แม่ค้าหัวหินรุมด่าม็อบเสื้อแดง! หวิดตะลุมบอนสุดท้ายยอมล่าถอย
แม่ค้าหัวหินรุมด่าเสื้อแดงหวิดตะลุมบอนสุดท้ายล่าถอย ถก3ปท.ไทยเสนอเชื่อม"เซาท์เทิร์นซีบอร์ด"ชูเที่ยวเชิงสุขภาพ ม็อบอ้างเป็นกลุ่ม"เสื้อแดงเพื่อปชต.แท้จริง" รวมตัวที่หอนาฬิกาหัวหินใกล้ที่ประชุมอาเซียน "กษิต"ตอบรับเยือนพม่าปลายมี.ค. เร่งแก้ปม"โรฮิงญา" ผบ.ตร.เผยมีกลุ่มผู้ชุมนุมป้วนเปี้ยน
แม่ค้าหัวหินรุมด่าเสื้อแดงหวิดตะลุมบอนสุดท้ายล่าถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ไม่สวมเสื้อแดงประมาณ 20 คน เดินทางโดยรถตู้ มาชู้ป้าย ข้อความต่างๆพร้อมปราศรัยขับไล่นายกษิต ภิรมย์ รมต.ต่างประเทศ ที่บริเวณหอนาฬิกาหัวหิน ที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนเพชรเกษมและถนนแนบเคหาสน์ ใจกลางเมืองหัวหิน
หลังจากชูป้ายประท้วงเสร็จได้พากันไปนั่งกินไอศครีม ในร้านซาเวนเซ่น ริมถนนเพชรเกษมขาล่องใต้ ประมาณ 15 นาที ได้มีกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าในตลาดสด หัวหิน ประมาณ 10 คน มาตะโกนด่ากลุ่มที่ประท้วง จนมีแกนนำกลุ่มเสื้อแดงได้ออกมาบอกนอกร้านว่า "มาด่าพวกผมอย่างนี้ได้อย่างไร ผมเป็นถึงดอกเตอร์" แต่ถูกกลุ่มแม่ค้า ตะโกนกลับว่า "ด๊อก นะมันแปลว่าหมานะโว้ย" และต่อมายังมีการโต้เถียงด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกประมาณ 10 นาที จนเกือบเกิดศึกตะลุมบอนก่อนที่กลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าวจะพากันล่าถอยออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว
แกนนำเสื้ออยุธยาเตือนเพื่อนพักร้อนหัวหิน ให้กลับบ้านด่วน
นางมยุรี เศวตาศัย แกนนำชมรมคนเสื้อแดงอยุธยา กล่าวว่า ได้แจ้งไปยังสมาชิกชมรมคนเสื้อแดงอยุธยาจำนวนเกือบ 20 คน ที่เดินทางไปพักผ่อนและท่องเที่ยวบริเวณหาดชะอำ จ.เพชรบุรี และหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กลับบ้านในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในชีวิต เพราะมีข่าวว่ามีการเตรียมกลุ่มคนเอาไว้เผชิญหน้าหรือเตรียมดักทำร้าย
นางมยุรี กล่าวอีกว่า ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์จอดรถในพื้นที่ใกล้บ้านพัก เพื่อสังเกตพฤติกรรมของตน นอกจากนี้ยังมีชายลึกลับโทรศัพท์มาหาตลอด และพยายามถามว่าจะออกไปไหน เมื่อขับรถออกจากบ้านก็จะมีรถยนต์ขับตามอย่างกระชั้นชิด อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งไปยังเพื่อนกลุ่มคนเสื้อแดงในทุกจังหวัดและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ให้ทราบได้
ถก3ปท.ไทยเสนอเชื่อม"เซาท์เทิร์นซีบอร์ด"ชูเที่ยวเชิงสุขภาพ
ที่โรงแรมดุสิตธานี จ.เพชรบุรี นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย (IMT-GT Summit) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ว่า การประชุมเป็นไปด้วยดี มีการย้ำถึงเป้าหมายระยะยาวว่า ความร่วมมือจะดำเนินการต่อไป แม้ว่าจะมีการผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม มีหารือหลายเรื่อง เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาหารฮาลาล การเกษตร การขนส่งและการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน มีการพูดถึงกรอบความร่วมมือหลายเรื่อง เช่น กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน การเชื่อมต่อและการเดินทางของสินค้าและคนข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องการท่องเที่ยว เราตั้งใจปี 2009 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง (Celebration Year) มีการพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงการรักษาสุขภาพ (Medical Tourism) และความเป็นไปได้ในการโปรโมทแผนการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ (Joint Package)
นายวีระชัย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทย เช่น ความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทางภาคใต้ หรือ Southern Sea Board กับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า แนวคิดการเชื่อมโยง Southern Sea Board กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาให้เร็วที่สุด เพื่อการร่วมพัฒนากันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เสนอความเห็นว่าควรมีการพูดถึงการดึงความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ ในประเด็นนี้ด้วย โดยเฉพาะ ประเทศแถบตะวันออกกลาง
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ยังได้ขอความร่วมมือนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ในการเชื่อมโยงด้านพลังงาน หรือ Energy Land Brige โดยเฉพาะก๊าซและน้ำมัน ร่วมทั้งยังได้ขอความร่วมมือจากอินโดนีเซียในการสนับสนุนเรื่อง ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งก๊าซที่สำคัญ
นายวีระชัย กล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์ยังเรียกร้องให้กระชับความร่วมมือระหว่างกลุ่ม IMT-GT ให้มากยิ่งขึ้นกับอาเซียน และกรอบความร่วมมือของอาเซียนเช่น การย้ำจุดยืนให้ภาคเอกชนเป็นตัวนำทาง โดยยกตัวอย่างที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมโปรโมทการท่องเที่ยวปีที่แล้ว ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง และยังพูดถึงเรื่อง Governer Forum ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศมีการมาประชุมพบปะ เพื่อผลักดันแผนงานให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นด้วย
เสื้อแดงเพื่อปชต.แท้จริงก่อม็อบใกล้ที่ประชุมอาเซียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหอนาฬิกาเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งห่างจากสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประมาณ 10 กิโลเมตร ได้มีกลุ่มประชาชนกว่า 10 คน เรียกตัวเอง "กลุ่มเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" แต่ไม่ได้สวมเสื้อแดง ได้รวมตัวยืนถือป้ายพร้อมกับอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาบังคับใช้ และให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน
นอกจากนี้ ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน กลุ่ม"พีช ฟอร์ เบอร์ม่า" ภายใต้การสนับสนุนขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กว่า 10 คน ได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรอบตัวเมืองหัวหิน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเรียกร้องให้กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ท่ามกลางการจับตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด
"กษิต"ตอบรับเยือนพม่าปลายมี.ค. เร่งแก้ปม"โรฮิงญา"
นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกมรสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการหารือทวิภาคีของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายญาณ วิน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า ว่า เป็นการหารือทวิภาคีกันเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่นายกษิตเข้ารับตำแหน่ง โดยได้มีการหารือกันในหลายเรื่อง โดยทางพม่าได้เชิญนายกษิตเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ไทยกับพม่ามีชายแดนติดกัน จึงต้องการใช้ความเหมือนทางอารยะธรรม และการนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกันมาเป็นจุดร่วมของการกระชับความสัมพันธ์ระดับประชาชน
นายธฤต กล่าวว่า ในการหารือกันครั้งนี้มีการพูดถึงปัญหาโรฮิงญา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า พม่าเคยตกลงกับบังกลาเทศในการแก้ปัญหาบริเวณชายแดนมาบ้างแล้ว โดยมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) มาร่วมดูการแก้ปัญหานี้ด้วย
ผบ.ตร.เผยมีกลุ่มเสื้อแดงอยู่ใกล้เวทีประชุมอาเซียน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง แถลงเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ภายหลังร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ตำรวจภูธรภาค 7 กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ว่า ได้มอบหน้าที่ให้ทุกฝ่ายเริ่มปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยตนมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะเจ้าหน้าที่ได้ประชุมเตรียมการไว้เป็นอย่างดี แต่ตนก็จะไม่ประมาท และพร้อมจะทุ่มเทอย่างเต็มที่
พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดเผยว่า จากการข่าวตรวจสอบแล้วพบว่าขณะนี้มีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 10 คน เข้ามาอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งเป็นกลุ่มของนักวิชาการ โดยขณะนี้มีการส่งกำลังเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว ขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองขณะนี้ยังไม่มีอะไร อย่างไรก็ตาม คิดว่าทั้งสองกลุ่มจะมีความรักชาติเหมือนกัน และจะสามารถเจรจาได้รู้เรื่อง
นายกฯมาเลเซียแนะอาเซียนร่วมกันฝ่าวิกฤตการเงิน
นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ของมาเลเซีย เปิดเผยภายหลังหารือนอกรอบกับนายกรัฐนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการประชุมอาเซียนเมื่อวานนี้(27 ก.พ.) ว่า ดีใจกับความคืบหน้าของอาเซียนที่มีอายุ 42 ปีแล้ว โดยความร่วมมือและความเข้าใจอันดี รวมถึงความเต็มใจที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีทั้งสันติภาพและเสถียรภาพ และแม้มีความวิตกว่าปัญหากรรมสิทธิในดินแดนพิพาท เช่น เกาะสแปรตลีย์ จะกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ แนวโน้มที่ชาติสมาชิกจะร่วมมือและแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน
ผู้นำมาเลเซีย กล่าวว่า ชาติอาเซียนจะต้องร่วมมือกันมากกว่าที่เคยเป็นมาเพื่อฝ่าฝันวิกฤติการเงินให้ได้ และตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการค้าภายในภูมิภาค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อผลประโยชน์ของทุกชาติ
"กอร์ปศักดิ์"ชี้ลงนามในกรอบอาเซียน ไทยได้ประโยชน์
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงการลงนามความตกลง ภายใต้กรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวานนี้(27 ก.พ.) ว่า ความตกลงดังกล่าวข้างต้น จะเป็นพื้นฐานสำคัญเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการอาเซียน ในการขยายตลาดสินค้าการบริการ และการลงทุนออกไปภายนอกภูมิภาค ในขณะที่นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยอมรับว่า การจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และจะเป็นการขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
ในปีที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่า 14,537 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า สำหรับสินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ เหล็ก อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ในปีที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายขาดดุล โดยสินค้าส่งออกคือเหล็กและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร
นายกฯเตรียมหารือทวิภาคีกับเพื่อนบ้าน3ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ว่า ผู้นำอาเซียนได้เดินทางถึงประเทศไทยครบทุกประเทศแล้ว และจะเป็นครั้งแรกหลังจากกฎบัตรอาเซียนมีผลใช้บังคับ ที่ภาคประชาสังคมจะได้มีโอกาสพบหารือกับผู้นำอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎบัตร โดยในวันนี้มีผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน ภาคประชาสังคมอาเซียน รวมทั้งผู้นำสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมผลักดันความคิดเห็นจากภาคประชาชน ต่อเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสุดยอดแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ครั้งที่ 4 และการประชุมสุดยอดพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 4 ฝ่าย คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 5 อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะหารือทวิภาคีกับผู้นำสิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน
รปภ.อาเซียนซัมมิทเข้มงวด ยังไร้เงาเสื้อแดง
ส่วนบรรยากาศการประชุมสุดยอดอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในวันนี้ (28 ก.พ.) มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมากขึ้น มีการกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั่วบริเวณโรงแรมพร้อมชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดและหน่วยกู้ชีพ ส่วนถนนเพชรเกษมมีจุดตรวจเพิ่มขึ้น รวมเป็น 3 จุด พร้อมห้ามจอดรถตลอดเส้นทาง ส่วนหน้าท่าอากาศยานหัวหินยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกตามปกติ
ทั้งนี้การเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในเวลา 14.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย จะได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน และผู้นำทั้ง 10 ชาติจะถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ซึ่งการเตรียมสถานที่ ห้องรอยัลดุสิตฮอลล์ และสนามด้านข้างมีความพร้อมและเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด
เวทีอาเซียนยังไม่ได้ข้อยุติโรฮิงญา
ก่อนหน้านี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ระดับเวทีต่างๆ ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เริ่มปรากฏผลการประชุมออกมาแล้ว โดยในเวทีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะมนตรีประสานงานอาเซียน แถลงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่หารือระหว่างรับประทานอาหารค่ำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และประชุมต่อในเช้าวันเดียวกันนี้ ได้รับทราบผลประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่ขยายวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเด็นที่หารือกันมากคือปัญหาของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งจะทำสองระดับ คือ สมาชิกอาเซียนช่วยเหลือกันเอง เพราะเป็นปัญหาที่หลายประเทศประสบ และจะร่วมมือในกรอบกระบวนการบาหลี ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลพม่าว่า เมื่อช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือแล้วถ้าเป็นชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่าชาวเบงกอล หรือโรฮิงญาก็เป็นเรื่องต้องปรึกษาหารือกันต่อไป นอกจากนี้รัฐบาลพม่าจะปรึกษาหารือกับรัฐบาลบังกลาเทศด้วย และจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือในกรอบกระบวนการบาหลีต่อไป ทั้งนี้ พม่าระบุว่าพร้อมรับชาวเบงกอลถ้ามีที่อยู่ที่ชัดเจนพิสูจน์ แต่โรฮิงญาไม่อยู่ในสารบบ เรื่องอยู่แค่นี้ยังไม่ได้ข้อยุติ
ชุดมนตรีศก.ค้านนโยบายปกป้อง
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แถลงว่า การประชุมวันแรกเนื้อหามีไม่มากนัก พูดถึงหลักการกว้างๆ คือว่า จะทำงานร่วมกันในรูปแบบไหนและอย่างไร อีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องธุรกิจภาคเอกชน
ทั้งนี้สื่ออาจรู้สึกว่าการประชุมครั้งนี้อาจไม่ได้มีสาระที่สำคัญมากนัก แต่อยากเรียนว่าเป็นการประชุมครั้งแรก ต้องไปดูเรื่องกฎบัตร เรื่องต่างๆ ว่าจากนี้ไปจะทำงานกันในรูปแบบไหนอย่างไร เรามีการพูดถึงว่าภาคเอกชนมีส่วนร่วมด้วยน้อยไป น่าจะได้มีการเปิดช่องให้เอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ท้ายที่สุดมีการพูดคุย ซึ่งได้ข้อกำหนดว่า อย่างน้อยต้องมาพูดคุยกันปีละ 2 ครั้ง และครั้งต่อไปจะขอให้ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพต่อไป ซึ่งไทยก็ยินดีทำหน้าที่นี้
"เราต้องการส่งสัญญาณว่า เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายปกป้อง (Protectionism) พวกเรารู้สึกกังวลมากว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตามที่มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใช้เงินจำนวนมาก และมีนโยบายให้ซื้อแต่สินค้าของประเทศตัวเอง มันจะไม่เป็นการช่วยใดๆ เลย ดังนั้น อาเซียนจึงส่งสัญญาณอย่างเข้มแข็งให้ทั่วโลกทราบว่า เราอาเซียนจะมารวมตัวกัน และเราจะช่วยเหลือกันและกัน เพื่อเดินหน้าต่อไป" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
"มาร์ค" ชี้ไม่ควรย้อนยุค"กีดกันการค้า"
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมผู้นำภาคธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Business and Investment Summit - ASEAN-BIS) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เมื่อเวลา 09.45 น. ว่า ไทยจะดำเนินการตามเป้าหมายให้มีกฎบัตรของอาเซียน และพยายามลดปัญหาอุปสรรคในการทำให้อาเซียนรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน ซึ่งน่าจะมีความพร้อมในการรวมกลุ่มในปี 2558 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือต่อเนื่อง เพราะขณะนี้อาเซียนเป็นสิ่งคาดหวังที่จะช่วยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการลงทุนระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่นั่นยังไม่พอ สมาชิกอาเซียนได้ตั้งเป้าของการเจริญเติบโตแบบบูรณาการ ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน และการบริการที่จะทำให้มีการแข่งขันระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้อยากให้ความสำคัญในเจรจาอย่างต่อเนื่องกับประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่บูรณาการที่เกิดขึ้น และไม่ควรย้อนไปใช้นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกัน แต่ต้องเปิดการค้าเสรีในอาเซียน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่รับปากว่ากลุ่มจี 20 จะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งในเดือนเมษายนนี้จะเดินทางไปประชุมกับกลุ่มจี 20 ซึ่งไทยความต้องการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น และอยากให้ทั่วโลกมั่นใจในเศรษฐกิจของเอเชียที่ยังมีความแข็งแกร่ง
พร้อมยืนยันอาเซียนไม่ถอยเอฟทีเอ
จากนั้นเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์เดินทางด้วยรถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เลขทะเบียน ศฮ 9201 กรุงเทพมหานคร ยังโรงแรมดุสิตรีสอร์ท อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และได้เข้าร่วมประชุมทวิภาคีกับผู้นำประเทศอาเซียน กับสมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า และนายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากสหราชอาณาจักร เพื่อพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมกลุ่มประเทศจี 20 ด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการแถลงผลการประชุมทวิภาคีกับกัมพูชา พม่า และมาเลเซีย ในเวลา 18.30 น. วันเดียวกัน
ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่าจะใช้เวทีประชุมสุดยอดอาเซียนเน้นย้ำท่าทีของอาเซียนในเรื่องการรักษาเรื่องการค้า การลงทุน เงินทุนหมุนเวียน ต้องไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้วหมกมุ่นอยู่กับการไขปัญหาของระบบสถาบันการเงิน แล้วปล่อยให้เศรษฐกิจโลกถดถอยมากจนอาจเกิดปัญหาในทางสังคมตามมาในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ไทยจะยืนยันว่าไม่มีการถอยหลังเรื่องการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งเชื่อว่าหากไทยแสดงเรื่องนี้เป็นตัวอย่างจะเป็นสัญญาณที่ส่งไปถึงภูมิภาคต่างๆ และเป็นจุดยืนที่ไทยจะใช้การประชุมสุดยอดจี 20 ด้วย ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้อาเซียนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศพม่านั้น ทุกปัญหาที่มีผลกระทบต่ออาเซียนจะมีการพูดคุยกัน แต่วิธีการของไทยกับสหรัฐ หรือประเทศตะวันตกคงไม่เหมือนกัน เพราะมีความแตกต่างกันในเชิงสัมพันธ์ แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในพม่า เพราะต้องเคารพในอธิปไตยของแต่ละประเทศ แต่ปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออาเซียน จำเป็นต้องพูดคุยกัน
ย้ำใช้ "เจบีซี" แก้กระทบกระทั่งเขมร
ต่อมาเวลา 17.40 น. นายอภิสิทธิ์แถลงผลหารือทวิภาคีกับ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า นายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และสมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ห้องแถลงข่าว โรงแรมดุสิตธานีหัวหินว่า การหารือกับผู้นำพม่าได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในฐานประเทศที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ซึ่งไทยยืนยันว่าจะยังคงให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนาร์กีสต่อไป ทั้งเรื่องของการก่อสร้างสถานีอนามัยและการบูรณะวัด โดยทางพม่ายินดีที่จะให้ต่ออายุคณะทำงาน 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อาเซียนและพม่าออกไปอีก ซึ่ง พล.อ.เต็ง เส่ง ยังได้พูดคุยถึงการเดินตามแผนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าภายในปีหน้าด้วย
สำหรับการหารือกับนายกฯกัมพูชานั้น ได้คุยถึงปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดน ซึ่งทั้งสองประเทศยืนยันว่าจะใช้กลไกที่มีอยู่คือคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันยังหารือถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยได้มอบให้คณะกรรมการทางเทคนิคเป็นผู้กำหนดว่าจะเดินหน้าอย่างไร
จับมือมาเลย์3ด้านแก้ชายแดนใต้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยทวิภาคีกับนายกฯมาเลเซียนั้น ได้ย้ำถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการจะขอความร่วมมือจากมาเลเซียทั้งด้านการศึกษา การสร้างงาน และโอกาสธุรกิจ ซึ่งผู้นำมาเลเซียยืนยันมาแล้วว่าพร้อมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการหารือเรื่องคนไทยที่อพยพไปอยู่ในมาเลเซียจำนวนกว่า 130 คน แต่ทราบว่าขณะนี้มีคนเดินทางกลับมากว่า 20 คนแล้ว และรัฐบาลพร้อมรักษาความปลอดภัยหากใครต้องการกลับมาประเทศอีก
ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางการจัดการกับชาวโรฮิงญา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้นำทั้ง 3 ประเทศเห็นตรงกันว่าควรจะเป็นเรื่องกลไกระดับภูมิภาค เพราะจะทำให้แก้ปัญหาได้ยั่งยืน และสามารถรักษาเป้าหมายด้านความมั่นคงของแต่ละประเทศ รวมถึงไม่กระทบกับสิทธิมนุษยชน โดยเชื่อว่าหากทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบมาคุยกันน่าจะแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้จะดึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เข้าร่วมด้วย โดยชาวโรฮิงญากลุ่มสุดท้ายจำนวน 78 คน คาดว่าจะสามารถส่งกลับได้เร็วๆ นี้ เมื่อถามย้ำว่าการส่งตัวกลับคือส่งไปประเทศที่สามหรือพม่า นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบรายละเอียด และไม่ได้ติดตามชะตากรรมของคนเหล่านั้น แต่เชื่อว่าหากทุกประเทศร่วมมือกันจะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งกลางปีนี้จะเดินทางไปเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ
พาณิชย์ลงนามกรอบค้าเสรี2ประเทศ
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามกรอบการค้าเสรีคู่กับประเทศเจรจา จำนวน 2 ฉบับ คือ กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับเกาหลี เพื่อเปิดตลาดการค้าและบริการ โดยจะมีการลดภาษีลงร้อยละ 90 ของมูลค่าการนำเข้าระหว่างกัน โดยไทยจะลดภาษีสินค้าอ่อนไหวช้ากว่าประเทศอื่น การลงนามดังกล่าวจะช่วยให้ไทยมีโอกาสในการแข่งขันเท่ากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ได้มีลงนามไปแล้วก่อนหน้านี้ เอกสารฉบับที่สองคือกรอบการตกลงการค้าอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าบริการ และการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยไทยจะไม่ลดภาษีเร็วกว่าความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ที่ไทยได้ทำกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จากกรอบการตกลงนี้ ไทยจะได้ประโยชน์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในการลดภาษีหลากหลายสาขามากขึ้น แต่สินค้าอ่อนไหวสูง เช่น นมผงขาดมันเนย และน้ำตาล จะไม่รวมอยู่ในกรอบการลดภาษี
จับมือเวียดนามเรื่องอาหาร-ถกภาษี
นางพรทิวาแถลงผลการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีพาณิชย์เวียดนามว่า ได้ข้อสรุปในเรื่องความร่วมมือทางอาหารทะเล ความร่วมมือระหว่างกรมส่งออกเวียดนามและกระทรวงพาณิชย์ของไทยในด้านวิชาการ โดยความร่วมมือเรื่องข้าวนั้นจะมีการร่วมมือการผลิต การขนส่งและการระบายข้าวอย่างเป็นระบบ มีคณะทำงานจากไทยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวร่วมทำงาน โดยมีคณะทำงาน 2 ชุด ที่จะเดินทางไปยังเวียดนามกลางเดือนมีนาคมนี้
ตามข้อตกลงความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 ระบบ คือ ชาวนาไทย-เวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวไทย-เวียดนาม และระดับรัฐมนตรี โดยจะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการผลิต การค้า โลจิสติคส์ รวมไปถึงการทำราคาอ้างอิงของสินค้าข้าว และมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาสินค้าอาหารอื่นๆ นอกจากนี้ ไทยยังได้ยกประเด็นขอลดอัตราภาษีปิโตรเลียมและบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันเวียดนามขอคงสินค้าปิโตรเลียมและบุหรี่ในบัญชียกเว้นทั่วไป โดยให้เหตุผลว่า ต้องการคงภาษีสินค้าปิโตรเลียมเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ส่วนสินค้าบุหรี่นั้นคงเอาไว้ เนื่องจากเป็นสินค้าอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรที่ยากจน อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีท่าทีตอบรับในเรื่องนี้ นางพรทิวากล่าว
มาเลย์ยันร่วมมือกับชายแดนใต้
นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายกษิต ภิรมย์ กับนายราอิส ยาซิม รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษที่มีความใกล้ชิดกัน มาเลเซียได้ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของไทย และเห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาของไทยในขณะนี้ที่ยืนยันจะใช้หลัก 3 อี คือ การส่งเสริมการศึกษา การหางานทำ และการส่งเสริมให้เป็นเจ้าของกิจการนั้นถูกต้องแล้ว
"รัฐมนตรีกษิตบอกว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลทำให้มีบรรยากาศที่เอื้อให้การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ดีขึ้นไปอีก รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างการทำงานและการบริหารให้ภาคประชาสังคมและตำรวจมาทำงานมากขึ้น" นายธฤตกล่าว และว่า พระราชาธิบดีมาเลเซียจะเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคมนี้ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กรีนพีชจี้ดูปัญหาสภาพอากาศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมตัวกันที่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงแรมดุสิตธานีหัวหิน สถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงเช้า จากนั้นนำป้ายผ้าขนาด 10x15 เมตร พื้นสีดำตรงกลางเป็นวงกลมสีแดงขนาดใหญ่ เขียนด้วยข้อความสีดำว่า "TEN NATIONS ONE VISION" "CLIMATE ACTION NOW" มาขึงติดไว้ที่บริเวณป้ายโฆษณาขนาดใหญ่
นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทยกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กลุ่มกรีนพีชทำกิจกรรมระหว่างการประชุมอาเซียน เพื่อเรียกร้องให้อาเซียนหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญอยู่ กรีนพีชยังส่งจดหมายไปยังผู้นำทุกประเทศอาเซียน เรียกร้องให้ความสำคัญและสนับสนุนการลงทุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนสนับสนุนการเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มบ่อนอก หินกรูด กล่าวว่า ทางกลุ่มจะรอฟังผลการประชุมสุดยอดอาเซียนว่ามีมติอย่างไรบ้าง โดยในวันที่ 1 มีนาคม จะตั้งเวทีประชาชนคู่ขนาน เพื่ออภิปรายถึงผลการประชุมที่เกิดขึ้นและทำความเข้าใจ รวมทั้งจะมีการแจกเอกสารที่บริเวณสี่แยกบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ด้วย