Market Talks - บล.เอเซีย พลัส
กลยุทธ์การลงทุน ตลาดหุ้นไทยอาจจะฟื้นตัว แต่เป็นเพียงเหตุการณ์สั้น ๆ โดยยังให้น้ำหนักต่อ Dollar Index ที่มีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นทดสอบ 76 จุด ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับฐานต่อ ยังแนะนำให้ปรับพอร์ตพร้อมถือเงินสดเพิ่ม และรอจังหวะการเข้าลงทุนรอบใหม่ ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ ASP ได้ทยอยปรับลดน้ำหนักหุ้นรายตัว (เช่น BEC จากซื้อเป็น ถือ SC จาก ถือ เป็น ขาย) เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นมาจนไม่มี upside เมื่อเทียบกับ Fair Value ปี 2554 SET Index 1,086.27 เปลี่ยนแปลง (จุด) -14.21 มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 34,470.23 ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท) นักลงทุนต่างชาติ -966.95 บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 673.49 นักลงทุนสถาบันในประเทศ -791.69 นักลงทุนรายย่อย 1,085.15 หุ้นยังคงแกว่งตัวตราบที่ Dollar Index มีทิศทางแกว่งขึ้น โดยเป้าหมายถัดไปคือ 76 จุด เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงต่อการปรับฐาน แม้วันนี้อาจจะเห็นดัชนีดีดตัวบ้าง แต่ก็เป็นไปตามบรรยากาศการซื้อขายของตลาดหุ้นในภูมิภาคเท่านั้น โดยเชื่อว่าปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดยังคงมาจากประเด็น Dollar Index ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่ายังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นทดสอบ 76 จุด หลังจากที่วานนี้ขึ้นแตะ 75.645 จุด ซึ่งเกิดจากตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากวิกฤติความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลยูโร และเชื่อว่าตลาดน่าให้ความสนใจต่อผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นกรอบ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาการคลังของประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ และประเด็นนี้ยังคงกดดันค่าเงินยูโร เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ให้มีโอกาสอ่อนตัวลงต่อ โดยคาดว่าอาจจะลงไปต่ำกว่า 1.4 เหรียญฯต่อยูโร ทั้งนี้เป็นการลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1.49 เหรียญฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 พ.ค. 2554) ซึ่ง Dollar Index ที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่ายังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมัน รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ มีโอกาสจะปรับฐานต่อ แม้อาจจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ และน่ากดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผันผวนในทิศทางเดียวกัน ในสถานการณ์นี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่เยอะๆ ควรลดการถือหุ้นลงมาถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น (ไม่ควรเกิน 20-30% ของพอร์ต) เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาซื้อ ครั้งใหม่ เมื่อดัชนีลดลงมาที่ 1,040-1,050 จุด ซึ่งเป็นระดับ PER ปี 2554 ที่ 12 เท่า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแนวรับที่มีนัยสำคัญในระยะสั้นๆ ภายใต้สมมติฐานว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตระหนกให้กับตลาด เหมือนกับบางเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จีนยังคงใช้มาตรการเข้มงวด โดยขึ้นอัตราดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องครั้งที่ 11 อีก 0.5% วานนี้ธนาคารกลางจีน ประกาศขึ้นอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement) อีก 0.5% เป็น 21% โดยเป็นการขึ้นครั้งที่ 11 ขณะที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.31% ทั้งนี้เนื่องจากจีนยังต้องการควบคุมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ภายใต้เงินเฟ้อที่ควบคุมได้ โดยล่าสุดเงินเฟ้อเดือน เม.ย. จะอยู่ที่ 5.3% แม้จะลดลงจาก 5.4% ในเดือน มี.ค. 2554 แล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์ในจีนเชื่อว่าจีนมีแนวโน้มจะใช้นโยบายการเงินที่เข้างวดต่อไป โดยเฉพาะการขึ้น Reserve Requirement อีก 1% เป็น 23% ซึ่งจะยิ่งทำให้ Reserve Requirement ของจีน ห่างประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐออกไปมากขึ้นทุกที่ เนื่องจากปัจจุบัน มิใช่เพียงแต่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะยืนอยู่ที่ 0-0.25% เท่านั้น แต่พบว่า Reserve Requirement ยังอยู่ในระดับ 10% และเมื่อเทียบกับประเทศไทยก็ยิ่งห่างไปอีก กล่าวคือปัจจุบัน Reserve Requirement ของไทยอยู่ที่ 6% โดยสรุปแม้เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศภูมิภาคเอเซียจะใกล้ระดับสูงสุดในราวกลางปีนี้ กล่าวจะมีโอกาสจะขึ้นได้อีกราว 2 ครั้ง โดยเฉพาะประเทศไทย และการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นบางประเทศที่เพิ่งปรับเพิ่มดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในปี 2554 โดยปรับล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ปัจจัยดอกเบี้ยยังคงกดดันตลาดหุ้นไทยอย่างน้อยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า และน่าจะหนุนให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคเอเซีย ดังที่เราเห็นสัญญานการขายหุ้นเริ่มกระจายทุกตลาดดังปรากฏในย่อหน้าถัดไป และหากติดตามข้อมูลจาก The Wall Street Journal ก็ระบุว่า Temasek ซึ่งเป็นบริษัท ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้ทยอยลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นหลายบริษัทหลังจากราคาหุ้นในภูมิภาคเอเซียปรับตัวขึ้น เพื่อรับรู้กำไรโดย วานนี้ได้ขายหุ้น Kaisa Group Holdings ซึ่งเป็น Property ในประเทศจีน ซึงได้กดดันให้หุ้นดังกล่าวตกต่ำ 17% ในช่วงเพียงวันเดียว ขณะที่ปลายปี 2553 ได้ขายหุ้น Hana Financial Group ในประเทศเกาหลี และ ขายหุ้น Fraser & Neave Ltd ประเทศสิงคโปร์ และเหตุการณ์เดียวกันจะเกิดขึ้นกับประเทศหรือไม่ โดยขณะนี้ Temasek ยังคงถือหุ้นใหญ่ใน SHIN (SHIN ยังถือหุ้น ADVANC 42.32 และ ถือ 41.44% ใน THCOM เป็นต้น) คาดตลาดน่าจะเกิด sales on facts หุ้นภาคการผลิตที่ทยอยรายงานในสัปดาห์นี้ หุ้นในกลุ่มภาคการผลิต ยังคงทยอยรายงงานผลประกอบการงวด 1Q54 ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดรายงานออกมาแล้วจำนวน 153 บริษัท คิดเป็น 30% ของทั้งหมด โดยกลุ่มหุ้นที่ฝ่ายวิจัย ASP ศึกษา รายงานมาแล้วเพียง 37 บริษัท จากทั้งหมด 160 บริษัท ในจำนวนนี้ราว 34% ของที่ประกาศแล้วรายงงานมีผลกำไรดีกว่าคาด (MAKRO, CPALL , ADVANC, DTAC, DELTA, SCC, BANPU, PTTAR, TOP, ERAWAN, MINT,AOT, LANNA, TVO) อีก 66% ที่เหลือมีกำไรใกล้เคียงกับคาด/ต่ำกว่าคาด (GLOW, PTTEP, PTTAR, TTW, BCP, JAS, CCET, BECL, KCE,SVI, BEC, MCOT, PF, THANA, CPNRF, NOBLE, QH, UPOIC, TTCL/ IRPC, SMT, CFRESH, THAI) เป็นที่น่าสังเกตว่าหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ การท่องเที่ยง และค้าปลีก เป็นกลุ่มที่ยังคงรายงานกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง และดีกว่าตลาดคาดไว้ โดยกลุ่มโภคภัณฑ์ นำโดย LANNA ที่มีกำไรสุทธิ 293 ล้านบาท เติบโตถึง 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก ราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น ตามมาด้วย TVO ที่มีกำไรสุทธิ 391.8 ล้านบาท สูงกว่านักวิเคราะห์ ASP คาดราว 7% เติบโตราว 35%YoY จากอานิสงค์ของราคาอาหารที่พุ่งขึ้น หลังพื้นที่เพาะปลูกถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ และปัจจัยบวกๆ จากราคาน้ำมันขาขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสถัดไปหุ้นในกลุ่มดังกล่าวอาจรายงงานกำไรที่อ่อนตัวลง หลังราคาน้ำมันส่งสัญญาณอ่อนตัวลง และผ่านพ้นช่วงฤดูกาลไปแล้ว ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยง AOT ได้รายงานผลประกอบการวานนี้ มีกำไรสุทธิ 1,712.54 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าตลาดคาดไว้ว่าจะมีกำไรเพียง 1,550 ล้านบาท และสอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น สะท้อนจากกำไรที่ดีกว่าคาดเช่นเดียวกับกลุ่มโรงแรมที่รายงงานกำไรสุทธิโดดเด่น ในช่วงต้นสัปดาห์ ยกเว้นเพียง THAI ที่รายงานกำไรสุทธิออกมาเพียง 618.5 ล้านบาท ต่ำว่านักวิเคราะห์คาดไว้ราว 18% จากแรงกดดันของต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก สุดท้ายที่หุ้นในกลุ่มอาหาร CFRESH รายงานกำไรสุทธิอ่อนตัวลงมา โดยมีกำไรเพียง 1.46 ล้านบาท อ่อนตัวลงถึง 95%YoY เกิดจากราคาต้นทุนการรับซื้อกุ้งที่เพิ่มขึ้น หลังจาก ผลผลิตกุ้งได้ลดน้อยลง ตามพื้นที่เพาะเลี้ยง ที่ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตชุมพร (แหล่ง supply กุ้งให้กับ CFRESH มากสุด โดยเชื่อว่าแรงกดดันดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ และกระทบถึงผลประกอบการงวด 2Q54 ทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มเกษตรและอาหาร เตรียมปรับลดคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ขาย” ในเร็วๆ นี้ Fund Flow เริ่มชะลอตัวชัดเจน วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4 ใน 5 ตลาดภูมิภาค แสดยอดขายสุทธิกว่า 1, 047.36 ล้านบาท หลังจากมีการซื้อสุทธิติดต่อกันในช่วง 3 วันก่อนหน้า ทั้งนี้พบว่าตลาดเกาหลีใต้ถูกขายมากที่สุดกว่า 908 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการกลับมาขายสุทธิ หลังจากมีการซื้อสุทธิในช่วง 2 วันก่อนหน้า ตามด้วยตลาดไต้หวันและตลาดหุ้นไทยที่มียอดขายสุทธิ 104.9 ล้านเหรียญฯ และ 31.88 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ โดยเป็นการกลับมาขายสุทธิหลังจากมีการซื้อสุทธิในช่วง 3 วันก่อน ขณะที่ตลาดฟิลิปปินส์มียอดขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 แต่เล็กน้อยคือ 7.45 ล้านเหรียญฯ ยกเว้นเพียงตลาดอินโดนีเซีย เพียงแห่งเดียวที่มียอดซื้อสุทธิ 4.3 ล้านเหรียญฯ แต่ก็ชะลอตัวลงจากวันก่อนหน้ากว่า 90% ภาพรวม Fund Flow ในตลาดหุ้นสำหรับช่วงต่อไปน่าจะชะลอตัวลงและจะมีแรงขายสุทธิออกมาจากตลาดต่างๆมากขึ้น นักวิเคราะห์: ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146 เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132 กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ โดย บมจ. หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2554