เตือนใช้น้ำยาบ้วนปากมากๆ นานๆ ตุ่มรับรสเพี้ยน
หมอเตือนใช้มากๆนานๆ ทำตุ่มรับรสเพี้ยน เกิดเชื้อราช่องปาก สีฟันเปลี่ยน หินปูนเกิดง่าย ส่วนยาสีฟันอ้างลดแบคทีเรียประสิทธิภาพเท่าการแปรงฟันอย่างถูกวิธี
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.หมอเตือนคนไทยถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกครั้ง เที่ยวนี้เป็น น้ำยาบ้วนปาก หากใช้มากๆนานๆ ทำตุ่มรับรสเพี้ยน เกิดเชื้อราช่องปาก สีฟันเปลี่ยน หินปูนเกิดง่าย ส่วน ยาสีฟันอ้างลดแบคทีเรีย ประสิทธิภาพเท่ากับแปรงฟันอย่างถูกวิธี เผยคนไทย 9 ล้านคนมีกลิ่นปาก พร้อมแนะเทคนิคเช็คกลิ่นปาก
ทพญ.นพมณี วงษ์กิตติไกรวัล ทันตแพทย์กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ประชาชนคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดว่าการใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อกำจัดกลิ่นปาก แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการกลบกลิ่นปากด้วยกลิ่นของน้ำยาบ้วนปากในระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นไม่นานก็กลับมามีกลิ่นปากเช่นเดิม การใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้ไปทำลายเชื้อแบคทีเรียตัวดีที่อาศัยอยู่ในปากให้ตายไปด้วย อาจนำมาซึ่งเชื้อราในช่องปาก รวมถึงการทำให้ตุ่มรับรสของลิ้นเพี้ยนไป หรือมีสีเคลือบผิวฟันที่เปลี่ยนแปลงไป หรือทำให้เกิดหินปูนได้ง่ายขึ้นด้วย
"ไม่เพียงเท่านี้ยาสีฟันที่อ้างว่าโฆษณาว่าสามารถลดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นปากได้ด้วยนั้น ในความเป็นจริงก็พบว่ายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ยาสีฟันจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในปากได้ ซึ่งประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับการกำจัดกลิ่นปากด้วยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันอะไรก็ได้อย่างถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันในซอกฟันส่วนที่แปรงไปไม่ถึง" ทพญ.นพมณี กล่าว
ทพญ.นพมณี กล่าวว่า กลิ่นปากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน ผลิตก๊าซในกลุ่มซัลเฟอร์ ทั้งนี้กลิ่นปากเกิดได้จากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคกรดไหลย้อน หากรักษาโรคเหล่านั้นกลิ่นปากก็จะหายไป แต่กลิ่นปากที่เกิดจากช่องปากนั้นจะเกิดตลอดเวลาจนกว่ารักษาโรคในช่องปากเช่น โรคปริทันต์ โรคเหงือก ฟันผุ ฯลฯ
"อุบัติการณ์ทั่วโลกของผู้ที่มีกลิ่นปากอย่างแท้จริงรวมถึงกลุ่มที่วิตกไปเอง มีประมาณ 15-40% ของประชากรทั้งประเทศ ในไทยจะมีประมาณ 15% ประชากรทั้งหมด แต่ก็มีทั้งผู้ที่วิตกไปเองว่ามีกลิ่นปาก กับกลุ่มที่เคยมีแต่รักษาหายขาดไปแล้วก็ถือว่ามีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน"
ทพญ.นพมณี กล่าวว่า วิธีการตรวจว่ามีกลิ่นปากจริงหรือไม่นั้น ทำได้โดยการสังเกตจากคนรอบข้าง หรือเอาช้อนมาขูดลิ้นแล้วทิ้งไว้ 5 วินาที จากนั้นนำมาดม หากพบว่ามีกลิ่นเหม็นก็แนะนำให้มาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คปัญหาในช่องปาก รักษาฟันผุ โรคเหงือก ก็ทำให้กลิ่นปากหายไป