มาร์คปลื้มประชุมอาเซียนฉลุย ชี้ โรฮิงญา ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้
เปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มกลุ่มอาเซียน ครั้ง 14 ถกทวีภาคีไทย-มาเลย์ จับมือแก้ปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้ อภิสิทธิ์ปลื้มประชุมอาเซียนราบรื่น ระบุปัญหาโรฮิงญาทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ ไทยยืนยันสนับสนุนและช่วยเหลือพม่าเต็มที่
(27 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำคนแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทย เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 หรืออาเซียนซัมมิท คือ สมเด็จฯ ฮุนเซน ผู้นำของกัมพูชา โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ท่าอากาศยานหัวหิน ส่วนผู้นำประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย พม่า ลาว อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน จะทยอยเดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 18.30 น. สำหรับผู้นำจากฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะเดินทางมาถึงในช่วงเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
สำหรับกำหนดการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่โรงแรมดุสิตรีสอร์ท อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันนี้จะเป็นหารือของรัฐมนตรีต่างประเทศทั้ง 10 ประเทศ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้ร่วมหารือทวิภาคีกับรมว.ต่างประเทศของมาเลเซีย ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 09.00-09.30น. จากนั้นในเวลา 09.30-10.30 น. เป็นการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการหารือทวิภาคีระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ ดร.ราอิส ยาติม รัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ที่เมื่อขึ้นในช่วงเช้าเป็นเวลากว่า 20 นาทีว่า เป็นการพบปะกันเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ไทยกับมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และยังได้มีการพูดถึงการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝ่ายมาเลเซียยืนยันให้ความร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ และเห็นพ้องว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาของไทยเดินมาถูกทางแล้ว ด้วยการใช้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในลักษณะ 3 E คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจ การสร้างงานและการส่งเสริมเป็นเจ้าของกิจกรรม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียเห็นว่า ผู้นำของ 2 ประเทศน่าจะร่วมกันลงไปในพื้นที่ดังกล่าวให้มากขึ้น เช่น การจัดประชุมเจบีซี ที่จะมีกำหนดวันที่กันอีกครั้ง และจัดให้มีพบปะประจำปีของผู้นำ 2 ประเทศ รวมถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของประชาชนทางตอนเหนือมาเลเซียกับประชาชนทางตอนใต้ของไทย นอกจากนี้ สองฝ่ายยืนยันจะร่วมมือกันในแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจของ 3 ฝ่าย (อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย) โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้มากขึ้น และเดินหน้าโครงการ Southern Sea Board
นายกษิต กล่าวว่า นายกษิตได้แสดงความพร้อมในพระราชพิธีต้อนรับพระราชาธิบดีของมาเลเซีย ที่จะเสด็จฯ เยือนประเทศอย่างเป็นทางการ ในฐานะ State visit ในระหว่างวันที่ 9 - 12 มีนาคมนี้
ที่ประชุมรมต.อาเซียนมีมติถกปัญหาโรฮิงญา
เมื่อเวลา 13.50 น. นายกษิต แถลงถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่มีขึ้นเมื่อช่วงในวันนี้ (27 ก.พ.) โดยนายกษิตได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 9 ประเทศของสมาชิกอาเซียน เพราะตนเพิ่งมาใหม่ แต่ได้รับความร่วมมือและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ที่พัทยา ซึ่งจะช่วยกระชับความร่วมมือของอาเซียนด้านมนุษยธรรม กรณีเหตุการณ์พิบัติภัย เช่นสึนามิ โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกันด้านความมั่นคง ไม่เฉพาะสงคราม หรือก่อการร้าย ทั้งนี้ ที่ประชุมยังจะเชิญรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ในครั้งต่อไปด้วย
