AIA กับทางเลือกทางรอด แยกองค์กรอิสระจาก AIG เร่งแจงลูกค้ากันตื่น !!
แนลกรุ๊ปฯ หรือ เอไอจี บริษัทประกันรายใหญ่ของโลก ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
โดยเมื่อ 2 มี.ค. รัฐบาลสหรัฐฯได้อัดฉีดเงินช่วยเหลือเอไอจีอีก 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 1 .05 ล้านล้านบาท รวมกับวงเงินที่เคยอัดฉีดไปแล้ว 2 ระลอกรวม 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ครั้งนี้แลกกับการยกหุ้นบุริมสิทธิ 70-75% ในบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ฯ (เอไอเอ) และบริษัท อเมริกัน ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด (อลิโก) ให้รัฐบาลสหรัฐฯ
พร้อมกับมีรายงานจาก อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (เอไอจี) และ บริษัท อเมริกันอินเตอร์ แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) นิวยอร์ก ชี้แจงถึงแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ และการปรับโครงสร้างบริษัทในเครือเป็นองค์กรที่มีอิสระในการบริหารธุรกิจ ซึ่งเอไอจีอยู่ระหว่างหารือผู้บริหารธุรกิจหลักในเครือ เพื่อวางกรอบการดำเนินงาน การกำกับดูแลธุรกิจ และโครงสร้างเงินทุน
ยกตัวอย่าง ธุรกิจบางประเภทที่อยู่ระหว่างเสนอขายก็ยังดำเนินการต่อ บางธุรกิจยังรักษาไว้เพื่อเสนอขายในอนาคต และบางธุรกิจ เช่น เอไอเอ และบริษัท อเมริกัน ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด (อลิโก) อยู่ระหว่างพิจารณาทางเลือก และอาจรวมถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
****แยกเอไอเอเป็นอิสระ
ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวยังได้ชี้แจงว่า เอไอจีมีเจตจำนงที่จะโอนหุ้นทุนของเอไอเอ และอลิโกเข้าไปในนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle:SPV) เพื่อแลกกับหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญของนิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าว
เอไอเอและอลิโกนับเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในการชำระหนี้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทเห็นว่าแนวทางในการปรับโครงสร้างดังกล่าว ถือเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อรักษาไว้ซึ่งมูลค่าทางธุรกิจของเอไอเอและอลิโก นายเอ็ดเวิร์ด ลิดดี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอจีกล่าวให้ความเห็น
การปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าว และการแยกเอไอเอออกเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจจากเอไอจี ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับเอไอเอ ที่จะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของเอไอเอให้คงฐานะเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย
***ลูกค้าเอไอเอ(ไทย)ไม่กระทบ
กรณีของเอไอเอ ประเทศไทยนั้น เดิม ''โทมัส เจมส์ ไวท์'' รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป เอไอเอ มีแผนที่จะแถลงข่าวในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มี.ค. หลังจากที่ บ.แม่ ''เอไอจี''ประกาศผลประกอบการและรายงานผลมาถึงเมืองไทยในเย็นวันที่ 2 มี.ค. แต่บริษัทแม่ได้ขอให้เลื่อนการแถลงข่าวเป็นสัปดาห์หน้าแทนเพื่อเตรียมความพร้อม
แม้เอไอเอมีข่าวถูกขายในต่างประเทศกระทบความรู้สึกลูกค้าบ้าง แต่ได้ชี้แจงไปยังลูกค้ากว่า 5 ล้านรายมาอย่างต่อเนื่องว่า ผลที่เกิดขึ้นเป็นในส่วนของเอไอเอโฮลดิ้ง ที่มีอยู่ในนิวยอร์ก ไม่ใช่ เอไอเอ เมืองไทย พร้อมกับตั้งแต่เกิดสถานการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนเพิ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจเพื่อชี้แจงถึงความมั่นคงของบริษัท รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไป เอไอเอกล่าว
พร้อมกับยืนยันถึงความมั่นคงของเอไอเอ ทั้งนโยบายการลงทุน คุณภาพการดำเนินธุรกิจ และคำสัญญาที่มีต่อพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คงไว้ซึ่งคุณภาพการรับประกันซึ่งยังโดดเด่นอย่างชัดเจน รวมถึงแบรนด์เอไอเอ และที่สำคัญอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดที่สุดจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)
นอกจากนี้ การร่วมทุนใหม่ในอนาคตจะไม่กระทบการดำเนินธุรกิจของเอไอเอประเทศไทย เนื่องจากการเข้าลงทุนในลักษณะร่วมทุน โดยนโยบายการบริหารธุรกิจยังเป็นของเอไอเอในแต่ละประเทศ ส่วนผู้ลงทุนก็จะได้กำไรจากการลงทุนไป
ทั้งนี้ ณ กรกฎาคม 2551 เอไอเอ (ประเทศไทย)มีสินทรัพย์รวม 383,060 ล้านบาท มีเงินสำรองประกันภัย 286,674 ล้านบาท และมีเงินกองทุน 69,241 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 1,107.67 % ของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยมีผู้ถือครองกรมธรรม์ชีวิต 5 ล้านฉบับ (หากรวมกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพจะมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับมากกว่า 7.5 ล้านฉบับ)
****เร่งแจงผู้ถือกรมธรรม์
จากการสอบถามไปยังคอลล์เซ็นเตอร์เอไอเอ 1580 ไม่พบว่าลูกค้าตื่นตกใจต่อการปรับโครงสร้างองค์กรของเอไอจีและเอไอเอครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่คอลล์เซ็นเตอร์ว่า ทางผู้บริหารมีนโยบายให้เร่งส่งจดหมายชี้แจงถึงลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงถึงการปรับโครงสร้างองค์กรให้ตัวแทนรับทราบเป็นที่เข้าใจแล้ว
''ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์'' รองประธานฝ่ายประกันชีวิตสามัญรายบุคคล เอไอเอ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันและเมื่อวันที่ 27 ก.พ. (ปิดประมูลขายเอไอเอ) ไม่เหมือนกับวันที่ 16 ก.ย.ที่คนตื่นตระหนก มีเพียงตัวแทนเอไอเอระดับผู้บริหาร 1-2 รายเท่านั้น ที่โทร.เข้ามาสอบถามความคืบหน้า เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าได้รับความสับสนจากข่าวต่างประเทศทางอินเตอร์เน็ต
****ย้อนรอยปัญหาเอไอจี
ย้อนที่มาที่ไปปัญหาของเอไอจี เมื่อ 16 ก.ย. 2551 เอไอจีต้องเผชิญกับการขาดสภาพคล่องทางเงินสด และเข้าสู่แผนฟื้นฟู 2 ปี โดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้อัดฉีดเงินเพิ่มทุน1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเข้าถือหุ้นในเอไอจี 80% และพยายามเร่งหาช่องทางที่เป็นไปได้ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าธุรกิจประกันในเครือของเอไอจี ในขณะนั้นเพื่อระดมเงินไปชำระหนี้เงินกู้รัฐบาลสหรัฐฯ บริษัทมีแผนการที่จะขายสินทรัพย์ทั้งหมด ยกเว้นธุรกิจประกันชีวิตและทรัพย์สินในสหรัฐฯ รวมถึงหุ้นที่เอไอจีถืออยู่ในบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เอไอจีตัดสินใจนำธุรกิจประกันชีวิต หรือ เอไอเอ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในภูมิภาคเอเชียออกขาย โดยตอนแรกเอไอจี ตั้งเป้าจะขายหุ้นเอไอเอในเอเชีย ที่มีเครือข่ายใน 10 ประเทศเอเชีย เพียง 49% แต่ต่อมายินดีตัดสินใจขายทั้งหมด ด้วยวิธีประมูลกำหนดปิดรับประมูลเมื่อวันศุกร์ 27 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ ตั้งเป้าราคาไว้ที่ 20,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มีผู้สนใจหลายราย ได้แก่ แอกซ่าฝรั่งเศส ,แบงก์ออฟไชน่า ,พรูเด็นเชียล ,ซูริค รีของซูริคไฟแนนเซียล เซอร์วิสเซส และสวิส รีอินชัวรันส์ โค นอกจากนี้ยังมีเทมาเสก โฮลดิ้งและเอชเอสบีซี แต่การขายกิจการเป็นได้อย่างเชื่องช้ามากและยากที่เอไอจีจะประเมินราคาได้ตามเป้าท่ามกลางภาวะความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ซึ่งแรงบีบคั้นนี้กดดันราคาในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะมีราคาลดลง 70% เหลือเพียง 8,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีรายงานอีกว่าไม่น่าจะมีบริษัทใดเดินหน้าเสนอราคาและผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อจำนวนนี้ได้ตีราคาไอเอไอไว้ในช่วง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น
ถึงแม้ว่าการก้าวสำคัญครั้งนี้ ทางผู้บริหารระดับสูงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ถือกรมธรรม์ของเอไอเอ แต่คงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจต่อทั้งตัวแทนและลูกค้า
ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะความเชื่อมั่นคือสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับ ''เอไอเอ'' ในสถานการณ์นี้