มติเอกฉันท์ พท. ส่งชื่อ เฉลิม ชิงนายกฯ

มติเอกฉันท์ พท. ส่งชื่อ เฉลิม ชิงนายกฯ

มติเอกฉันท์ พท. ส่งชื่อ เฉลิม ชิงนายกฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยกให้เป็น ขุนหมู่ทะลวงค่าย นัดแจ้ง ประชา-เสนาะ ตามมารยาท พร้อมยื่นขอเปิดอภิปราย11มีค.นี้ อ้างหมดทางเลือก ต้องเดินหน้าดัน เฉลิม เป็นนายกฯ เพราะยังดีกว่าให้ มาร์ค เป็น

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 3 มีนาคม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงมติพรรคเพื่อไทยที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี วันที่ 11 มีนาคม  

นายยงยุทธ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีมติที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันที่ 11 มีนาคม สำหรับบุคคลที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการนำมติส.ส.เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อรับรองมติอีกครั้งในวันที่ 11 มีนาคม เวลา 10.00 น.

นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนการชี้แจงกับพรรคร่วมโดยเฉพาะ หัวหน้าพรรคประชาราช พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคเพื่อแผ่นดิน กลุ่มของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็จะนำเรียนเพื่อทราบ ตามมารยาททางการเมือง แต่ตรงนี้เป็นมติของพรรคเพื่อไทยจะอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบ

นายวิทยา กล่าวว่าในการนัดรับประทานอาหารกับนายเสนาะ และ พล.ต.อ.ประชา วันที่ 5 มีนาคมนั้น จะมีการนำเรียนเรื่องข้อเท็จจริง สาระสำคัญของคำอภิปรายและมติของสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเราจะต้องทำตามกระบวนการตรวจสอบ โดยการอภิปรายครั้งนี้แต่ละพรรคอาจจะร่วมหารือก็ได้ แต่จำนวนสมาชิกพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเอกฉันท์ทั้งเรื่องการอภิปรายและชื่อของบุคคลที่จะได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อได้สอบถามแล้วก็ไม่มีใครเสนอชื่อคนอื่น ก็น่าจะเป็นเอกฉันท์

นายวิทยากล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม จะมีการประชุมวอร์รูมผู้อภิปราย และวันที่ 6 มีนาคม จะเป็นวันสุดท้ายในการยื่นประเด็นต่างๆ เข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองของพรรค และในช่วงสุดสัปดาห์ทีมงานรับกลั่นกรองก็จะพิจารณาขั้นสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลสำคัญที่พรรคมีมติเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นนายกรัฐมนตรี นายวิทยากล่าวว่า "ก็ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นขุนหมู่ทะลวงค่าย ซึ่งเราจะต้องให้เกียรติ เมื่อทำหน้าที่ก็ต้องให้เกียรติ"

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะผูกมัดการเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า คนละเรื่องกัน โดยพรรคภูมิใจไทยจะมีการประชุมใหญ่วันที่ 24 มีนาคม เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพรรค

มติ พผ.ไม่ร่วมซักฟอก รบ.ชี้ไม่มีข้อมูลบริหารพลาด

นายวัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.ของกลุ่ม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อแผ่นดินทั้งหมด 29 คน เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ว่า กลุ่มมีมติที่จะไม่เข้าร่วมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไปแล้ว เพราะกลุ่มยังไม่มีข้อมูลว่า รัฐบาลได้บริหารงานผิดพลาด หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่หากกลุ่มได้ข้อมูลใหม่จากพรรคเพื่อไทย ที่แสดงให้เห็นว่า มีหลักฐานที่ชัดเจน ระบุถึงความผิดพลาดในการบริหารประเทศของรัฐบาล ก็อาจมีการพิจารณาทบทวนจุดยืนในเรื่องนี้อีกครั้ง

นายวัลลภ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่ากลุ่มจะไม่ร่วมอภิปรายครั้งนี้ แต่จะรับฟังข้อมูลของพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากรัฐมนตรีชี้แจงได้ไม่ชัดเจนก็อาจยกมือสนับสนุนฝ่ายค้าน แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมยกมือให้รัฐบาล หากสามารถตอบข้อกล่าวหาได้ชัดเจน

พท.นัดถก"ประชา-ป๋าเหนาะ"แจ้งมติเปิดซักฟอก5 มี.ค.

นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้นัดหารือกับ พล.ต.อ.ประชา และนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อแจ้งมติพรรคเพื่อไทยเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ให้ทราบอย่างเป็นทางการ พร้อมแจ้งชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมพรรคบ่ายวันนี้ ว่าจะหาข้อยุติร่วมกัน ในเรื่องการเสนอชื่อ ส.ส.ของพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งต้องเสนอไปกับญัตติไม่ไว้วางใจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งนอกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่อาจได้รับการเสนอชื่อแล้ว ยังมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาจถูกเสนอชื่อด้วย

เพื่อไทยแจงหมดทางเลือก เดินหน้าดัน"เฉลิม"นั่งนายกฯ

นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ว่า พร้อมน้อมรับความเห็นของนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน กลุ่มพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ที่อาจไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีแนวโน้มสูงว่า จะเสนอชื่อร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเชื่อว่า จะสามารถชี้แจงและทำความเข้าใจกับนายเสนาะและพล.ต.อ.ประชา ในการเข้าพบ วันที่ 5 มีนาคมนี้ได้ เนื่องจากการได้ร.ต.อ.เฉลิมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังดีกว่าให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ประกอบกับพรรคเพื่อไทยไม่เหลือบุคคลอื่น ที่มีความเหมาะสมมากไปนี้ เนื่องจากสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมากไปกับการยุบพรรคทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่เคยหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สำหรับการขอยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแต่อย่างใด และเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ขัดข้องหากกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจเลือกบุคคลใดที่เห็นว่ามีความเหมาะสมก็ตาม

พท.นัดเคาะชื่อนายกฯ-ปัดมีบงการ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) นัดประชุมบ่ายวันที่ 3 มีนาคม เพื่อพิจารณาเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯคนต่อไปด้วย

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า การประชุมนัดนี้จะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 14.30 น. นอกเหนือจากบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคจำนวน 19 คนแล้ว จะมีแกนนำพรรคที่ไม่ได้มีตำแหน่งกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมด้วยเพราะเรื่องนี้ต้องพูดคุยกันในหลายส่วนว่าใครมีความเหมาะสม แต่ยืนยันว่าการตัดสินใจไม่เกี่ยวกับคนจากตระกูลชินวัตร เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคจะพิจารณาเลือกตามที่ประชุม ส.ส.ของพรรคมีมติมอบหมายให้

นำข้อเสนอ"เสนาะ"ถกประกอบ

นายยงยุทธกล่าวว่า สำหรับรูปแบบจะเปิดโอกาสให้สมาชิกในที่ประชุมเสนอรายชื่อผู้ที่เห็นว่าเหมาะสม จากนั้นก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสีย สำหรับรูปแบบการลงคะแนนจะเป็นไปโดยลับหรือเปิดเผยนั้น ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุมว่าจะออกมาอย่างไร เพราะไม่มีระเบียบเขียนไว้ชัดเจน แต่ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงรายเดียวก็ไม่จำเป็นต้องมีการโหวต

หัวหน้า พท.กล่าวถึงโอกาสของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนของพรรค ที่มีชื่อได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ให้เสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯคนต่อไปในช่วงก่อนหน้านี้ว่า เวลานี้ยังบอกไม่ได้ ต้องแล้วแต่ความเห็นที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค อย่างข้อเสนอของนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช (ที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม ด้วยเหตุผลมีอดีตที่ล้างไม่ออก) ก็ต้องนำมาคิดทั้งนั้น

นัดกล่อมเสนาะ-ประชา5มี.ค.

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดไม่เชิญตัวแทนของพรรคประชาราชเข้าร่วมประชุมด้วย นายยงยุทธกล่าวว่า ตรงนั้นเป็นงานของส่วนสภาที่มีคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือวิปฝ่ายค้านทำหน้าที่อยู่แล้ว คงไม่ใช่มาประชุมที่ พท.และหลังจากที่ประชุมกรรมการบริหาร พท.มีมติเสนอชื่อใคร ก็จะนำไปพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป

นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ประธานวิปฝ่ายค้านจาก พท. กล่าวว่า ได้เลื่อนการนัดหารือระหว่างผู้นำพรรคการเมือง ฝ่ายค้านจากเดิมช่วงเย็นวันที่ 2 มีนาคม ออกไปเป็นวันที่ 5 มีนาคม โดยเป็นการประชุมระหว่าง 3 พรรค คือแกนนำ พท. นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เพื่อแจ้งถึงมติ พท.ในการเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ เช่นเดียวกันกับกระบวนการลงชื่อเสนอญัตติที่เป็นเอกสิทธิ์แต่ละบุคคล

นายวิทยากล่าวปฏิเสธด้วยว่า เหตุที่แกนนำ พท.นัดหารือกับนายเสนาะนั้น ไม่ได้เป็นเพราะการออกมาแสดงความคิดเห็นของนายเสนาะที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พท. กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะประธาน ส.ส.และประธานในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเรียก ส.ส.ที่จะเป็นผู้อภิปรายและคณะทำงานข้อมูล ประชุมใหญ่วันที่ 3 มีนาคม เพื่อประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสุดท้ายก่อนยื่นญัตติ รวมถึงวางตัวและแบ่งประเด็นอภิปราย 0 วิปรบ.วางกรอบซักฟอก-ช่วยรมต.

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงผลการประชุมวิปรัฐบาล ที่ห้องประชุมชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ว่า วิปรัฐบาลหยิบยกการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านขึ้นมาหารือ เพราะเป็นเรื่องสำคัญและใช้เวลานานที่สุด โดยวิปรัฐบาลยินดีที่จะรับการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน และเห็นชอบในกรอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดย 1.วิปรัฐบาลจะให้เกียรติฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2.ไม่มีการประท้วงอย่างหยุมหยิม เพื่อให้การอภิปรายมีมาตรฐานสูง 3.ให้ความร่วมมือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการบริหารจัดการการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ 4.จะช่วยเหลือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งก่อนและระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5.เป็นศูนย์กลางข้อมูลและการดำเนินการให้รัฐมนตรีชี้แจงกับสื่อมวลชน และอธิบายกับประชาชนภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และ 6.จะตั้งคณะทำงานร่วมกันในการติดตามประเด็นอภิปรายของฝ่ายค้าน เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนสับสนในข้อมูลที่ฝ่ายค้านอภิปราย เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลบางอย่างไม่ตรงกับความเป็นจริง อาทิ ข้อมูลเรื่องรถยนต์ หรือแม้กระทั่งครอบครัวของนายกรัฐมนตรี

ไม่ประมาทข้อมูลอภิปราย"เฉลิม"

นายชินวรณ์กล่าวว่า สำหรับบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯคนต่อไป พรรคร่วมรัฐบาลเห็นควรให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิมหรือใครก็ตาม หาก พท.เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรเสนอชื่อคนนั้นเป็นหัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกันด้วย

"การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ในสภา ในการแก้ไขปัญหากับประชาชนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงขอเชิญชวนทุกฝ่ายนำการเมืองเข้าสู่สภา เพื่อให้เราได้รับการยอมรับในสายตาต่างชาติ และเมื่อการเมืองนิ่ง หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วนายกฯและ ครม.จะได้ขับเคลื่อนการบริหารประเทศต่อ" นายชินวรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมทีม ส.ส.เพื่อช่วยเหลือรัฐมนตรีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชินวรณ์กล่าวว่า ได้พูดกันอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการเตรียมจัดตั้งองครักษ์ ในการตอบโต้แทนรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนมีความพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน สำหรับทีมงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือรัฐมนตรีนั้นจะรอดูฝ่ายค้านจัดทีมอภิปรายก่อนจึงจะพิจารณาอีกครั้ง แต่จะมีทีมสรุปข้อมูลการอภิปราย เพื่อให้รัฐมนตรีนำข้อมูลนำไปชี้แจงกับประชาชน โดยอาจจะเป็นประธานทีมชุดนี้เอง ซึ่งจากการพิจารณายังไม่คิดว่ามีรัฐมนตรีคนไหนจะมีข้อมูลลึกซึ้งถึงขนาดถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ไม่ประมาท โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม ที่จะประมาทไม่ได้

ภท.จี้"มาร์ค" ลงพท.รุกการเมือง

นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิไทยใจ (ภท.) รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในที่ประชุมวิปรัฐบาล ส.ส.ได้สะท้อนความคิดเห็นไปยังรัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เร่งทำงานเชิงรุกทางการเมืองมากขึ้น หลังจาก ส.ส.ได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของนโยบายรัฐบาลในแต่ละจังหวัดมาแล้ว พบว่าประชาชนสนใจนโยบายรัฐบาลหลายๆ เรื่องมาก โดย ส.ส.ต้องการให้รัฐมนตรีแต่ละคนลงพื้นที่เกาะติดทุกจังหวัดเพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้าน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับฝ่ายรัฐบาล โดยอาจจะเป็นการลงพื้นที่เรียกประชุมทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจนโยบายรัฐบาล จะได้ไม่ต้องสนใจการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โฟนอินลงพื้นที่ทุกพื้นที่ จึงจำเป็นจะต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างเร่งด่วนที่สุด

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯในนาม พท. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรค แต่อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกำหนด หาก พ.ต.ท.ทักษิณจะให้ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นนายกฯในนาม พท.ก็เป็นได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณอนุมัติ ทั้งที่ ร.ต.อ.เฉลิมมีเสียงสนับสนุนในพรรคเพียง 10 เสียงเท่านั้น

รอข้อมูลเส้นทางเงินจากดีเอสไอ

นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมส่งสำนวนสอบสวนเส้นทางการเงิน 258 ล้านบาท ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 23 ล้านบาท เข้าพรรคประชาธิปัตย์ อาจใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ให้ กกต.สอบตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ว่า ขณะนี้ กกต.ได้รับการติดต่อจากดีเอสไอมาแล้วว่า จะให้ กกต.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตอนนี้อยู่ระหว่างที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอลงนาม ซึ่ง กกต.จะต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอพยานหลักฐานจากดีเอสไอเพื่อจะได้รู้ว่า มีเส้นทางการเงินอย่างไร ทั้งนี้ ดีเอสไอจะส่งสำนวนเรื่องการบริจาคเงิน 258 ล้านบาท และเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 23 ล้านบาท ที่มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2548 รวมทั้งข้อมูลเรื่องเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองที่นำไปให้บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด มาให้ด้วย เพราะดีเอสไอระบุว่าเรื่องนี้จะต้องให้ กกต.สอบเพราะเกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนเส้นทางการเงินที่เกี่ยวกับบริษัท เมซไซอะฯ ดีเอสไอจะส่งสำนวนให้สัปดาห์หน้า ซึ่ง กกต.จะต้องพิจารณา คงใช้เวลาไม่นาน

เผยบทลงโทษหากปชป.ผิด

"แม้ กกต.เคยตอบกลับไปทางดีเอสไอไปว่า ไม่พบการใช้เงินผิดแผนการในปี 2548 เพราะมีการตรวจสอบเฉพาะเอกสารเท่านั้นว่าที่มีการว่าจ้าง แต่ยังไม่ตรวจสอบลึกถึงว่ามีการทำป้ายโฆษณาหาเสียงจริงหรือไม่ แต่ถ้าดีเอสไอมีหลักฐานลึกกว่านั้นก็เป็นเรื่องที่ กกต.จะเข้าไปพิจารณา ว่าบริษัทที่ตรวจสอบบัญชีงบดุลของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นมีความผิดพลาดหรือไม่" นางสดศรีกล่าว

กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองกล่าวว่า สำหรับบทลงโทษหากนำเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้นอาจถูกลงโทษทางอาญาจำคุกและปรับ ส่วนจะถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมาดูข้อเท็จจริงอีกครั้ง เพราะในช่วงปี 2548 ยังใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ และโทษในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เกี่ยวกับยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยังไม่มี ดังนั้น จึงมีปัญหาว่าจะยุบพรรคได้หรือไม่ เรื่องนี้คงเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะย้อนหลังได้หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook