ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ “ความเสี่ยงทีมกู้ภัย”ภารกิจช่วยเหลือนศ.ตกเหวล่าช้า

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ “ความเสี่ยงทีมกู้ภัย”ภารกิจช่วยเหลือนศ.ตกเหวล่าช้า

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ “ความเสี่ยงทีมกู้ภัย”ภารกิจช่วยเหลือนศ.ตกเหวล่าช้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์ที่นักศึกษาไทยสองคนที่ศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ขับรถยนต์ตกเหวในอุทยานแห่งชาติคิง แคนยอน พาร์ค เมืองเฟรสโน สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไร้วี่แววการช่วยเหลือ และถูกเลื่อนเวลาการช่วยเหลือออกไปหลายครั้ง จนทำให้ญาติของนักศึกษาไทยทั้งสองคนไม่พอใจ และเข้ายื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ขอให้เร่งกู้ร่างนักศึกษาให้เร็วที่สุด และตั้งคำถามถึงการช่วยเหลือที่ล่าช้า

นพ.สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู แพทย์เวชศาสตร์การบิน และเป็นแพทย์ประจำทีมปีนเขาเอเวอร์เรส เปิดเผยกรณีการที่ทีมกู้ภัยจะลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีของนักศึกษาไทยสองคนที่ขับรถตกเหว ในรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ว่า หากต้องลงไปช่วยต้องแยกเป็น 2 กรณีคือ ช่วยชีวิตคน กับ กู้ร่าง ในกรณีต้องช่วยชีวิตเมื่อผู้ประสบภัยยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีการรอก็จะทำทุกวิถีทางที่จะช่วยได้ต่อให้อันตราย ก็จะประเมินและหาวิธีที่ปลอดภัยที่สุดแล้วลงไปช่วยในขณะนั้นที่เจอทันที ส่วนภารกิจการเก็บกู้ร่างหรือเก็บกู้ซากรถนั้นทีมกู้ภัยจะรักษาตัวคนที่ลงไปช่วยไม่เสี่ยงโดยที่ไม่จำเป็น และไม่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ประสบภัย

“เมื่อคนปกติตกลงไปในน้ำที่เย็นจัดโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความหนาวเลย หรือต่อให้มีเสื้อกันหนาวหากมีการใส่ไปจริงๆ น้ำก็ซึมเข้าไปในเสื้ออยู่ดีและน้ำจะนำความร้อนออกจากเสื้อเร็วมาก และอุณหภูมิในร่างกายก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว หากต้องอยู่ในสภาพนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็คิดว่าไม่น่าจะมีชีวิตรอดแล้ว และยิ่งน้ำที่พัดเร็วก็ยิ่งทำให้พัดพาความร้อนไปจากร่างกายเร็วขึ้น ส่วนตัวคิดว่าทีมกู้ภัยน่าจะประเมินแล้วว่าทั้งคู่เสียชีวิตแล้ว โดยทีมกู้ภัยจะมีหลักสากลเหมือนกันทั้งโลกคือ ทีมที่เข้าไปกู้ภัยต้องประเมินความปลอดภัยของเราเป็นหลัก สถานที่ที่เข้าไปต้องปลอดภัย และไม่ทำให้ตัวเองเป็นผู้ประสบภัยเพิ่มเติม”

แพทย์เวชศาสตร์การบิน ระบุว่า ส่วนการใช้วิธีโรยตัวต้องดูสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาที่สูงประมาณ 3,000 เมตร และเป็นช่องเขาที่แคบลมจะมีความแรง การที่จะโรยตัวลงไปนั้นจะมีความเสี่ยงในการโรยตัวจากลม เมื่อลงไปได้ก็จะเจอกับน้ำเย็นจัดถึงแม้จะใส่ชุดป้องกันความหนาว ก็จะทำงานได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และเมื่อเป็นที่สูงประมาณ 3000 เมตร เหมือนเราโดนจำกัดขีดความสามารถไปอีก เพราะออกซิเจนจะน้อยลง ช่วยเหลือได้สักพักก็จะเหนื่อย ความเสี่ยงของลมที่พัดแรงและน้ำเย็นจัด ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงกับคนที่ลงไปช่วยอยู่เหมือนกัน จากการติดตามข่าวของทีมกู้ภัยที่สหรัฐฯที่มีการประเมินว่าอีกวันสองวันกระแสน้ำจะเบาลงและคิดว่าจะช่วยได้ ส่วนการใช้เฮลิคอปเตอร์นั้นไม่สามารถใช้ได้ เพราะอาจจะทำให้ตกได้ เนื่องจากเป็นหุบเขาที่แคบ อยากที่เฮลิคอปเตอร์จะบินรักษาระดับได้

“ความสูงของหุบเขาที่รถตกลงไปในเหวนั้นมีความสูง 3,000 เมตร สภาพอากาศของหุบเขาไม่เหมือนกับประเทศไทย หากเทียบกับประเทศไทยสูงสุดคือดอยอินทนนท์ ประมาณ 2,800 เมตร ซึ่งลมกระโชกจะมาเป็นพักๆ ซึ่งลมพวกนี้ทำนายไม่ได้และมีความรุนแรงได้ถึง100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว หากเราอยู่ที่เกิดเหตุก็จะประเมินได้ดีกว่า การเห็นแค่ภาพ ซึ่งจากภาพอาจจะเห็นว่าใบไม้นิ่งสงบไม่มีลม แต่การกู้ภัยไม่ได้ใช้เวลาแค่ 10-20 นาที ซึ่งลมจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วทางสหรัฐฯเป็นคนในพื้นที่ก็น่าจะทราบและประเมินสภาพอากาศได้ดี และไม่สามารถจะเทียบกับอากาศในประเทศอื่นๆ หรือประเทศไทยได้” นพ.สรฤทธิ์ อธิบาย

ขณะที่นายเอกชัย ลุงของนายภคพลหนึ่งในนักศึกษาไทยที่ประสบอุบัติเหตุ ได้เดินทางไปที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อยื่นคำร้องขอให้นายปีเตอร์ เอ็ม.เฮย์มอนด์ อัครราชทูตที่ปรึกษาสหรัฐอเมริกา เร่งประสานให้หน่วยงานในสหรัฐฯ กู้ร่าง 2 นักศึกษาขึ้นมาจากเหวลึกกว่า 150 เมตร เนื่องจากขณะนี้ล่วงเลยกว่า 2 อาทิตย์แล้ว หากรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่สามารถกู้ร่างนักศึกษา 2 คน ขึ้นมาได้ ก็ขอให้ออกวีซ่าให้อาสาสมัครของไทยไปกู้ร่าง

พร้อมระบุว่าหากนักศึกษาทั้ง 2 คนเป็นชาวสหรัฐอเมริกาอาจไม่มีเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น หลังจากนี้หากยังไม่เห็นหน่วยงานของรัฐแคลิฟอร์เนีย ดำเนินการกับเรื่องนี้ จะนำเพื่อนนักศึกษาของนายภคพลไปกดดันหน้าสถานทูตอีกครั้ง และเชื่อว่าหากทีมกู้ภัยสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะช่วยเหลือนำร่างของหลานชายและเพื่อนขึ้นมา ย่อมทำได้ เพราะไม่น่าจะใช่เรื่องยาก และหากทางสหรัฐอนุญาต ก็จะประสานกู้ภัยไทยให้เข้าไปช่วยเหลือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook