ดร.ธรณ์ เชื่อแผลที่เท้าหนุ่มญี่ปุ่นเป็นฉลามกัด
จากกรณีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นโดนปลากัดที่เท้า บริเวณหาดกมลา จังหวัดภูเก็ต ด้าน ดร.ธรณ์เชื่อว่าบาดแผลแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับปลาฉลามกัด
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพบาดแผลของนักท่องเที่ยวที่ถูกปลากัด ขณะที่ลงเล่นวินด์เซิร์ฟ์ที่หาดกมลา จังหวัดภูเก็ต บริเวณส้นเท้าซ้ายมีเลือดไหลและบาดแผลมีรอยถูกกัดด้วยฟันจนฉีกขาด บริเวณหลังเท้าด้านซ้ายมีรอยถูกกัดอีก 3 แผล ที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ซึ่งคนในพื้นที่เชื่อว่าน่าจะเป็นปลาสาก ไม่ใช่ฉลาม เพราะในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมาชาวบ้าน ไม่เคยพบเห็นปลาฉลามในละแวกนี้
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์อธิบายเหตุการณ์นี้ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เท่าที่ตรวจสอบข่าวและภาพบาดแผล น่าจะเป็นลูกฉลามมากกว่าที่จะเป็นปลาสาก ซึ่งฉลามในที่นี้ อาจเป็นฉลามหูดำขนาดเล็ก ที่พบได้ทั่วไปในชายฝั่งของประเทศไทย
โดยเฉพาะชายฝั่งภูเก็ต หรืออาจเป็นลูกฉลามขนาดใหญ่ชนิดอื่นที่เข้ามาเป็นครั้งคราว ส่วนจะระบุให้ชัดเจนว่าเป็นปลาประเภทใด อาจต้องอาศัยการวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่ไม่ต้องวิเคราะห์คือ ดร.ธรณ์ บอกว่า “กรุณาอย่าเกลียดฉลาม” โดยมีข้อมูลยืนยัน 2 ประการ อันดับแรก ปริมาณฉลามในน่านน้ำไทยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หลายชนิดเข้าขั้นวิกฤต ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี
เมื่อปี 2560 เราคาดการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 25 ล้านคนไปทะเล ยังไม่นับคนไทยอีกมหาศาลที่ไปเที่ยวทะเล แต่ละปีมีคนไทยคนต่างชาติเล่นน้ำในทะเลไทยนับร้อยล้านครั้ง แต่ข่าวที่นักท่องเที่ยวโดนฉลามกัดบาดเจ็บเกิดขึ้น 2 ปีต่อครั้งเอง นั่นหมายถึงอัตราส่วนที่คนโดนฉลามทำร้าย อาจมีเพียง 1 ต่อ 200 ล้าน ยังน้อยกว่าอัตราที่คนโดนแมงกะพรุนกล่องหลายเท่า
นอกจากนั้นแล้ว ดร.ธรณ์ ยังกล่าวอีกว่า เราไม่ต้องไปกลัวฉลาม เพราะลักษณะการกัด ฉลามไม่ได้คิดทำร้ายคน แค่สงสัยว่าเป็นเหยื่อหรือเปล่า เมื่อไม่ใช่ก็จากไป ไม่ใช่พยายามกินคนให้ได้เหมือนในหนัง ในทางกลับกันเราควรหาทางอนุรักษ์ ดูแลฉลาม ผลักดันให้ฉลามบางชนิดเป็นสัตว์คุ้มครองโดยเฉพาะฉลามหัวค้อน