Market Talks - บล.เอเซีย พลัส
กลยุทธ์การลงทุน ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มปรับฐานต่อ โดยยังแนะนำกลยุทธ์เดิมถือครองหุ้น 30% แนะปรับพอร์ตมาถือหุ้น ขนาดกลางและเล็ก โดยเฉพาะหุ้น Laggard บางบริษัทที่ราคาหุ้นยังไม่ไปไหน เช่น TPIPL (FV@B17.06) หรือหุ้น Growth Stocks ได้แก่ GFPT(FV@B13.5) และ JAS(FV@B4.5) (EPS Growth จะเติบโตปีละ 48% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่เติบโตตามกระแส Smart phone และ Live Style ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป) SET Index 1,070.43 เปลี่ยนแปลง (จุด) -23.13 มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 39,101.38 ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท) นักลงทุนต่างชาติ 711.38 บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ -761.79 นักลงทุนสถาบันในประเทศ -2,482.78 นักลงทุนรายย่อย 2,533.19 ค่าเงินยุโรปมีแนวโน้มอ่อนตัว หากสเปนจะต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF เป็นแห่งที่ 4 สรุปว่าโปรตุเกสเป็นประเทศที่ 3 ของสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF เป็นเงิน 1.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 61% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้างที่มีอยู่ดังปรากฏในภาพข้างต้น ทั้งนี้ถือเป็นการรับความช่วยเหลือภายหลังจากที่ประเทศกรีซ และ ไอร์แลนด์ ได้ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF ไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นเงิน 1.60 แสนล้านเหรียญฯ และ 1.25 แสนล้านเหรียญฯ หรือเมื่อเทียบกับยอดคงค้างหนี้สาธารณะคิดเป็น 55% และ 82% ตามลำดับ ขณะที่คาดว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มจะขอรับความช่วยเหลือจาก IMF เพิ่มเติมน่าจะเป็นประเทศสเปน ซึ่งปัจจุบันมียอดหนี้สาธารณะคงค้างราว 6.64 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งยังประสบปัญหาในการแก้ไขปัญหาขาดดุลการคลัง และหากจะต้องขอรับความช่วยเหลือเป็นประเทศที่ 4 ก็คงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านเหรียญฯ ซึ่งเทียบเท่ากับการให้ความช่วยเหลือของ 3 ประเทศดังกล่าวข้างต้นรวมกัน ดังนั้นเชื่อว่าในสถานการณ์นี้มีโอกาสเกิดขึ้น จะยังกดดันตลาดหุ้น และความเชื่อมั่นต่อค่าเงินสกุลยุโรต่อไปจนกว่าประเทศสมาชิกจะมีข้อสรุปในการจัดการหนี้สาธารณะ พร้อมทั้งสรุปยอดเงินที่จะขอรับความช่วยเหลือจาก IMF และจะทำให้ตลาดเงินหยุดความปั่นป่วน หรือเลิก Panic โดยสรุปในสถานการณ์นี้เชื่อว่าจะกดดันให้ค่าเงินยูโรกลับข้างหลังจากที่แข็งค่าต่อเนื่องมานานกว่า 4 เดือน สินทรัพย์เสี่ยงยังคงอยู่ในภาวะปรับฐาน เม็ดเงินลงทุนถูกโยกไปยังดอลลาร์ และพันธบัตรรัฐบาล ความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มมากขึ้น นอกจากความสำเร็จในการจัดการกับผู้ก่อการร้ายข้ามชาติที่ทำการถล่มตึก World Trade และกระทรวงกลาโหม สหรัฐ ในปี 2544 ดังที่เป็นข่าวไปทั่วโลกในสัปดาห์นี้แล้ว ตัวเลขดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐยังคงมีแนวโน้มดีขึ้น กล่าวคือ ตัวเลขยอดสั่งซื้อของโรงงานในเดือน มี.ค. 2554 เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาด เทียบกับที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือตามแนวคิดของ Fed ถือว่าเป็นการเติบโตในระดับปานกลาง ซึ่งทำให้ Fed ยังต้องการใช้นโยบายการเงินอ่อนตัวในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามพัฒนาการดังกล่าว ได้หนุนให้ Dollar Index ฟื้นจากจุดต่ำสุดที่ 72.722 จุดในรอบนี้ (สูงกว่าจุดต่ำสุดเดิม 71.3 จุด ที่ทำไว้เมื่อกลางปี 2551 ในช่วงที่เกิดปัญหาซับไพร์ม) โดยล่าสุดขึ้นมาที่ 73.14 จุด และมีแนวโน้มแกว่งตัวในระยะสั้นไปที่ 74-75 จุด ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้สินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวทุกประเภท โดยเฉพาะราคา Silver พบว่าช่วงเพียง 2 วันแรกของสัปดาห์นี้ ลดลง 9% ตามด้วยราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) อ่อนตัวราว 3% และทองคำลดลง 2.5% ขณะที่ราคาถ่านหินล่วงหน้ายังไม่เปลี่ยนแปลง แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวหลังจากนี้ เพราะเป็นธรรมชาติที่ราคาถ่านหินจะปรับตัวล่าช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบราว 3 เดือน ซึ่งในสถานการณ์นี้เชื่อว่าจะเป็นเหตุผลให้นักลงทุนมีการปรับพอร์ต โดยการลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่นหุ้น และน้ำมัน โดยจะหันมาลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่น้อยกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือดอลลาร์ เป็นต้น ซึ่งจะกดดันให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ (PTTEP, PTT, LANNA, AGE) ให้ปรับฐานต่อเนื่องในวันนี้ และจะกดดันให้ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัว โดยมีแนวรับที่ 1,060-1,065 จุด ขณะที่แนวต้านจะอยู่ที่จุดสูงสุดของรอบนี้คือ 1,115 จุด Fund Flow เริ่มชะลอตัวต่อเนื่อง น่าจะมีการขายออกในไม่ช้า วานนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดภูมิภาค 203.65 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากวันก่อนหน้า 23.87% แม้ว่าจะเป็นการซื้อสุทธิในทุกตลาด แต่ก็เป็นแรงซื้อที่ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ 3 ประเทศหลัก นำโดยตลาดเกาหลีใต้ที่มียอดซื้อสุทธิเข้ามาเพียง 21.3 ล้านเหรียญฯ หดตัวลงจากวันก่อนหน้าสูงสุดถึง 88.26% รองลงมาเป็นตลาดอินโดนีเซียที่มียอดซื้อ19.28 ล้านเหรียญฯ ชะลอตัวลงราว 78.43% ตามมาด้วยตลาดไต้หวันที่แม้จะมียอดซื้อสุทธิสูงสุดถึง 135.16 ล้านเหรียญฯ แต่ก็ชะลอตัวลงจากวันก่อนหน้าราว 38.74% สำหรับตลาดหุ้นไทยและฟิลิปปินส์เป็นกลุ่มที่ต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิอีกครั้ง หลังจากขายออกไปในวันก่อนหน้า แต่แรงซื้อเบาบางเพียง 23.7 ล้านเหรียญฯ และ 4.21 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ เป็นที่สังเกตว่ายอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงสัญญานเตือนว่าเงินทุนไหลเข้าเริ่มชะลอตัว และอาจมีการขายทำกำไรระยะสั้นออกมาได้ โดยเฉพาะเดือนพ.ค. ที่เป็นช่วง Fund Flow มักไหลออก ประกอบกับความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง จึงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนหรือเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยวานนี้พบว่านักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 8 อีก 12,438.14 ล้านบาท (ยอดสะสมปี 2554 อยู่ที่ 458,008.06 ล้านบาท) แนวโน้ม Fund Flow น่าจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ต่อไปอีกตามความจำเป็นที่ กนง. จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เฟ้อ อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง รวม 0.5% เป็น 3.25% ภายในกลางปีนี้ นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146 เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132 กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ โดย บมจ. หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2554