที่ต่างๆ หากถูกเจ้าหน้าที่รัฐเก็บไปก็ค่อยมาติดตั้งกันใหม่เพราะมีราคาถูก ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายไว
และที่สำคัญบางเจ้ายังมีทริกป้องกันคนทั่วไปลักลอบนำป้ายไปใช้อีกด้วย โดยป้ายที่ไม่ขออนุญาตส่วนใหญ่จะทำการเจาะรูปปากฉลามไว้ที่ตัวป้ายเพื่อป้องกันไม่ให้คนทั่วไปนำป้ายไปใช้บังแดดกันฝนนั่นเอง
อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ชาวกรุงเทพฯอาจจะพบเจออยู่บ่อยๆ นั่นคือป้ายกองโจรแบบที่มีคนยืนถืออยู่ริมฟุตบาต โดยคนถือป้ายโฆษณาเหล่านี้ได้รับค่าแรงไม่น้อยเลยทีเดียว เหตุฉไหนผู้ประกอบการถึงลงทุนมากมายขนาดนั้น
หรือ ว่าเป็นทริกเลี่ยงการขออนุญาตติดตั้งป้ายในเขตกรุงเทพมหานครกันแน่ และที่สำคัญถูกกฎหมายหรือไม่..?
ทาง Sanook! News จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์คุณ รัตติ ณ ถลาง นิติกรกองนโยบายและแผนงานเทศกิจกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปิดเผยว่าที่จริงแล้วตามถนนสาธารณะหรือฟุตบาทในเขตกรุงเทพมหานครนั้นไม่อนุญาตให้ติดตั้ง ตาก วาง ตามพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ซึ่งสาเหตุที่จ้างคนไปยืนถือป้ายโฆษณานั้น เป็นการเลี่ยงเพื่อไม่ให้ผิดระเรียบนั่นเอง แต่ถ้าคนถือเอาป้ายวางบนทาเท้าแตะพื้นนิดเดียวก็ถือว่าผิดตาม พรบ.รักษาความสะอาด แล้ว ซึ่งในด้านเทนนิคเมื่อทางเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ
พวกเขาเหล่านั้นก็จะถือป้ายเดินเข้าไปในพื้นที่เอกชน ทางเทศกิจก็ไม่สามารถกวดขันจับกุมได้เพราะไม่ผิด พรบ.รักษาความสะอาด แต่พอเจ้าหน้าที่กลับไปก็พากันเดินออกมาเช่นเดิม
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเจ้าของกิจการไม่ขออนุญาตเทศกิจให้เป็นเรื่องเป็นราวนั้น เป็นเพราะว่าสมัยก่อนเทศกิจเคยอนุญาตให้ติดตั้งแล้ว ซึ่งบางเจ้าได้ขออนุญาตเป็นระยะที่ยาวนาน ทำให้เจ้าอื่นๆก็ขอบ้าง จนทำให้ป้ายโฆษณาล้นพื้นที่ กทม. ดูไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย บดบังทัศนวิสัย
ทางเทศกิจจึงยกเลิกห้ามติดตั้งป้ายโฆษณาตามสถานที่สาธารณะทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ส่วนที่ยังพบเห็นป้ายอยู่ริมฟุตบาทในพื้นที่ กทม.นั้น ส่วนมากจะลักลอบติดกันเอง ซึ่งทางเทศกิจได้ทำการขวดขันอย่างจริงจังเสมอมา แต่เนื่องด้วยปริมาณป้ายที่มีมากกว่าพนักงานเทศกิจ จึงพบการลักลอบติดป้ายโฆษณาอยู่เนืองๆ
ทั้งนี้เมื่อทางเทศกิจทำการเก็บป้ายมาแล้วส่วนมากเจ้าของมักไม่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของ ถึงแม้ว่าจะเห็นชื่อในป้ายก็ตามส่วนใหญ่ก็มักจะปฏิเสธซึ่งทางเราก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดได้เพราะเป็นเรื่องการต่อสู้ในเรื่องข้อเท็จจริง
ถ้าไม่เห็นว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริงๆ ก็ยากที่จะตามเอาผิด ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเจ้าของจะไม่ลงพื้นที่จริงๆ จะเป็นลักษณะการจ้างคนที่ทำป้ายเป็นคนติดตั้งมากกว่า
(ติดตั้งป้ายหาเสียงเลือกตั้งไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องรีบนำออกเมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง)
ถ้าหากจับคนติดตั้งได้ก็ต้องไปเสียค่าปรับที่หน่วยซึ่งเป็นลหุโทษ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาแบบไม่ถูกต้องมีเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ในต่างจังหวัดป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในเขตเมืองนั้นสามารถทำได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของเทศบาลในพื้นที่นั้นๆว่า จะอนุญาตหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเขตกรุงเทพฯจะไม่อนุญาตทั้งหมด ยกเว้นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง และป้ายมหรสพต่างๆ
และในอนาคตจะมีการร่างนโยบายแบ่งค่าปรับหากมีประชาชนพบเห็นการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาอย่างผิดกฎหมายและมีหลักฐานชัดเจนสามารถแจ้งเทศกิจได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม.
ทั้งนี้กรุงเทพฯถือว่าเป็นบ้านของทุกคนหากช่วยกันสอดส่องดูแลรักษาความสะอาดเมืองหลวงแห่งนี้ก็จะน่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน คุณ รัตติ ณ ถลาง กล่าวทิ้งท้าย
ป้ายกองโจรถึงแม้ว่าจะเป็นการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน แต่ในมุมกลับกันก็สร้างความรำคาญหรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่ไม่น้อย
หากมองแต่ประโยชน์ส่วนตัวไม่มองถึงประโยชน์ส่วนรวม ป้ายที่นำไปโฆษณาอาจจะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับเจ้าของแบรนด์มากกว่าการโฆษณาให้เป็นที่จดจำก็เป็นได้..