อาเซียน ถกปัญหา โรฮิงญา! พม่าพร้อมรับกลับ

อาเซียน ถกปัญหา โรฮิงญา! พม่าพร้อมรับกลับ

อาเซียน ถกปัญหา โรฮิงญา! พม่าพร้อมรับกลับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กษิต แจงที่ประชุมรมต.อาเซียนมีมติถกปัญหาโรฮิงญา ฮุน เซน เดินทางถึงสนามบินหัวหินเป็นคนแรก อาเซียนซัมมิทเริ่ม กษิต ปลุกสมาชิกส่งสารถึงประชาคมโลกร่วมกันแก้ปัญหา ศก.โดยเร็ว เวที รมว.กลาโหมอาเซียนคึก เตีย บัน หวังบรรลุข้อตกลงถอนทหารพ้นพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ตร.ระดม 5.7 พันนาย เตรียมแผนรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมทุกขั้นตอน

"กษิต"แจงที่ประชุมรมต.อาเซียนมีมติถกปัญหาโรฮิงญา

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่มีขึ้นเมื่อช่วงในวันนี้ (27 ก.พ.) โดยนายกษิตได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 9 ประเทศของสมาชิกอาเซียน เพราะตนเพิ่งมาใหม่ แต่ได้รับความร่วมมือและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่พัทยา ซึ่งจะช่วยกระชับความร่วมมือของอาเซียนด้านมนุษยธรรม กรณีเหตุการณ์พิบัติภัย เช่นสึนามิ โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกันด้านความมั่นคง ไม่เฉพาะสงคราม หรือก่อการร้าย ทั้งนี้ ที่ประชุมยังจะเชิญรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ในครั้งต่อไปด้วย

ที่ประชุมยินดีที่ประเทศพม่าตัดสินใจรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน กรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีส เพิ่มขึ้นอีก 1 ปี เนื่องจากในปีหน้าพม่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบัน จึงไม่อยากตัดสินใจแทนรัฐบาลใหม่ เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลใหม่ของพม่าจะพิจารณาแผนการฟื้นฟูจากเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีสอีกครั้ง

นายกษิต กล่าวถึงกรณีชาวโรฮิงญาว่า สำหรับปัญหาผู้อพยพใฝ่หาชีวิตที่ดีกว่าซึ่งมาทางทะเล เช่น ชาวโรฮิงญา โดยได้มีการตกลงกันว่าจะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้กระบวนการบาหลี ทั้งนี้เราก็ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลพม่าพร้อมรับชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า ชาวเบงกอล กลับประเทศ แต่สำหรับชาวโรฮิงญานั้นก็จะปรึกษากันต่อไป โดยรัฐบาลพม่าจะปรึกษาบังกลาเทศ จากนั้นจะมีการนำปัญหาชาวโรฮิงญาเข้าสู่ที่ประชุมกระบวนการบาหลี ในวันที่ 14-15 เมษายนนี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ประสานกับพม่า เพื่อสำรวจและแยกแยะชาวเบงกอลที่มีอยู่ในพม่าว่ามีจำนวนเท่าไร แล้วนำรายงานสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอีกครั้ง

ผู้นำมาเลเซียประกาศหนุนส่ง"โรฮิงญา"กลับบ้านเกิด

นายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บัดดาวี ของมาเลเซีย กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่หัวหิน ถึงกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญา ว่า เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งทุกชาติต้องมีจุดยืนที่แน่วแน่ ทั้งนี้ เห็นว่าองค์กรระหว่างประเทศควรมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหานี้ และที่สำคัญต้องส่งคืนผู้อพยพเหล่านี้กลับคืนบ้านเกิด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังพูดพาดพิงถึงรัฐบาลทหารพม่าที่บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง ทั้งที่คนเหล่านั้นลี้ภัยออกจากพม่า จนส่งผลกระทบให้ชาวโรฮิงญาเปลี่ยนจุดหมายของการอพยพจากประเทศไทยไปเป็นชาติอื่น รวมถึงมาเลเซียด้วย

"มาร์ค"ถึงอาเซียนซัมมิท บอกเดินทางเรียบร้อยดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 ก.พ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อบีเอ็มดับบลิว ซีรีย์ 7 เลขทะเบียน ศฮ 9201 กรุงเทพมหานคร ถึงหน้าโรงแรงดุสิตธานีหัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 โดยนายอภิสิทธิ์ลงจากรถด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมทักทายผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า "การเดินทางเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร" จากนั้นก็เดินทางขึ้นไปประชุมทวิภาคีกับผู้นำประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศสหภาพพม่า และนายอับดุลเราะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังเข้าหารือกับ รมช.ต่างประเทศจากสหราชอาณาจักร เพื่อพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมกลุ่มประเทศจี 20 ด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการแถลงผลการประชุมทวิภาคีกับกัมพูชา พม่า และมาเลเซียในเวลา 18.30 น. วันเดียวกันนี้

นายกฯเปิดอาเซียนซัมมิท28ก.พ.เน้นบังคับใช้กฎบัตร

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาการโฆษกประจำสำนักน่ายกรัฐมนตรี แถลงที่โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ต แอนด์ สปา จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ถึงประเด็นที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะนำมากล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ในเวลา 14.30 น. ของวันที่ 28 ก.พ.นี้ ว่า นายกรัฐมนตรีจะเริ่มจากการทบทวนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาเซียน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ จะพูดถึงอุปสรรคที่อาเซียนพบ และจุดแข็งรวมถึงความท้าทายใหม่ๆของอาเซียนในอนาคต โดยใช้เวลาในการพูดประมาณ 15 นาที

นายปณิธาน กล่าวต่อว่า ในการประชุมอาเซียนครั้งนี้จะมีการพูดถึงความร่วมมือ 3 ด้าน ทั้งด้านความมั่นคง การค้า และสังคมวัฒนธรรม โดยในเรื่องของเศรษฐกิจจะเน้นให้เป็นตลาดเดียวกันเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเอาประชาชนเป็นฐานสำคัญ อย่างไรก็ตามความร่วมมือของอาเซียนวันนี้ยังมีคู่สนทนาที่เป็นเพื่อนอาเซียนเข้ามาร่วมด้วยเพื่อขยายความร่วมมือ โดยจะเน้นไปถึงประเด็นการนำกฎบัตรอาเซียนมาบังคับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะที่การกล่าวปิดประชุมอาเซียนซัมมิทในวันที่ 1 มีนาคม นายกรัฐมนตรีจะนำผลการหารือของที่ประชุมอาเซียนมารายงานให้สาธารณะ โดยนายกรัฐมนตรีจะกระตุ้นให้ประเทศอาเซียนทั้ง 10 หันมาร่วมมือกันเพื่อฟันผ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

การประชุม รมว.ตปท.อาเซียน-คณะทำงานฯสิทธิมนุษยชนอาเซียน

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 12.00 - 12.45 น. ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานอาเซียน ได้เป็นประธานการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ที่ประชุมฯ ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ ของ "กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AHRB)" จากคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (มีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นหัวหน้าคณะ) โดยคณะทำงานฯ ได้นำเสนอร่างแรกให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในช่วงวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย

"ฮุน เซน" เดินทางถึงสนามบินหัวหินเป็นคนแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. สมเด็จ ฮุนเซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางด้วยเครื่องบินถึงสนามบินหัวหิน ร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 14 ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้นำที่เดินทางมาถึงเป็นประเทศแรก ตามกำหนดการสมเด็จ ฮุน เซน เวลา 16.35 น. มีกำหนดพบปะกับ นายกรัฐมนตรีของไทย คาดว่าข้อพิพาธพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ

ตร.เข้มอาเซียนซัมมิท 24 ชม.ไม่กังวลผู้ชุมนุมป่วน

พล.ต.ท.ถวิล สุรเชษฐพงษ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 กล่าววันนี้ (27 ก.พ.) ถึงการรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดการประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 14 ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า ได้ส่งกำลังลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) มีการเดินทางของเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ มาพำนักในโรงแรม ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5,736 นาย กระจายไปหลายพื้นที่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินบ่อฝ้าย หัวหิน ที่พัก ที่ประชุม ที่จัดเลี้ยง ซึ่งทุกที่จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง ส่วนเรื่องของการชุมนุม ก่อนหน้านี้มีความกังวลอยู่บ้าง แต่ขณะนี้น่ายินดีว่าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและตระหนักถึงความสำคัญของการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างดี ได้ข่าวว่าไม่มีผู้ชุมนุมกลุ่มไหน ที่จะเดินทางเข้ามาที่จะมีผลต่อการประชุม ทำให้ไม่รู้สึกกังวล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานหัวหิน ตามด้วยผู้นำประเทศมาเลเซีย พม่า บรูไน ลาว อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ส่วนวันที่ 28 ก.พ. จะเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะเดินทางมาถึง ส่วนการรักษาความปลอดภัยผู้นำ ใช้ขบวนรถ 8 คันรถ เป็นชุดรักษาความปลอดภัยคนละ 150 นาย ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาถึงโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ

นายกฯจะพาผู้นำอาเซียนเข้าเฝ้าฯ"ในหลวง" 28 ก.พ.

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และโฆษกกระทรวงมหาดไทยฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงมหาดไทย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ว่า ขณะนี้ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนและคณะผู้ติดตาม โดยได้รับการยืนยันว่ามีความพร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะวันพรุ่งนี้ เวลา 17.00 น. ที่นายกรัฐมนตรีจะนำผู้นำรัฐบาลประเทศอาเซียนพร้อมคู่สมรส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย สำหรับในส่วนที่กระทรวงมหาดไทยเอง ได้รับมอบหมายในการประชุมครั้งนี้ คือ ผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางด้านสังคม วัฒนธรรม อาทิ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือ การสนับสนุนให้นักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่ด้านความมั่นคงในภูมิภาค ก็จะนำประเด็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายชาวโรฮิงญา บรรจุเป็นข้อหารือกับประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงมหาดไทยฝ่ายข้าราชการประจำ ยังขอให้คนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ที่เดินทางมาร่วมในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถเจรจาความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะโอกาสในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจด้วย

กำหนดการนายกฯประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 27ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (27 ก.พ.) ว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 กำหนดการภาคบ่ายวันนี้ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เวลา 15.15 น. จะหารือทวิภาคีกับ พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า คาดว่าจะนำประเด็นผู้อพยพชาวโรฮิงยาขึ้นมาหารือ และการแสดงความเป็นห่วงถึงประชาธิปไตยในพม่า

จากนั้นเวลา 16.00 น. จะหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ของมาเลเซีย น่าจะเป็นประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและปัญหาแรงงาน ต่อมาเวลา 16.35 น. มีกำหนดพบปะกับ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา คาดว่าข้อพิพาธพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ

ก่อนหน้านี้การประชุมเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ได้เริ่มขึ้นแล้ว ที่โรงแรมดุสิตรีสอร์ต หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยมีการประชุม ดังนี้ 1.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศ 2.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงเศรษฐกิจ และ3.การประชุมของอธิบดีกรมอาเซียน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ทยอยเดินทางมาถึงสถานที่ประชุมแล้วเช่นกัน โดยในช่วงค่ำวันเดียวกันจะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำของรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการเจรจาในประเด็นต่างๆเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนต่อไป

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้หารือถึงกำหนดการที่จะมีขึ้นในอีก 3 วันข้างหน้าและขอบเขตของหัวข้อที่จะมีการหารือระดับผู้นำ จะมีการลงนามหรือรัรบรองเอกสารในที่ประชุม 22 ฉบับ ในที่ประชุมไม่มีใครตั้งข้อสังเกตหรือสอบถามถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นในไทยแต่อย่างใด และยังไม่มีการหยิบเรื่องโรฮิงญาขึ้นมาหารือเช่นกัน แต่อาจมีการหารือในระดับทวิภาคี

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนนครั้งนี้สมาชิกต้องร่วมมือกันส่งสารไปยังประชาคมโลกว่า ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินโลกโดยเร็ว "เราต้องบอกโลกในนามอาเซียนว่าต้องเปิดตลาดการค้า ต้องช่วยกันแก้ปัญหาการเงินการธนาคาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้"นายกษิตกล่าว

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า จะลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ได้โดยไม่มีปัญหาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย รัฐมนตรีการค้าอินเดียไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ ขณะที่รัฐสภาไทยได้อนุมัติร่างความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียไปแล้ว คงต้องมาพิจารณากันใหม่อีกรอบ ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อินเดียต้องการแก้ไขเรื่องกำหนดเวลาในการลดภาษี โดยระบุว่าภายใต้ความตกลงเดิมทำให้ปีนี้อินเดียต้องลดภาษีถึงสองครั้ง ซึ่งขัดต่อกฎหมายภายในของอินเดียที่สามารถลดภาษีได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 3 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่โรงแรม รอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 25 -27 กุมภาพันธ์ 2552 เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น. โดยบรรดารัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนประเทศสมาชิก พร้อมคณะต่างทยอยเดินทางมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง อาทิ ดาโต๊ะ ซรีอับดุลลาห์ บิน อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหภาพพม่า ศาสตราจารย์ จูโวโน ซูดาร์โซโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายกิลเบอร์โต้ กิลเบิร์ท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายเตียว ซี เฮียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐสิงคโปร์ พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ฟุ่ง กวาง แทนห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พล.ท.ดวงใจ พิจิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และดาโต๊ะ ยูซอฟ อากาคิน รัฐฒนตรีช่วยประจำสำนักนายกฯ ในฐานะตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบรูไน

ทั้งนี้ ช่วงเช้ารัฐมนตรีกลาโหมของไทยร่วมหารือแบบทวิภาคี ส่วนช่วงบ่ายการประชุมมีการร่วมลงนามในเอกสารปฏิญญา ภายใต้หัวข้อหลักการประชุมครั้งนี้ คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระทรวงกลาโหมอาเซียนในการเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบใหม่

พล.อ.เตีย บันห์ กล่าวว่า มีความมุ่งหวังในการบรรลุข้อตกลงกับทางการไทย เรื่องการถอนทหารออกจากพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งนี้ คงไม่ได้มีการหารือเจาะจงในเรื่องดังกล่าว แต่หาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ เชื่อว่าจะนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป แต่ยืนยันว่าจะยังคงใช้กลไกที่มีอยู่ในรูปของคณะกรรมการฯชุดต่างๆ ในการเจรจาแก้ไขปัญหา

จากนั้นเวลา 17.00 น. พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ร่วมกันแถลงผลการประชุมร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนลงนามรับรองเอกสารสำคัญ 3 ฉบับประกอบด้วย 1.เอกสารแนวความคิดการใช้ทรัพยากรและศักยภาพทางทหารอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางทหารของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ 2.เอกสารหลักเกณฑ์สำหรับสมาชิกภาพการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับ รัฐมนตรีกลาโหมของประเทศคู่เจรจา และ3.เอกสารแนวความคิดความร่วมมือระหว่างกลาโหมอาเซียนกับองค์กรภาคประชาสังคมในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินการสำหรับให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับกลาโหมอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความมั่นคงรูปแบบใหม่

ส่วนปัญหาผู้หลบหนีชาวโรฮิงญาจัดเป็นภัยคุกคามรูปแบบใด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนลงไปว่า ภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีอะไรบ้างและเป็นอย่างไร คงต้องมีการตั้งคณะทำงานในการดำเนินการเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้อยู่ในกรอบว่า ภัยอย่างไรจะเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่จะร่วมมือกัน

ทางด้านนายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปที่สวนชมพู่เพชรพันธุ์ "เพชรสายรุ้ง" ของนางนาค สุประเสริฐ หรือ "ป้าเรียง" เกษตรกรหมู่ 2 ต.หนองโสน อ.เมือง จ.เพชรบุรี หลังจากชมพู่ของนางนาคได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลไม้ที่ใช้รับประทานภายในห้องพักและสถานที่จัดประชุมของคณะผู้นำอาเซียน โดยนายชาย กล่าวว่า ในอนาคตจะสนับสนุนให้เกษตรกรสวนชมพู่รวมกลุ่มพัฒนาผลิตผล โดยจะประสานความร่วมมือไปยังนักวิชาการด้านการเกษตรมาให้คำแนะนำ โดยเน้นเพาะปลูกด้วยวิธีธรรมชาติไม่เจือสารพิษ พร้อมออกแบบหีบห่อให้สวยงาม และแบ่งระดับคุณภาพและราคาเป็นชมพู่เพชรสายรุ้งระดับดีเยี่ยม ระดับดี และระดับทั่วไป

"เชื่อว่าผู้นำกลุ่มอาเซียนและสื่อมวลชนจะติดใจ อาจสั่งซื้อเข้าประเทศ เป็นการกระจายชื่อเสียงชมพู่เพชรโดยมีผู้นำประเทศและผู้สื่อข่าวทั่วโลกรับรอง ก่อนขยายสู่ตลาดโลกได้" นายชายกล่าว

พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจอำนวยความสะดวกการรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แถลงว่า มั่นใจว่าจะดูแลความเรียบร้อยตลอดการประชุมได้ และมีความพร้อมเต็มที่โดยมีกำลังตำรวจประมาณ 5,700 นาย พร้อมกำลังสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนการเตรียมรับมือกรณีหากมีกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะนี้ได้เตรียมแผนปฏิบัติการไว้ทุกขั้นตอนแล้ว โดยจะใช้แนวทางการเจรจาเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานการเตรียมเดินทางมาชุมนุมในพื้นที่ของทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศแต่อย่างใด

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการตั้งด่านสกัดไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเข้าไปในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ว่า การตั้งด่านจะเป็นลักษณะจุดให้บริการ เหมือนกับช่วงที่เป็นวันหยุดเทศกาล โดยจะมีการตักเตือนผู้ชุมนุมที่จะเดินทางเข้าไปในจุดที่มีการประชุมว่าอย่าสร้างปัญหา ขอให้ให้เกียรติรัฐบาลด้วย แต่หากผู้ชุมนุมจะอ้างว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิจะกีดขวางการเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนที่หัวหินนั้น สามารถไปเที่ยวได้ แต่ไม่ควรสร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไปล้อมบริเวณที่ประชุมอาเซียนซัมมิท

ขณะที่นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกัน ว่า การประชุมครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า จะสร้างความเชื่อมั่นและแก้ปัญหาภาพลักษณ์ประเทศที่ประสบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ และสื่อต่างประเทศที่จะเดินทางมากว่า 500 คน น่าจะเห็นศักยภาพการจัดประชุมนานาชาติได้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถแก้วิกฤตต่างๆได้ ผลสำรวจของเอแบคโพล พบว่า การจัดประชุมครั้งนี้ ร้อยละ 46.8 ระบุว่า มีประโยชน์มากถึงมากที่สุด การประชุมครั้งนี้ มีหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ วันนี้สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลง ไม่มีประเทศไหนต่อสู้ด้านเศรษฐกิจลำพัง ยิ่ง จีน อินเดีย เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ยิ่งส่งผลกระทบเศรษฐกิจขนาดกลางและเล็ก ถ้าอาเซียนรวมตัวกันมีประชาการ 570 ล้านคน มีกำลังซื้อสูง ถ้าสร้างความร่วมมือการค้าการลงทุนอาเซียน ก็จะเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ การค้า การลงทุน ในภูมิภาค และภูมิภาคอื่น นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงการเพิ่มเงินทุนสำรองในอาซียน เพื่อสร้างหลักประกันเงินสำรองในภูมิภาค โดยไม่ต้องพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook