ผุดแหล่งท่องเที่ยวเชิงปฏิบัติธรรม พลิกผืนแผ่นดินเป็น “หัตถกรรมถิ่นไทย”

ผุดแหล่งท่องเที่ยวเชิงปฏิบัติธรรม พลิกผืนแผ่นดินเป็น “หัตถกรรมถิ่นไทย”

ผุดแหล่งท่องเที่ยวเชิงปฏิบัติธรรม พลิกผืนแผ่นดินเป็น “หัตถกรรมถิ่นไทย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "เมืองพัทยา" จังหวัดชลบุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเกาะแก่ง ชายหาด และทะเล รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงอื่นๆ อีกหลากหลายมากมาย แต่ทว่าสถานที่ที่เป็นได้ทั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวในตัว ยังคงมีทางเลือกอยู่ค่อนข้างน้อย

เลยกลายเป็นที่มาของสถานที่แห่งนี้ ที่มีชื่อว่า “หัตถกรรมถิ่นไทย” ซึ่งมีอดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งและคุณยายเจ้าของที่ดินวัย 70 ปี ร่วมกันบุกเบิกก่อสร้างขึ้นมา ณ บ้านเลขที่ 90/4 ในเขตเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย พื้นที่หมู่ 1 ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

1ee

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว ซึ่งมีสถาปัตยกรรมปูนปั้น "พระพิฆเณศ" เทพแห่งความสำเร็จ ขนาดมหึมา ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางพื้นที่ ท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่น และบึงน้ำที่ล้อมรอบบริเวณ

สำหรับบรรยากาศภายในศาสนสถานดังกล่าวพบว่ามีประชาชนเดินทางมาจุดธูปเทียนกราบไหว้ขอพรพระพิฆเณศ ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ศอกที่ประดิษฐานอยู่ด้านบนเทวาลัย เพื่อความเป็นสิริมงคล และกระซิบขอพรข้างๆ หู "หนูมุสิกะ" และ "หนูมุกาสิ" บริวารขององค์พระพิฆเณศ โดยหวังว่าสิ่งที่ขอจะสำริดผลดังใจหมาย

1dv

นางเกื้อกูล วิถีผล คุณยายเจ้าของที่ดินวัย 70 ปี เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตนเองมาเห็นที่ดินผืนนี้ซึ่งมีบึงน้ำขนาดใหญ่ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ตามธรรมชาติ เลยซื้อเก็บไว้ ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะปลูกบัว เนื่องจากบัวเป็นดอกไม้ที่ใช้ถวายพระ ต่อมา มีโอกาสได้ถวายงานสมเด็จพระเทพฯ เกี่ยวกับงานปูนปั้นสถาปัตยกรรมที่เขาหมาจอ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ

จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างสถานปฏิบัติธรรมขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ ในเวลาต่อมาจึงทำการก่อสร้างอาคาร "ถ้ำจระเข้" ขึ้นก่อนเป็นหลังแรก โดยมีนายทหารที่เคยรู้จักกันขณะร่วมถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ที่เขาหมาจอ ส่งกำลังทหารช่างรวม 6 นายมาช่วยดำเนินการก่อสร้าง ด้วยความที่ตนเองเคารพศรัทธาพระพิฆเณศวร์อยู่แล้ว จึงออกแบบและลงมือปั้นองค์พระพิฆเณศองค์นี้อยู่นาน 6 เดือน จึงแล้วเสร็จ

1ewe

ทางด้าน จ่าเอก จารุวัฒน์ ทิมเที่ยง อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสถานที่แห่งนี้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานที่ท่องเที่ยวเชิงปฏิบัติธรรมในเมืองพัทยาและใกล้เคียงมีค่อนข้างน้อย หลังจากเกษียณตัวเองจากงานประจำ จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างศาสนสถานไว้ปฏิบัติธรรมในช่วงบั้นปลายของชีวิต

จึงร่วมกับ นางเกื้อกูล เจ้าของที่ดิน ผู้ซึ่งมีวิถีแนวทางปฏิบัติและความเชื่อในทิศทางเดียวกัน เลยเป็นที่มาของการก่อสร้าง “หัตถกรรมถิ่นไทย” ขึ้นด้วยงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท

1fewr

ภายในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ จะมีการแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ 'เทวาลัยพระพิฆเณศวร์' ที่ด้านบนมีสถาปัตยกรรมปูนปั้น พระพิฆเณศ ปางเอกเขนก ขนาดหน้าตักยาว 9 ศอก ประดิษฐานอยู่, รวมถึง 'ถ้ำจระเข้' สถานที่ประดิษฐานรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระอริยสงฆ์ที่มรณะภาพแล้ว, 'ถ้ำศูนย์ศิลปาชีพ'

ซึ่งจะมีการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาชีพต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ และ 'ซุ้มผ้าไหม' ที่มีการนำผ้าไหมจากทั่วโลกมาจัดแสดง ถัดไปเป็น 'แดนสวรรค์–นรก' และ 'ซุ้มเจ้ากรุงบาดาล' สถานที่จำศีลของพญานาคนาม "มุจลินทร์" นอกจากนี้ยังมีศาลาปฏิบัติธรรม 2 หลัง สามารถรองรับคนได้ 120 คน พร้อมที่พักแบบบ้านเป็นหลังจำนวน 15 หลัง และห้องเดี่ยวรวม 20 ห้อง ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

1rwer

จ่าเอก จารุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จุดประสงค์หลักของการสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อหวังให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความสงบ โดยไม่ได้หวังผลกำไร ประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าหากท่านใดอยากจะช่วยค่าน้ำค่าไฟก็แล้วแต่กำลังศรัทธา ขอเพียงว่าให้ปฏิบัติตามกฎ กติกาที่กำหนดไว้เท่านั้นพอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook