ส.ส.ประชาธิปัตย์แฉ "เสี่ยเจริญ" อยู่เบื้องหลังการฮั๊วนมโรงเรียน

ส.ส.ประชาธิปัตย์แฉ "เสี่ยเจริญ" อยู่เบื้องหลังการฮั๊วนมโรงเรียน

ส.ส.ประชาธิปัตย์แฉ "เสี่ยเจริญ" อยู่เบื้องหลังการฮั๊วนมโรงเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย.ชุมพร โร่ตรวจโรงงานนมศรีชล96 ก่อนอย.ชุดใหญ่ลงพื้นที่ ขณะที่ สุวโรช พะลัง แฉ เจริญ เสี่ยเครื่องดื่มภาคใต้อยู่เบื้องหลังล็อคฮั๊วนมครบวงจร ด้านสายด่วนศธ.สายแทบใหม้ โรงเรียนโทรร้องอื้อ

(21ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ ศูนย์เสมารักษ์ รับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1579 กระทรวงศึกษาธิการ เปิดให้โรงเรียนต่างๆ ร้องเรียนปัญหา นมโรงเรียน ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ มีโรงเรียนโทรศัพท์มาร้องเรียนทั้งสิ้น 19 ราย ได้แก่ 1.โรงเรียนใน จ.นครราชสีมา นมมีรสชาติเปรี้ยว เด็กต้องไปซื้อนมจากข้างนอกมาดื่ม 2.สมุทรสาคร นมรสจืดเหมือนน้ำเปล่า 3.อุตรดิตถ์นมรสชาติจืดใสเหมือนน้ำกะทิ และจะเสียก่อนวันหมดอายุ นมจะเป็นก้อน 4.พระนครศรีอยุธยา นมจืดและใสมาก 5.ปราจีนบุรี หลังแจกนมหลายครั้ง ทำให้เด็กท้องเสีย เพราะไม่รู้ว่านมเสียและไม่เพียงพอกับนักเรียน 6.ปทุมธานี นมมีกลิ่นและรสผิดจากนมทั่วไป ทำให้เด็กไม่ชอบดื่ม 7.ชัยนาท นมมีกลิ่นและรสผิดจากนมทั่วไป ทำให้เด็กไม่ชอบดื่ม 8.สุรินทร์ นมมีกลิ่นบูด เปิดถุงนมเป็นฟอง 9.สุรินทร์ นมรสชาติจืดและใสมาก 10.ร้อยเอ็ด นมรสจืดเหมือนน้ำเปล่า นมมีตะกอน ไม่มีกลิ่นนม 11.ชลบุรี นมรสชาติจืดไม่เหมือนนมทั่วไปและใสมาก 12.กำแพงเพชร นมมีกลิ่นผสมแป้ง นมเสียก่อนวันหมดอายุ นมเป็นก้อน 13.นนทบุรี เด็กไม่ชอบดื่ม 14.กทม. นมเจือจางไม่ได้มาตรฐาน 15.เพชรบูรณ์ นมมีลักษณะเหมือนผสมแป้ง 16.นครราชสีมา นมเสียก่อนวันหมดอายุ 1 สัปดาห์ แล้วนำมาแจกให้เด็กกลับไปดื่มที่บ้าน 17.ลำปาง อยากให้เปลี่ยนเป็นนมสเตอรีไรซ์เพราะเก็บได้นานกว่า 18.นครนายก นมรสชาติผิดจากนมทั่วไป บางถุงเป็นก้อน และ 19.ชุมพร มีปัญหานมบูด

ด้าน นายสุธรรม ลิมธนกุลชัย หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. )จังหวัดชุมพร และคณะได้เข้าตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตนมโรงเรียน บริษัทนำศรีชล 96 จำกัด เลขที่ 104/45 ม.6 บ้านเขาปีบ อ.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร โดยมี นายประคอง ชลสาคร ประธานที่ปรึกษาบริษัท ให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม ซึ่งเมื่อคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในโรงงาน ก็ได้มีการล๊อกกุญแจประตูและไม่ยอมให้คณะสื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพภายในโรงงานแต่อย่างใด โดยนายประคอง ระบุเพียงว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนนำเสนอข่าวจนทำให้เกิดความเครียดและหวาดกลัวไปหมดแล้ว จึงขอไม่ให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น

นายสุธรรม กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจโรงงานแห่งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนหลังผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้หยุดการผลิตรวม 7 วัน และได้รายงานผลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบต่อไป

นายสุวโรช พะลัง ส.ส.ชุมพร แบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า มาติดตามการทำงานของคณะอย.จังหวัด แต่ทางโรงงานก็ไม่ยอมให้เข้าไปภายใน ทำได้เพียงสังเกตการณ์รอบบริเวณเท่านั้น จากนั้น นายสุวโรช ได้นำเอกสารมานำเสนอให้คณะสื่อมวลชน ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ใกล้ๆ กับโรงงานฯ พร้อมระบุว่าโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน มีขบวนการเข้าเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และองค์กรท้องถิ่น มีการเอื้อประโยชน์กันชัดเจน โดยดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่มีการโยงใยที่เหมือนการส่อเจตนาว่ามีการล๊อกเปกล่วงหน้า คือ มีการออกหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย โดยรองปลัดกระทรวงฯ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ในขณะนั้น จนปัจจุบัน ก็ยังคงมาดำรงตำแหน่ง อธิบดีฯ อีก ซึ่งเรื่องนี้ ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน เพราะหลักฐานราชการมันฟ้องอยู่ นอกจากนี้ จากพยานหลักฐานยังพบว่า มีนายเจริญ อายุ 40 ปี เศษ มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคใต้ ประกอบธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งมีฐานะร่ำรวยมีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังขบวนการฮั้วอย่างครบวงจร ซึ่งในเรื่องนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารเพื่อที่จะส่งให้กับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช.)และ กรมสอบสวนคดีพิเศ (ดีเอสไอ)

รายงานข่าวแจ้งว่า วันจันทร์ที่ 23 ก.พ. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. ,นายสมใจ สุตันตยาวลี หน.กลุ่มกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด กองควบคุมอาหาร นางณัฐคมพร ภานุรัตนะ หน.คบ.เขต 5 จะเดินทางมาตรวจ โรงงานนำศรีชล 96 จำกัด โรงงานแปรรูปนมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร และโรงงานแปรรูปนม โรงนมกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทำให้ ทาง อย.จังหวัดชุมพร รุดมาตรวจโรงงานผลิตนมอย่างเร่งด่วนโดยไม่ยอมให้คณะสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเข้าสังเกตการณ์

จ.ส.ต.ประชา นิลเอก นายก อบต.คลองน้อย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัญหานมโรงเรียนบางแห่งเกิดขึ้นมานานแล้ว อยากเสนอแนะทางออกให้แก่รัฐบาลในการจัดซื้อนม ที่สำคัญคือทางรัฐบาลหรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ควรล็อกบริษัทที่เข้าประมูล และควรให้อำนาจท้องถิ่นให้เต็มที่

"แต่ละ อบต.ควรมีการเปิดโอกาสให้บริษัทนมยื่นซองประมูลไม่ต่ำกว่า 10-20 ราย เพื่อจะได้ไม่มีข้อครหาและจะได้ซื้อนมราคาถูก มีคุณภาพ เพราะมีตัวเลือก ไม่อยากให้ผูกติดกับบริษัทเดิม เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพ นอกจากนี้ทางโรงเรียนต้องคอยเป็นหูเป็นตาแทนด้วย หากไม่มั่นใจก็ต้องส่งคืนบริษัททันที" จ.ส.ต.ประชา กล่าว

นายธนน เวชกรกานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงกรณีนายสิทธิยา มามะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเขา หมู่ 6 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อนมโรงเรียนว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ตนพร้อมด้วยนายประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาสเขต 1 และ นพ.ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้ไปที่โรงเรียนบ้านหัวเขา เพื่อเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนส่งไปตรวจสอบคุณภาพที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา แล้ว

ทั้งนี้ พบว่ามีการจัดส่งนมเปรี้ยวรสส้ม และนมเปรี้ยวรสสับปะรด มีปริมาณนมในถุงเพียง 150 ซีซี ไม่ตรงตามคู่สัญญาระหว่าง อบต.กะลุวอเหนือ ในฐานะผู้จัดซื้อ กับสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ในฐานะผู้ขายที่ระบุ เป็นการจัดซื้อนมสดพร้อมดื่ม 100% ประเภทนมพาสเจอไรซ์ ชนิดถุง ขนาด 200 ซีซี รสจืด และนมสดพร้อมดื่ม 100% ประเภทยูเอชที ชนิดกล่อง ขนาด 200 ซีซี ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งการให้ นายสุรชัย ชวาลารัตน์ นายอำเภอเมืองนราธิวาส ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ หากพบว่าเรื่องนี้มีมูลก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนตามกระบวนการของทางราชการต่อไป

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ประจำเทศบาลตำบลแห่งหนึ่งใน จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า โครงการนมโรงเรียนที่มีปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะมีการแข่งขันกันสูงมาก ช่วงหลังเมื่อมีปัญหานมบูดก็แก้ปัญหาด้วยการแบ่งโซน และห้ามขายข้ามเขต เพื่อลดปัญหา แต่ก็ยังเกิดการฮั้วประมูลกันขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ระบบการประมูล อปท.จะออกประกาศ และเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา ส่วนใหญ่ผู้เสนอราคาต่ำสุดจะรับการคัดเลือก ส่วนการฮั้วประมูลนั้น นอกจากเอกชนจะฮั้วกับผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแล้ว ยังฮั้วกับเอกชนด้วยกันเองด้วย โดยจะตกลงแบ่งสัดส่วนพื้นที่และโรงเรียนกัน เมื่อถึงเวลาประมูลก็จะหาคู่มาประมูลร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การประมูลตามระบบราชการที่ระบุไว้ว่าต้องมีคู่แข่งมายื่นซองเสนอราคาด้วยเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะทราบกันดีว่ามีการล็อกสเปกไว้เรียบร้อยแล้ว

"การทำนมโรงเรียนได้กำไรไม่มาก แต่การแข่งขันที่สูงและต้องจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้แก่เจ้าหน้าที่ ทำให้เอกชนต้องหาวิธีลดต้นทุนการผลิต ก่อนหน้านี้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนหลายแห่งใน จ.อุตรดิตถ์ ประสบปัญหานมเสีย รสชาติจืดเหมือนน้ำ ทำให้เด็กๆ ไม่ยอมกิน ครูต้องโยนทิ้ง หลาย อปท.จึงเปลี่ยนเอกชนรายใหม่ แต่ก็ประสบปัญหาอีก ล่าสุด อปท.ส่วนใหญ่จะหันไปสั่งซื้อนมจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สาขาภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.สุโขทัย แทน เพราะเป็นนมโคสดแท้ โดยใช้ระบบวิธีจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า อาจจะมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองแก้ไขระเบียบที่บังคับให้จัดซื้อเฉพาะนมจืดที่ทำจากนมโคสด มาเป็นนมรสหวาน หรือรสอื่นๆ เพราะจะทำให้ตรวจสอบยากกว่าเดิม

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคขอแสดงความเป็นห่วงปัญหานมโรงเรียน และมองว่า ปัญหาน่าจะอยู่ที่อนุกรรมการบริหารโครงการนมโรงเรียน ซึ่งได้พิจารณาเรื่องนี้ในเดือนตุลาคม 2551 ในรัฐบาลที่แล้ว แม้จะยังไม่ชัดว่าเป็นการปล่อยปละละเลย หรือทุจริต แต่ขอให้รัฐบาลนี้เร่งแก้ไขปัญหาให้ครบวงจรทั้งเรื่องคุณภาพและการจัดซื้อ เพราะตอนนี้มีนมสดล้นตลาด แต่กลับพบว่ามีการนำนมด้อยคุณภาพให้นักเรียนกิน นอกจากนี้ต่อไปควรขยายโครงการให้ครอบคลุมถึงนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 และมารดาที่มีครรภ์ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook