หมายจับว่อน เสื้อเหลือง-เสื้อแดง พธม.เจออีก 21คน

หมายจับว่อน เสื้อเหลือง-เสื้อแดง พธม.เจออีก 21คน

หมายจับว่อน เสื้อเหลือง-เสื้อแดง พธม.เจออีก 21คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คดีบุกทำเนียบฯ สัปดาห์หน้า ยื้อยึดสนามบินไปสรุปหลังอาเซียนซัมมิท แย้มอาจผิดแค่ กม.เดินอากาศ ผบช.ภ.5 เผยเสื้อแดงเจอหมายจับแล้วอื้อ รมต.สำนักนายกฯแถลงสลายชุมนุม 7 ต.ค. นักการเมืองพ้นบ่วงสั่งการใช้แก๊สน้ำตา "น้องโบว์-สารวัตรจ๊าบ"สรุปไม่ลง ออกตัวให้กระบวนการยุติธรรมตัดสิน "จตุพร"ตอกหน้า ปชป."5 วันวิตกจริต"มากกว่า

 "สุเทพ"ประชุมสรุปคดีสีเหลือง-แดง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานประชุมสรุปการดำเนินคดีกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. พร้อม ผบช.ภาค 1-9 และผู้แทนจาก บช.น. เข้าร่วม

นายสุเทพ กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มบุคคลที่มีความคิดแตกต่างกันในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ย่อมเกิดสภาวะที่ผู้นำชุมนุมไม่อาจควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ตร.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโดยตรงรวบรวมสถิติการรับแจ้งเหตุตั้งแต่เกิดการชุมนุมจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ รวมคดีอาญาที่รับแจ้งจากการชุมนุมทางการเมืองของ 2 ฝ่าย 145 คดี สอบสวนเสร็จแล้ว 46 คดี คงเหลืออีก 99 คดี เป็นคดีที่พันธมิตรร้องทุกข์กล่าวโทษ 43 คดี รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว 15 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีที่พันธมิตรถูกร้องทุกข์กล่าวโทษอีก 102 คดี รวบรวมหลักฐานเสร็จแล้ว 31 คดี ซึ่งคดีทั้งหมด 145 คดี เกิดขึ้นในพื้นที่ 18 จังหวัด 7 กองบัญชาการ

เล็งขอหมายจับ 21คนสัปดาห์หน้า

พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น. กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่นครบาลทั้งสิ้น 57 คดี เป็นคดีที่พันธมิตรถูกร้องทุกข์กล่าวโทษซึ่งสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 22 คดี ยังสอบสวนไม่เสร็จอีก 21 คดี นอกจากนั้นเป็นคดีที่กลุ่มพันธมิตรผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษสอบเสร็จ 5 คดี ยังไม่เสร็จ 5 คดี

ผู้สื่อข่าวถามถึงคดีกลุ่มพันธมิตรปิดล้อมสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ พล.ต.ต.เอกรัตน์ กล่าวว่า ได้สอบสวนพยานกรณีสนามบินดอนเมืองใกล้แล้วเสร็จ จำนวน 247 ปาก สำหรับคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาลสอบสวนพยานไปทั้งสิ้น 546 ปาก แบ่งเป็น 2 คดี คือที่ สน.นางเลิ้งเป็นคดีกบฎ มีผู้ต้องหา 5 คน ส่งสำนวนให้อัยการเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน คดีที่ 2 เป็นคดีร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการอยู่ระหว่างการสอบสวน สาเหตุที่ยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้เนื่องจากต้องสอบปากคำพยานและรวบรวมหลักฐานอื่นอีกจำนวนมาก คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนน่าขออนุมัติออกหมายจับผู้กระทำความผิดคดีที่สอง รวม 21 รายได้ ซึ่งมีทั้งแกนนำและผู้ชุมนุม

ยึดสนามบินผิดแค่กม.เดินอากาศ

พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ.1 กล่าวว่า กล่าวถึงการดำเนินคดีกลุ่มพันธมิตรบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ พนักงานสอบสวนได้ติดตามเร่งรัดคดีทุกวันศุกร์ ขณะนี้ได้สอบพยานบุคคลไปแล้ว 150 ปาก คืบหน้าไปแล้ว 70-80 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงพยานปากสำคัญคืออธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หลังจากนั้นจะได้สรุปประเด็นข้อกล่าวหารวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายจับ คาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นหลังการประชุมอาเซียนซัมมิท สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้จะถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประเภทต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 ส่วนข้อหาก่อการร้ายยังไม่สามารถให้ความเห็นได้เพราะต้องรอสอบปากคำอธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยการดำเนินการในคดีที่รับผิดชอบขอยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

จากนั้น พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิตติวัฒน์ ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผบช.ภ.3 พล.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ ผบช.ภ.4 กล่าวแยกแยะคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดย พล.ต.ท.อัศวินกล่าวว่า มีคดีเกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งสิ้น 9 คดี เป็นคดีกลุ่มพันธมิตรผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งหมด 9 คดี สอบเสร็จแล้ว 7 คดี เป็นคดีทำร้ายร่างกายใน จ.อุดรธานี สอบสวนเสร็จแล้ว และส่งสำนวนเสนออัยการอยู่ในช่วงที่อัยการพิจารณาและสั่งเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ขณะที่ พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ผบช.ภ.5 กล่าวว่า มีเรื่องที่พันธมิตรฯเป็นผู้กล่าวหาจำนวน 12 เรื่อง ส่วนใหญ่คดีพกพาระเบิด และถูกวางเพลิงยานพาหนะ มีทั้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องและยุติการสอบสวน เนื่องจากหลักฐานพบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์

เสื้อแดงเจอหมายจับแล้วหลายคดี

พล.ต.ท.สถาพร กล่าวว่า คดีสำคัญเป็นคดีที่กลุ่มเสื้อแดงที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน กรณีเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกทำร้ายที่สนามบินเชียงใหม่วันเดียวกับที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลับจากต่างประเทศ ซึ่งศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ร่วมกระทำความผิด 6 คนแล้ว ตามหลักฐานภาพถ่าย โดยสามารถจับได้แล้ว 2 คน กำลังติดตามอีก 4 คน และคดีที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันที่เวลาประมาณ 19.00 น. ที่นายเศรษฐา เจนกิจวัฒนา ถูกทำร้ายร่างกายเสียชีวิต ตำรวจได้นำภาพถ่ายมาตรวจสอบแล้วพบมีผู้ต้องหา 8 คน สามารถจับได้ 2 คน อายัดตัวอีก 1 คน ที่ สภ.ภูพิงค์ ส่วนที่เหลืออีก 5 คน อยู่ระหว่างติดตามจับกุม สำหรับคดีอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกกลุ่มเสื้อแดงตบหน้า ตำรวจได้นำภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยมาตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นชาว จ.ลำพูน โดยมีรองผู้ว่าฯเชียงใหม่เป็นพยาน อยู่ระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดี

ส่วน พล.ต.ท.ธานี ทวิชศรี ผบช.ภ.9 กล่าวว่า มีคดีที่เกิดขึ้นเพียงคดีเดียวที่กลุ่มพันธมิตรถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ คือคดีขึ้นรถไฟแล้วไม่จ่ายเงิน มีความผิดตาม พ.ร.บ.การจัดการรถไฟ

นายสุเทพ กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซงการทำงานของตำรวจโดยเด็ดขาด เพราะเคารพในวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพ ในความเป็นผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย ถ้าสื่อมวลชนสงสัยไม่ว่าคดีใดที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงสามารถตั้งคำถามได้ และจะเชิญผู้ที่ถูกสงสัยมาชี้แจงด้วยตนเอง

07 ต.ค.นักการเมืองพ้นบ่วงแก๊สน้ำตา

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันแถลงนโยบายรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อรัฐสภา เริ่มต้นจากการเล่าอุปสรรคการทำงานของคณะกรรมการชุดที่มีนายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธานการสอบสวน รวมถึงการชี้แนะ หากบุคคลทั่วไปต้องการผลการสอบสวนฉบับเต็มให้ไปติดต่อขอรับได้ที่สำนักงานข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (สขร.)

นายสาทิตย์ กล่าวว่า จำนวนผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าวมี 343 คน สูญเสียอวัยวะทั้งฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่ 13 คน เสียชีวิต 2 คน โดยได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งมีการทำผลการวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของบางคนที่ยังมีข้อโต้แย้ง เช่น น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ซึ่งผลสอบเสนอให้มีการตรวจสอบต่อไป เนื่องจากข้อมูล 2 ฝ่ายยังขัดแย้งกัน เช่นเดียวกันกับการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในรถเชอโรกี ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นแบ่งเป็น 2 ด้าน โดยฝ่ายแรกบอกเป็นซีโฟร์ อีกฝ่ายบอกว่า อาจเป็นสารที่มาจากแก๊สน้ำตาก็ได้ จึงยังไม่ได้ข้อสรุป

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลสอบระบุชัดเจนหรือไม่ ว่าใครเป็นผู้สั่งการให้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม นายสาทิตย์กล่าวว่า "มีการอ้างถึงรายละเอียดผลสอบชุดหนึ่งระบุว่า เป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการอยู่ในขณะนั้น พยานที่เป็นตำรวจบางคนยืนยันว่าไม่มีการสั่งการจากฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมต้องสอบสวนต่อไป" นายสาทิตย์ กล่าว

ผบช.น.พร้อมรับผิดชอบตามผลสอบ

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว กล่าวกรณีผลสอบสลายการชุมนุม ที่ระบุฝ่ายการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับการใช้แก๊สน้ำตา เป็นเรื่องการตัดสินใจของฝ่ายปฏิบัติหรือตำรวจเองว่า คงต้องรอรับทราบผลสอบ ไม่มีปัญหาอะไร ผลการสอบสวนออกมาอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น "โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผมเป็นผู้นำหน่วยแล้วบอกว่าผมไม่ได้สั่งนะ ผมควบคุมอยู่ตรงนี้แล้วเด็กไปทำเอง เด็กไปติดคุก ไปถูกสอบเอง แล้วผมจะเดินอยู่บนถนนในโลกนี้ในประเทศไทยได้อย่างไร แต่ถามว่าใครถูกใครผิดผมไม่รู้ว่ามันผิดถูกหรือไม่อย่างไร เพราะสอบสวนกันตั้งหลายฝ่าย ข้อหาที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะฉะนั้นเราบอกว่าเราทำตามหน้าที่คงไม่ใช่ คงไปดูว่าเขามีการสอบสวนในรายละเอียด เราเป็นข้าราชการ ต้องบอกว่าเราต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา มีทั้งเหนือผมโดยชอบด้วยกฎหมายคือผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป ส่วนการเมืองก็คือตั้งแต่รองนายกฯที่รับมอบหมายถึงนายกฯ และการสั่งการของผู้บังคับบัญชาต้องชอบด้วยกฎหมายเหมือนกัน ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบในส่วนนั้น" พล.ต.ท.สุชาติ กล่าว

สมชายให้การไม่รับลูกใช้แก๊สน้ำตา

สำหรับรายงานการสอบสวนเหตุการณ์สลายม็อบ มีการสรุปการให้ปากคำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ปากคำว่า หลังจากที่ ครม.มีมติมอบให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย จากนั้นก็มีการเลิกประชุม ครม.ในเวลา 00.45 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม และได้เดินทางกลับบ้านทันที โดยไม่ได้ติดต่อกับ พล.อ.ชวลิตอีกเลย จึงไม่ทราบว่า พล.อ.ชวลิตไปสั่งการหรือมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการต่อ จากนั้นวันที่ 7 ตุลาคม จึงเดินทางไปแถลงนโยบายที่รัฐสภาจนเสร็จสิ้น จากนั้นตำรวจได้แจ้งว่าหากอยู่ข้างในสภาจะไม่ปลอดภัย เพราะผู้ชุมนุมปิดทางเข้า-ออกทุกด้านและมีอาวุธ ซึ่งตำรวจบอกว่าประตูทุกด้านถูกปิดไว้หมด ถ้าจะออกไปต้องใช้แก๊สน้ำตา จึงบอกตำรวจว่าไม่ขอทำถ้าใช้แก๊สน้ำตาเพื่อให้ออกไป จากนั้นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงได้ประสานกับผู้บริหารพระที่นั่งวิมานเมฆเพื่อขอให้บันไดพาดกำแพงเข้าไปยังพระที่นั่งฯ แต่เมื่อข้ามไปแล้วก็ไม่สามารถออกได้เพราะมีผู้ชุมนุมปิดทางล้อมไว้เช่นกัน ซึ่งผู้บริหารพระที่นั่งฯได้บอกว่าให้รีบออกไป อยู่นานไม่ได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมรู้แล้วว่าหลบมาอยู่ที่นี่

บ่นอัปยศนายกฯหนีหัวซุกหัวซุน

"อันนี้ผมขอเรียกว่าเป็นความอัปยศหรืออย่างไร ที่นายกฯต้องหนีหัวซุกหัวซุน แต่ผมก็มีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จากนั้นก็ได้มีการนำเฮลิคอปเตอร์มารับผมออกไป และทราบภายหลังว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีการสั่งการให้ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น บริเวณรัฐสภามีผู้ชุมนุมเป็นหมื่นคน แต่ตำรวจมีแค่ 1,800 คน หากปะทะกันตำรวจคงสู้ไม่ได้ ผมสั่งการผู้เกี่ยวข้องให้ควบคุมฝูงชนให้อยู่ในระเบียบเพื่อให้ ส.ส.เข้า-ออกสภาได้เท่านั้น และการมอบอำนาจให้ พล.อ.ชวลิตรับผิดชอบเหตุการณ์ก็ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ" นายสมชายให้การต่อคณะกรรมการ

"จิ๋ว"โบ้ย"ชัย"ยืนยันใช้สภาประชุม

ขณะที่ พล.อ.ชวลิตได้ให้การว่า หลังจากที่ ครม.มอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์แล้ว ได้นำนโยบายของ ครม.ไปแจ้งให้ที่ประชุม บช.น.ทราบว่า 1.ให้ตนเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ 2.ได้มอบแนวทางปฏิบัติ 2 ข้อ คือให้รักษารัฐสภาให้ได้ และให้หาทางเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าประชุมสภา พร้อมให้แนวทางเพิ่มเติมว่าหากเข้าไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ให้ฝ่ายการเมืองหาทางแก้ปัญหากันเอง ส่วนการประชุม ครม.เมื่อกลางดึกของวันที่ 6 ตุลาคม ได้ร่วมกับนายสมชายเสนอให้เปลี่ยนสถานที่แถลงนโยบาย แต่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา มีความเห็นว่าให้ประชุมที่รัฐสภา เพราะไม่ต้องการเร่ร่อนเหมือนรัฐบาล ที่ประชุมจึงลงมติให้ประชุมที่รัฐสภาตามเดิม

"สุชาติ"บอกผู้ชุมนุมก็ใช่ย่อย

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ให้ปากคำยืนยันว่า ไม่ได้สั่งการให้กำลังตำรวจใช้อาวุธแต่อย่างใด และ บช.น.ได้ปฏิบัติตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการผลักดันตามแผนปฏิบัติ และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในขั้นตอนสุดท้ายมีการใช้แก๊สน้ำตา เพื่อเปิดทางเข้า-ออกอาคารรัฐสภา ส่วนแก๊สน้ำตาจะเป็นชนิดใด มีลักษณะอย่างไร เบิกมาจากที่ใด ไม่ทราบรายละเอียด จึงไม่สามารถตอบคำถามคณะกรรมการได้ และในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาก็ไม่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ห้องควบคุมการปฏิบัติของ บช.น.เพื่อรับรายงานและสั่งการต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้อาวุธ เช่น ปืน เหล็กคันธงปลายแหลม มีดดาบ ท่อนเหล็ก ต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขับรถยนต์พุ่งชนตำรวจจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ตร.-ทหารถกรับมือม็อบแดง 24ก.พ.

ในช่วงบ่าย พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.ภ.4 และ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.คนใหม่ เป็นประธานการประชุมประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดย พล.ต.ท.สุชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายทหารนำโดยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และกรุงเทพมหานคร เพื่อรับมือสถานการณ์การชุมนุมของ นปช. ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการประชุมเพื่อดูแลควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ให้สงบเรียบร้อย โดยตามแยกต่างๆ จากสนามหลวงมาถนนราชดำเนินนอกบริเวณทำเนียบรัฐบาล จะไม่มีการใช้กำลังสกัดกั้น ที่ทำเนียบรัฐบาลจะรักษาดำรงเส้นทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลไว้เพื่อให้เข้าทำงานได้ โดยจะมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่รวม 25 กองร้อย หรือกว่า 3,750 นาย ในการปฏิบัติ สำหรับมาตรการคงวางสิ่งกีดขวางสกัดกั้นไว้รอบทำเนียบทั้งหมด และในทำเนียบถือเป็นพื้นที่เด็ดขาด คือเข้าไม่ได้ การเคลื่อนทำได้ แต่ต้องไม่ทำ 3 อย่าง คือ 1.ไม่ทำลายทรัพย์สินราชการ 2.บุกรุกสถานที่ราชการไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบ กระทรวง หรือแม้แต่ บช.น.เองก็ไม่ได้ และ 3.ห้ามทำผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ในวันชุมนุมอาจมีการประกาศให้เส้นทางบางเส้นเป็นเส้นทางห้ามใช้รถใช้ถนนบางประเภท ถ้ายังฝ่าฝืนถือเป็นการผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย ส่วนสถานที่ควบคุมนั้น ถ้ามีคนจำนวนมากก็จะใช้ที่ ตชด.ภาค 1 ควบคุม

"ถ้าบุกรุกเข้าทำเนียบจะมีการจับกุม ซึ่งจะมีชุดจับกุม และชุดควบคุมผู้ต้องหา ขึ้นรถไปยังที่ควบคุม โดยมีพนักงานสอบสวนรออยู่แล้ว สำหรับ ผบ.เหตุการณ์ขณะนี้ผมจะส่งมอบให้พล.ต.ท.วรพงษ์ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตอนนี้ยังเป็นผมอยู่" พล.ต.ท.สุชาติ กล่าว

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า ได้พูดกับนายสุเทพแล้วว่าควรจะให้ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ ออกมาแถลงข่าววิธีการดูแลผู้ชุมนุมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และหากมีความจำเป็นก็จะขอให้สถานีเอ็นบีทีชี้แจงด้วย

"มาร์ค"ห่วง-ไม่อยากเห็นความรุนแรง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนออกเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ กรณีวอร์รูม พรรคประชาธิปัตย์เป็นห่วงการชุมนุมช่วง 5 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ถึง 28 กุมภาพันธ์ ว่า ขอให้การชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย เวลาชุมนุมก็มีความเสี่ยง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะทำให้เกิดความเรียบร้อย เวลามีคนมามากๆ ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ ให้เกิดความสมดุลไม่เกิดความตึงเครียด ที่สำคัญคือ ต้องไม่ให้รุนแรง ยอมรับว่าเป็นเรื่องหนักสำหรับตำรวจและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อถามว่า กลัวกลับมาไม่มีทำเนียบทำงานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ใช่หรอกสิ่งที่ห่วงที่สุดคือ ไม่อยากเห็นความรุนแรง เพราะภาพลักษณ์ประเทศจะเสียหาย สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาตลอด 2 เดือน ก็เพื่อทำให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะย้ำให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง อย่าให้ประเทศเดินถอยหลังไปเหมือนสถานการณ์ปีที่แล้ว เมื่อถามว่า จะมีการเจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องคุยกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

"ถ้าการชุมนุมมีความรุนแรงหรือมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมก็จะกระทบกับภาพลักษณ์ประเทศไทย และประชาชนก็จะเริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น อยากให้ทุกฝ่ายให้โอกาสบ้านเมืองไปข้างหน้า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เสื้อแดงย้อน 5วัน"วิตกจริตปชป."

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง กล่าวว่า วอร์รูมของพรรคประชาธิปัตย์ล้วนแต่เป็นพวกที่เคยสมคบคิดกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังนั้น จึงมีการประเมินการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงแบบเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรเคยกระทำ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วกลุ่มคนเสื้อแดงได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่ารังเกียจการกระทำของกลุ่มพันธมิตร ดังนั้น สิ่งที่คนเสื้อเหลืองเคยทำกลุ่มคนเสื้อแดงจะไม่กระทำโดยเด็ดขาด ดังนั้น 5 วันอันตรายที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกนั้นคงเป็น 5 วันวิตกจริตของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แม้จะไม่ย้ายสถานที่ประชุม ครม.ไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังสามารถประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลได้ เพราะคนเสื้อแดงจะไม่บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเหมือนที่กลุ่มพันธมิตรเคยทำ เพราะการเคลื่อนขบวนคนเสื้อแดงไปทำเนียบรัฐบาลเป็นเพราะต้องการทวงถามข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่ได้เคยได้ยืนเอาไว้เท่านั้น ในปัจจุบันไม่ว่าจะชุมนุมที่ไหนก็สามารถสื่อสารข้อเรียกร้องไปได้ทั่วโลกอยู่แล้วถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงต้องการทำแบบเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรเคยทำไว้ รับรองได้เลยว่าตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ไปนายอภิสิทธิ์จะไม่ได้เข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาลอีก ความวิตกจริตของรัฐบาลจะทำให้ประเมินสถานการณ์ผิด

ไม่คิดเคลื่อนตามประชุมอาเซียน

"เบื้องต้นเราได้กำหนดไว้ว่า 09.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะรวมพลคนเสื้อแดงที่ท้องสนามหลวง จากนั้นเวลา 10.00 น. จะเริ่มเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล จะมีเพียงการจัดชุดเฉพาะกิจไปที่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น และเบื้องต้นยังเป็นอย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเดินทางไปชุมนุมบริเวณสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพราะเราได้ประกาศเอาไว้แล้วว่าจะไม่ขัดขวางการประชุม อีกทั้งปกติการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็ไปทั่วโลกอยู่แล้ว เราจึงไม่มีความคิดใดๆ ในขณะนี้" นายจตุพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการแทรกซึมของคนเสื้อแดงไปป่วนการประชุม ครม. และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า ขณะนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังไม่ได้คิดอะไร แต่หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังตรวจสอบความเคลื่อนไหวของโครงการหนึ่งที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งบลับเพื่อสลายคนเสื้อแดง โดยอ้างว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบกได้เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วย ที่ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี โดยมีการมอบนโยบายที่เรียกว่า "นโยบาย 3 เกาะติด" โดยแบ่งความรับผิดชอบให้ทหารดำเนินการเกาะติดความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคล 3 ระดับ คือ ระดับบน จะเป็นเรื่องนโยบายในแต่ละกระทรวงและตัวรัฐมนตรี ระดับกลาง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ส.ส. ระดับล่าง จะเป็นประชาชน ชาวบ้านทั่วไปรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น

นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนรักอุดรฯ กล่าวว่า กลุ่มคนรักอุดรฯจะเดินทางไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะมีคนร่วมเดินทางไป 2,500 คน ที่ต้องไปครั้งนี้เพราะมีการระบุว่าเสื้อแดงแตกแยกกัน จึงต้องการยืนยันว่าไม่ได้แตกแยก เป็นเพียงความไม่เข้าใจกันเท่านั้น

เสื้อแดงติดใจผบ.ทบ.-พธม.เมิน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแกนนำเสื้อแดงกล่าวว่า สิ่งที่ได้พูดไปว่าจะหาผลสอบมาเปิดเผยนั้น เป็นเพราะรัฐบาลมีความลับ ด้วยการพยายามไม่เปิดเผยรายงานให้ประชาชนรับทราบ เพราะหากไปดูผลสอบสวน จะพบว่าฝ่ายการเมืองให้ความร่วมมือตลอด อย่างนายสมชาย หรือ พล.อ.ชวลิต แต่ฝ่ายที่ไม่ให้ความร่วมมือเลยคือฝ่ายราชการ โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่มอบหมายให้โฆษก ทบ.ไปให้ข้อมูลแทน คณะกรรมการชุดนี้ได้ข้อมูลจากประชาชนผู้ร่วมชุมนุม และผู้ร่วมรับผิดชอบครบถ้วน หากจะขาดน้ำหนักบางส่วนก็เป็นเจ้าหน้าที่ และแกนนำพันธมิตรที่ไม่ให้ความสำคัญเข้าให้ข้อมูลเลย โดยเฉพาะ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ที่มีชื่อถูกเรียกเข้าให้ข้อมูลแต่ไม่เคยเข้าชี้แจง จึงคิดได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มีจุดนัดพบไปให้ข้อมูลที่ใดที่หนึ่ง ที่ไม่ใช่กรรมการชุดนี้หรือไม่

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ที่ตำรวจบอกว่าจะขอออกหมายจับ 21 คนนั้น ต้องถามว่ามีคนในรัฐบาลโดยเฉพาะคนอย่างนายกษิตย์ ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรวมอยู่ด้วยหรือไม่ และหากไม่มีจะอธิบายอย่างไร ทั้งนี้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางกลุ่มจะนัดหารือกันอีกครั้งถึง 2 เรื่องคือ 1.ครม.จะย้ายที่ประชุมไปจัดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2.ถึงท่าทีและความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงด้วย

จับเสื้อแดงเชียงใหม่ฆ่าเหลือง

พ.ต.ท.กิจวัฒน์สินธุ์ อมตธนทรัพย์ สว.สส.สภ.เมืองเชียงใหม่ นำกำลังพร้อมหมายจับศาล จ.เชียงใหม่ เลขที่ 95/2552 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ จับกุมนายประยุทธ บุญวิจิตร อายุ 51 ปี หนึ่งในผู้ต้องหา 9 คน คดีร่วมกันทำร้ายร่างกายนายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา อายุ 60 ปี บิดานายเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา แกนนำกลุ่มทหารเสือพระราชาเชียงใหม่ หรือกลุ่มเสื้อเหลือง จนเสียชีวิตเหตุเกิดบริเวณหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อค่ำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เบื้องต้นนายประยุทธให้การปฏิเสธ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook