พาณิชย์เตรียมจัดงานช่วยผู้ตกงาน พร้อมสร้างความเข็มแข็งเอสเอ็มอีไทย
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเพื่อร่วมจัดงานวันนัดพบแรงงานในระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค.นี้ ที่สยามพารากอน ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำทีมคลินิกที่ปรึกษาทางธุรกิจไปให้ บริการสำหรับผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจต่างๆ เป็นของตนเอง ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนประชาชนที่ต้องการเรียนรู้ทางธุรกิจสามารถเข้าไปรับคำปรึกษา ในวันเวลาดังกล่าวได้
นอกจากนี้ หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงนามความร่วมมือระหว่างสมาคมและหน่วยงาน ภาครัฐตามโครงการ Rainbow Project ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ตกงาน นักศึกษาจบใหม่ โดยเน้น 7 ธุรกิจ เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจการตลาดแบบตรง ธุรกิจกรีนบิสซิเนส ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจแหล่งการค้าใหม่ ซึ่งจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ว่างงานกว่า 100,000 ราย ขณะเดียวกันสถาบันการเงินภาครัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้เตรียมเงินไว้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปประกอบอาชีพ และจะมีการจัดงานเรนโบว์แฟร์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งในส่วนกลางจะจัดงานครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ความรู้และให้ผู้ที่คิดว่าต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจมาลงทะเบียน คาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าในระบบกว่า 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการเรนโบว์โปรเจกต์ที่จะช่วยเหลือผู้ว่างงานแล้ว กรมฯ ยังมีโครงการเสริมความเข็มแข็งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอีไทย) สู่สากล เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จ โดยกรมฯ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกที่จะเร่งผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีราย ใหม่ให้ไปเจาะตลาดต่างประเทศ เพราะหากดูกลุ่มเอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดหรือมีจำนวนหลายแสนราย แต่ยังขาดความเข้มแข็ง ขาดความรู้ และประสบการณ์ในการทำตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาภาครัฐสามารถสร้างกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและสามารถเป็นผู้ส่งออกทำ ตลาดต่างประเทศแล้ว 300 ราย โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายผลักดันสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ 500 ราย สำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่ อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง เพราะประเทศเหล่านี้ยังต้องการสินค้าไทยอีกมาก ส่วนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายทำตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจรักษาพยาบาล และอีกหลายธุรกิจ จึงเชื่อว่าจากการที่ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกันที่จะช่วยเหลือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสร้างจุดแข็งและทำตลาดในต่างประเทศภายใน 3-5 ปี จะมีเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น