ศาลพิพากษา มาบตาพุดระยอง เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ
ชาวบ้านเฮ!หลังต่อสู้มานานนับ 10 ปี หลังประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมาก สั่งดำเนินมาตรการควบคุมมลพิษภายใน 60 วัน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 3 มี.ค. ศาลปกครองระยอง โดยนางสายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีศาลปกครองระยอง ตุลาการเจ้าของสำนวน พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ รองอธิบดีศาลปกครองระยอง และนายสรศักดิ์ มไหศิริโยดม ตุลาการศาลปกครองระยอง องค์คณะได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ นายเจริญ เดชคุ้ม โจทย์ผู้ยื่นฟ้องที่ 1 พร้อมด้วย พวกรวม 27 คน ที่ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2550โดยอ้างว่า การดำเนินการของการนิคมอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างรุนแรง ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และ มลพิษจากกากของเสียอันตราย จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก แต่ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กลับละเลยมิได้ประกาศกำหนดให้พื้นที่ที่มีปัญหาทั้งเขต ตำบลมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีปัญหาจากมลพิษ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปรากฏตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ในการประชุมของคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2548 เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด พบว่ามีสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด และอีก 20 ชนิด พบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าก่อมะเร็งเกินระดับเฝ้าระวังคุณภาพทางอากาศ ในบรรยากาศ จำนวน 19 ชนิด จึงสรุปว่าหากระบายออกมาเต็มที่ก็จะมีค่าเกินมาตรฐานตามค่าที่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็ตรงกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ได้นำเสนอข้อมูลจากโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทยของจังหวัดระยอง ปี พ.ศ. 2540 ถึง 2544 รายงานว่าสถิติการเกิดมะเร็งทุกชนิด และ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของ อ.เมือง ระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆของจังหวัดระยอง เป็น 3 เท่า ถึง 5 เท่า นอกจากนี้แหล่งน้ำจืด แม่น้ำ คลอง รวมถึงทะเลและน้ำบาดาลในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พบการปนเปื้อนโลหะหนักเกินมาตรฐาน คือ สังกะสี แมงกานีส สารหนู และพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินมาตรฐาน
ศาลจึงรับฟังว่าเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และ ขจัดมลพิษ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็ได้ประกาศเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด โดยไม่ปรากฏว่าจะต้องมีการตรวจวัดหาค่าต่างๆเช่นเดียวกับในพื้นที่มาบตาพุด และ ยังไม่ได้ประกาศการควบคุมมลพิษในพื้นที่ที่ที่ถูกฟ้อง
ศาลจึงมีคำพิพากษา ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชิต ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้ง ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.ทับมา และ ต.มาบข่า อำเภอเมืองระยอง ทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ทั้งตำบลเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
หลังจากฟังคำตัดสิน นายเจริญ เดชคุ้ม ผู้ฟ้องร้อง ได้กล่าวด้วยความดีใจ พร้อมกับชาวบ้านที่ชูมือแสดงความดีใจจนบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ โดยกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ศาลได้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่ต้องต่อสู้มายาวนานนับ 10 ปี จนมาถึงวันนี้ ก็ต้องขอบคุณศาล และ ยังวิงวอนผ่านไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่า อย่าได้อุทธรณ์ต่ออีกเลย เพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จนบางคนต้องป่วยจนเสียชีวิตไปแล้วหลายรายจากมลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งหากจะอุทธรณ์ ทางชาวบ้านก็จะลุกขึ้นสู้ต่อไป และ จะทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เพราะถือว่าเป็นการฆ่าประชาชนทางอ้อม