นายกษิต กล่าวว่า ที่ประชุมยินดีที่ประเทศพม่าตัดสินใจรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน กรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กีส เพิ่มขึ้นอีก 1 ปี เนื่องจากในปีหน้าพม่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบัน จึงไม่อยากตัดสินใจแทนรัฐบาลใหม่ เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลใหม่ของพม่าจะพิจารณาแผนการฟื้นฟูจากเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กีสอีกครั้ง
นายกษิต กล่าวว่า ในส่วนการบริหารกิจการภายในอาเซียนนั้น ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณ ปี 2552 โดยให้ขึ้นเงินเดือนของเลขาธิการอาเซียน และรองเลขาธิการอาเซียน เพราะเงินที่ได้รับต่ำกว่ามาตรฐาน และมีสภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบว่าจะมีการจัดประชุมอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และอาเซียนบวก 6 (อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ในวันที่ 10-12 เมษายนนี้ โดยรัฐบาลไทยจะกำหนดสถานที่และเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนอีกครั้ง
นายกษิต กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการเยือนของนางฮิลรารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ว่า นางฮิลรารีอยากกลับมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยากสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับอาเซียน
นายกษิต กล่าวถึงกรณีชาวโรฮิงญาว่า สำหรับปัญหาผู้อพยพใฝ่หาชีวิตที่ดีกว่าซึ่งมาทางทะเล เช่น ชาวโรฮิงญา โดยได้มีการตกลงกันว่าจะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใต้กระบวนการบาหลี ทั้งนี้เราก็ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลพม่าพร้อมรับชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า ชาวเบงกอล กลับประเทศ แต่สำหรับชาวโรฮิงญานั้นก็จะปรึกษากันต่อไป โดยรัฐบาลพม่าจะปรึกษาบังกลาเทศ จากนั้นจะมีการนำปัญหาชาวโรฮิงญาเข้าสู่ที่ประชุมกระบวนการบาหลี ในวันที่ 14-15 เมษายนนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ประสานกับพม่า เพื่อสำรวจและแยกแยะชาวเบงกอลที่มีอยู่ในพม่าว่ามีจำนวนเท่าไร แล้วนำรายงานสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรอบเวลาการดำเนินการไว้อย่างไร นายกษิต กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากชาวโรฮิงญา มีกระจายอยู่ในหลายประเทศ ทั้งประเทศต้นทาง และระหว่างทาง ซึ่งต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ประกอบด้วย ล่าม วิธีการแยกแยะกลุ่มคน และที่สำคัญคือต้องได้รับความร่วมมือกับทางพม่า
อภิสิทธิ์ถึงที่ประชุมอาเซียนแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นเวลา 14.05 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาถึงที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน โดยนั่งรถเล็กซัสสีทำ ทะเบียน THA 1 ซึ่งมีรถนำขบวนและปิดท้ายตามแบบฉบับการต้อนรับผู้นำประเทศอาเซียนที่เดินทางมาร่วมประชุม และเป็นที่น่าสังเกตว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ไม่มีภริยาร่วมเดินทางมาด้วย โดยเมื่อเดินทางมาถึงนายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมมอบกระเช้าชมพู่เมืองเพชรให้กับนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆว่า จากที่ดูบรรยากาศในการเดินทางมาจนถึงสถานที่จัดการประชุม ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี
จากนั้นเวลา 14.30 น. ที่โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทางทีมโฆษกรัฐบาลได้จัดให้รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชน ที่อาจเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน
ผู้นำมาเลเซียหนุนส่งผู้อพยพชาวโรฮิงญากลับบ้านเกิด
นายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อาหมัด บัดดาวี ของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่หัวหิน พูดถึงกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญาว่าเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขซึ่งทุกชาติต้องมีจุดยืนที่แน่วแน่ พร้อมเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหานี้ และที่สำคัญ ต้องส่งคืนผู้อพยพเหล่านี้กลับคืนบ้านเกิด
ผู้นำมาเลเซียยังได้พูดพาดพิงถึงรัฐบาลทหารพม่าที่บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของตน ทั้งที่คนเหล่านั้นลี้ภัยออกจากพม่า และว่ามาเลเซียรู้สึกว่าปัจจัยหลายอย่างกำลังทำให้ชาวโรฮิงญาเปลี่ยนจุดหมายของการอพยพจากประเทศไทย ไปเป็นชาติอื่นรวมถึงมาเลเซียซึ่งตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในที่หมายของชาวโรฮิงญาที่ต้องการหนีความยากจนและการถูกกดขี่รัฐบาลทหารพม่าอยู่แล้ว
แม้กลุ่มสิทธิมนุษยชนจะเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนหยิบยกประเด็นนี้เข้าหารือในที่ประชุมสุดยอด แต่เลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการบรรจุประเด็นนี้เข้าสู่วาระการประชุมอย่างเป็นทางการ แต่จะมีการหารือนอกรอบ
"อภิสิทธิ์"หน้าบานประชุมอาเซียนราบรื่น
เมื่อเวลา 17.40 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน นายอภิสิทธิ์ แถลงผลการหารือทวิภาคี ว่า ตนมาถึงหัวหินเมื่อช่วงบ่าย ได้รับทราบว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีความรู้สึกร่วมกันในความจำเป็นของการร่วมมือกันในภูมิภาค ในส่วนของตนได้หารือทวิภาคีกับนายกฯ 3 ประเทศ คือ พม่า มาเลเซีย และกัมพูชา ในส่วนของพม่า ได้มีการแลกเปลี่ยนการที่เรายังจำเป็นจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด แรงงาน และอื่นๆ ขณะดียวกันไทยซึ่งมีบทบาทในการให้การสนับสนุนช่วยเหลือพม่า ในช่วงประสบภัยธรรมชาตินาร์กีส ก็ยังยืนยันที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป ทั้งในส่วนสถานีอนามัยในชนบท การบูรณะวัด และสถานที่สำคัญทางศาสนา
นอกจากนั้นสิ่งสำคัญคือ ในส่วนของการทำงานของคณะทำงาน 3 ฝ่าย หรือ ทีซีจี ก็จะหมดอายุลงแล้ว แต่ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการต่ออายุต่อไป ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการยืนยันการมีส่วนร่วม 3 ฝ่าย คือ ยูเอ็น อาเซีน และพม่า ซึ่งเราให้การสนับสนุนและยินดีที่พม่ายังมีความร่วมมืออยู่ในกรอบต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะการรับความช่วยเหลือ แต่ความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาคอื่นๆ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องภายในของพม่านั้น นายกฯพม่าก็ได้พูดถึงการเดินหน้าตามแผนการที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งไทยก็ต้องการให้พม่าดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ และต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด และหวังว่าบทบาทของเลขายูเอ็นในการไปเยือนพม่าก็จะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่ชัดเจนในส่วนของการเมืองภายในประเทศที่มีการพัฒนากันอยู่
สำหรับนายกฯกัมพูชานั้น ก็ได้มีการพูดถึงประเด็นความร่วมมือต่างๆ ปัญหาที่กระทบกระทั่งกันในเรื่องชายแดนนั้น ว่าเห็นตรงกันว่าขณะนี้เรามีกรอบความเข้าใจและกลไกที่ดีที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งก็คือ เจบีซี และยืนยันจะให้กลไกเหล่านั้นเดินหน้าทำงานต่อไป สิ่งที่พูดกันมากขึ้นคือเรื่องความเป็นไปได้ในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ความร่วมมือทางพลังงาน ซึ่งก็ไม่มีปัญหา ความคิดเห็นที่ไม่ต่างกันในเชิงเป้าหมาย แต่เป็นเรื่องของเทคนิค ซึ่งคณะทำงานฝ่ายเทคนิคจะต้องไปดูต่อว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร นอกจากนั้น เป็นเรื่องความร่วมมือโครงสร้างระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีการพูดถึงสามเหลี่ยมรกต และการเร่งรัดแนวคิดที่จะใช้วีซ่าร่วมกันสำหรับการท่องเที่ยวไทยกัมพูชา
สำหรับนายกฯมาเลเซีย นอกเหนือจากการยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือทวิภาคีแล้ว ตนก็ได้แจ้งให้ทราบในแนวนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนามากยิ่งขึ้น และต้องการผลักดันความร่วมมือกับมาเลเซีย ซึ่งก็มีความร่วมมือด้านการศึกษา การสร้างโอกาส สร้างงาน และโอกาสทางธุรกิจ ในพื้นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาเลเซียยืนยันว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในกรอบที่ได้พูดคุยกันไว้ต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สุดท้าย หากตนได้พบกับ ลอร์ด มาร์ลิก บราวน์ ซึ่งพูดถึงความก้าวหน้าในการเตรียมการ จี 20 โดยเฉพะบทบาทที่ตนในฐานะประธานอาเซียนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือมีการพูดถึงวาระการประชุม ซึ่งต้องครอบคลุมปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความเติบโต หรือหยุดยั้งการหดตัวทางเศรษฐกิจ และต้องครอบคลุมถึงปัญหาระยะยาวด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้อีก
นอกจากนี้มีการสอบถามถึงปัญหาชาวโรฮิงญา ซึ่งกับทุกประเทศที่ตนได้พูดคุย ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาต้องแก้ไขในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหา และทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจในการที่จะรักษาเป้าหมายด้านความมั่นคงของทุกประเทศ ขณะเดียวกันก็ไม่กระทบกับสิทธิมนุษยชน
ส่วนปัญหาเรื่องเขาพระวิหารนั้น จากการหารือกับกัมพูชาก็เห็นตรงกันว่า กลไกที่มีอยู่ยังทำงานได้ไม่มีปัญหา แน่นอนว่าการเจรจาอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นสำคัญคือทั้ง 2 ฝ่ายยังยืนยันว่ากลไกนี้ยังทำงานได้อยู่ และไม่ควรให้ปัญหานี้มาเป็นอุปสรรคของความร่วมมือในด้านอื่นๆ
ส่วนเรื่องปัญหาชาวโรฮิงญาก็ไม่ได้คุยอะไรกับนายกฯพม่าเป็นพิเศษ เพราะก็รับหลักการเนื่องจากจัดตั้งคอนแทรคกรุ๊ปขึ้นมา และต้องการให้เรื่องนี้พูดคุยในระดับอาเซียนด้วย รวมถึงกระบวนการบาหลี ซึ่งก็ไม่ได้มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ส่วนการส่งกลับผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น ในหลักการก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะถ้าเราสามารถพิสูจน์ที่มาได้ก็มีกระบวนการที่จะส่งกลับไปได้อย่างเรียบร้อย ซึ่งหลักการนี้ทุกฝ่ายก็ยอมรับ ดังนั้นคิดว่าปัญหานี้อาจจะสามารถแก้ไขได้หลังจากทุกประเทศร่วมมือกัน ตนเชื่อว่ากระบวนนี้จะแก้ปัญหาสำเร็จ อย่างไรก็ตามเรื่องการส่งผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น แต่ละประเทศก็มีภาระหน้าที่ของตนเอง ความรับผิดชอบของเราในการรักษาความมั่นคง และแนวปฏิบัติต่อผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดความร่วมมือในการหารือร่วมกันในภูมิภาคนี้ก็จะช่วยลดปัญหาว่าเมื่อส่งไปที่ไหนแล้วจะไม่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก
เมื่อถามว่าผู้นำประเทศต่างๆ ได้ซักถามหรือแสดงความวิตกกังวลสถานการณ์ของไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีข้อวิตกกังวลอะไร เพราะจริงๆ แล้วเขาก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ที่เสถีรยภาพได้กลับมาสู่การเมืองของเรา ไม่เช่นนั้นเราก็จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตนคิดว่าสิ่งนี้เป็นคำตอบในตัวอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากนายกฯเดินเที่ยวตลาดโต้รุ่งหัวหินเสร็จ ก็ได้มารับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารหัวหิน (โกทิ) ซึ่งรายการอาหารประกอบด้วย ออส่วน คะน้าหมูเค็ม ปลาจาระเม็ดทอด ผัดขี้เมาทะเล หมูผัดพริกหยวก ปูผัดผงกระหรี่ ห่อหมกทะเล และต้มย้ำกุ้ง ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่มายืนชื่นชม และขอถ่ายรูปเป็นระยะๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว นายกฯ ไปตรวจความเรียบร้อยที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพื่อจะไปมาร์คจุดในการจัดงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.)