ศาลอาญาตัดสิน อดีตอธิบดี-4บิ๊กสรรพากรช่วย พจมาน เลี่ยงภาษี 738 ล.
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา"ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์" อดีตอธิบดีสรรพากรกับพวก 5 คน คดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เก็บภาษี"พจมาน"โอนหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านให้"บรรณพจน์" ป.ป.ช.เชือดจนถูกไล่ออกจากราชการ เผย"คุณหญิงอ้อ-พี่ชาย"เจอคุก 5 ปีมาแล้วฐานเลี่ยงภาษี 546 ล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากรและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, น.ส.สุจินดา แสงชมพู อดีตนิติกร 9, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตนิติกร 8และอดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลอาญา 154 และ 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (มหาชน)หรือชินคอร์ป 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน เมื่อปี 2540 หลังจากเคยเลื่อนมาครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ว่า นายศิโรตม์และพวกรวม 5 คนเป็นเจ้าพนักงาน ละเว้นการไม่เก็บภาษี และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.154, 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ม.82 วรรค 3, ม. 85 วรรค 2 และ ม.98 วรรค 2 ซึ่ง ป.ป.ช.พบข้อเท็จจริงเรื่องการโอนหุ้นชินฯระหว่างนายบรรณพจน์ กับ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขาย ได้เสียค่าธรรมเนียมแก่โบรกเกอร์ เป็นเงิน 7.38 ล้านบาท
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจริง เป็นเรื่องที่คุณหญิงพจมาน ให้หุ้นนายบรรณพจน์ ซึ่งกรณีนี้ กรมสรรพากรเห็นว่า การได้รับหุ้นดังกล่าวของนายบรรณพจน์ จากคุณหญิงพจมาน เป็นการได้รับหุ้นโดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามขนบธรรมเนียมประเพณี เข้าลักษณะเป็นการได้รับโดยอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา จึงไม่ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าว มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ข้อ คือ
1.การโอนหุ้นดังกล่าว เข้าข้อยกเว้นไม่ต้อง เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ม.42 (10) หรือไม่
2.เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จริงหรือไม่
ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและกฎหมาย สรุปได้ว่า 1.คุณหญิงพจมาน ไม่มีหน้าที่อุปการะนายบรรณพจน์ แต่ประการใด 2.นายบรรณพจน์ ได้เข้าไปช่วยเหลือในกิจการประกอบธุรกิจของคุณหญิงพจมาน จนกระทั่งมีฐานะมั่นคง 3.นายบรรณพจน์ ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานดังกล่าว
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้ พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ประกอบคำพิพากษา ของศาลฎีกา ที่วินิจฉัยไว้เป็นแนวปฏิบัติหลายฎีกา ซึ่งเป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นการอุปการะเลี้ยงดู หรือการให้โดยธรรมจรรยา
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้สอบสวนอดีตอธิบดีกรมสรรพากรคนหนึ่ง ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า กรณีพี่น้องเช่นนี้ ไม่มี หน้าที่ที่จะอุปการะเลี้ยงดูกันตามธรรมจรรยาแต่ประการใดทั้งสิ้น ส่วนการพิจารณาว่า เป็นการโอนหุ้นให้ตามวาระแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีหรือไม่นั้น ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว พบว่า มีการอ้างว่า ให้ในโอกาสแต่งงานของนายบรรณพจน์ หรือกรณีที่นายบรรณพจน์มีบุตร
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย บรรณพจน์ จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2539 และมีบุตร เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2539 แต่การโอนหุ้นดำเนินการเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 อีกทั้งหากการโอนหุ้นดังกล่าวถ้ากระทำโดยสุจริตก็ควรจะเป็นการโอนหุ้นโดยธรรมดา แต่เรื่องนี้กลับมีการทำหลักฐานเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และเป็นหุ้นของบุคคลอื่นเพื่อเป็นการอำพราง ดังนั้น ป.ป.ช. จึงพิจารณาว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ม.42 (10)
ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาม 2549 อ.ก.พ.กระทรวงการคลังมีมติไล่ข้าราชการทั้ง 5 คนออกจากราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ เป็นเวลา 3ปี ใและจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน เป็นเวลา2ปีในคดีจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 546 ล้านบาทจากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
ทั้งนี้ศาลพิพากษาว่า จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานนำสืบทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว พยานโจทก์มั่นคง จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันกระทำความผิดโดยฉ้อโกง หรีออุบาย เพื่อหลีกเลี่ยง ภาษีอากร ตามฟ้อง นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ยังร่วมกันแจ้งความเท็จ และแสดงหลักฐานเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังเป็นถึงภรรยาของผู้นำประเทศ ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี แต่จำเลยกลับหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่เป็นธรรมต่อสังคม
การกระทำของจำเลยทั้ง 3 จึงเป็นการกระทำความผิดสถานหนัก ร้ายแรง พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร คนละ 2 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานร่วมกันจงใจแจ้งความเท็จ และแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ อีกคนละ 1 คน รวมจำคุก จำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี
ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์