มาร์ค แจงยกเลิกระบบโซนนิ่งจัดซื้อนมร.ร. ให้ท้องถิ่นจัดการ
อภิสิทธิ์ เผยรัฐบาลเตรียมขยายนม ร.ร.ถึงป.6 ช่วยแก้นมล้นตลาด แจงยกเลิกระบบโซนนิ่งจัดซื้อนมโรงเรียนแล้ว ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการคำนวณงบประมาณเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว พร้อมฝากอสม.รณรงค์เรื่องเด็กอ่อน นักวิชาการ ม.แม่โจ้ ชี้ปัญหาทุจริตนมโรงเรียนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 40 เหตุงบประมาณสูงกว่า 6 พันล้าน ล่อใจหลายฝ่ายมีเอี่ยว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถึงสถานการณ์ปัญหา น้ำนมดิบ ล้นตลาดว่า เรื่องที่เป็นปัญหาค่อนข้างที่จะยืดเยื้อมานับตั้งแต่ที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง เริ่มต้นมาก็มีปัญหา คือปัญหาเรื่องของน้ำนมดิบ ซึ่งล้นตลาด และก็มีปัญหามาก รัฐบาลพยายามแก้ไขมาโดยลำดับ ช่วงปีใหม่ได้มีการจัดบรรจุเป็นนมถุง แจกจ่ายพี่น้องประชาชน ช่วงต่อมาได้มีการดำเนินโครงการรับซื้อต่าง ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาไม่หมด และที่จะซ้ำเติมความรู้สึกของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ก็คือว่าในภาวะที่น้ำนมดิบล้นตลาด ก็เกิดมีปัญหาในเรื่องของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างนมโรงเรียนด้วย ซึ่ง2 เรื่องนี้ความจริงเกี่ยวพันกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพบปะกับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องของโคนม น้ำนมดิบ แล้ว ก็คิดว่าขณะนี้น่าจะได้ทางออก ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะคลี่คลายปัญหาได้ ประเด็นก็คือว่าตลาดที่จะรองรับน้ำนมดิบ ถ้าเราขยายการดื่มนมในโรงเรียนจากที่เราให้เด็กเล็กจนถึง ป.4 ขยายไปถึง ป.5-ป.6 ที่ตกลงกันคือว่าขยายไปถึง ป.6 และให้ดื่มปีหนึ่ง 265 วัน พูดง่ายๆ คือทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน คือเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น ตรงนี้ถ้าพูดจากตัวเลขปริมาณแล้วจะรองรับผลผลิตได้ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ โดยราคาในการที่จะซื้อ ในเบื้องต้นจะยึดถือตามข้อตกลงที่ทำไว้กับพี่น้องเกษตรกรจนถึงวันที่ 28 เมษายน จากนั้นจะมาประเมินต้นทุนกันใหม่ร่วมกับพี่น้องเกษตรกร และดูว่าราคารับซื้อต่อไปที่เหมาะสม และไม่ฝืนตลาด ขณะเดียวกันพี่น้องเกษตรกรก็มีค่าตอบแทนที่ดีพอสมควร ควรจะเป็นเท่าไหร่
แจงยกเลิกระบบโซนนิ่งจัดซื้อนมโรงเรียนให้ท้องถิ่นดูแลแทน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถึงสถานการณ์ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด ว่าเราต้องสะสางปัญหาในเรื่องของนมโรงเรียน และปัญหาในเรื่องของการทุจริตหรือการสมยอม หรือที่เรียกกันว่าฮั้ว โดยการมีการไปตั้งเงื่อนไขในเรื่องของการประมูล หรือการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องของนม ซึ่งไปจำกัดในเรื่องของเขตพื้นที่
ขณะนี้คือว่าจะมีการยกเลิกเงื่อนไขเหล่านี้ แล้วจะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ คำนวณงบประมาณเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะจัดให้แน่นอน แต่ในเบื้องต้นจะขอความร่วมมือของท้องถิ่นเพื่อความคล่องตัวและรวดเร็ว ดำเนินการโครงการนี้ไปก่อน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณไปชดเชยให้กับท้องถิ่นทั้งหลาย และการปรับปรุงตรงนี้จะรวมไปถึงในเรื่องของการดูแลเรื่องของคุณภาพมาตรฐานของนม และดูแลว่าเราสามารถที่จะมีความคล่องตัว ความยืดหยุ่นในการส่งนมข้ามเขต หรือว่าเก็บไว้ได้นานขึ้น
"เพราะฉะนั้น จะมีแผนของการปรับในเรื่องของนม สัดส่วนของนมกล่องจะเพิ่มขึ้น และลดในสัดส่วนของนมถุง ลงไป โดยจะพยายามดูแลไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย อันนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผมหวังว่าจะเป็นการวางระบบใหม่ และช่วยแก้ปัญหา ซึ่งในความรู้สึกของพี่น้องประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ขัดและซ้ำเติมความ รู้สึกอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นพี่น้องเกษตรกรไปเทน้ำนมดิบทิ้งในขณะที่มีปัญหาในเรื่องของนมโรงเรียน ก็ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบไปแล้ว" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมฝากอสม.รณรงค์เรื่องเด็กอ่อน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า งานในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผมคงจะต้องฝากเพิ่มเติมในวันข้างหน้า คือ ผมกำลังจะไปดูในเรื่องของเด็กอ่อน หรือเด็กเล็กมากขึ้น เพราะว่ามีคนบอกว่า เรื่องเรียนฟรีก็เป็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนแล้ว แต่จริงๆ เด็กของเราควรจะได้รับโอกาสตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และเรื่องที่สำคัญมากถ้าเราปรับปรุงในเรื่องของโภชนาการ อาหารการกินของแม่ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ มาจนถึงการดูแลเด็กเล็กให้ถูกต้องอย่างไร จะได้เติบโตมาแล้วสมองดี เป็นเด็กฉลาดเป็นเด็กเก่ง จะรณรงค์เรื่องนี้มากขึ้น รวมไปถึงทำอย่างไรให้คนของเราชอบอ่านหนังสือ ก็จะพยายามรณรงค์ด้วยว่า ทำอย่างไรพ่อแม่เด็กยังไม่ต้องอ่านหนังสือได้ แต่อ่านให้เด็กฟัง ให้เด็กมีความรัก มีความผูกพันธ์กันหนังสือ ก็จะเป็นงานสำคัญที่ผมอยากจะฝากให้ทางอสม.ได้ช่วยรณรงค์ในช่วงต่อไป
นักวิชาการ ม.แม่โจ้ ชี้ปัญหาทุจริตนมโรงเรียน
ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางสัตว์ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ปัญหานมโรงเรียนบูดเสียและการเปิดโปงทุจริตโครงการนมโรงเรียน ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้ มีการโยงประเด็นที่เกิดขึ้นว่ามาจากมติครม.เมื่อปี 2545 แต่ข้อเท็จจริงการทุจริตและอั้วประมูลนมโรงเรียนมามานานแล้วตั้งแต่ปี 2540 โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทให้โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อ
ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มองเห็นช่องทางทำธุรกิจนมโรงเรียนภายใต้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล จึงลงทุนสร้างโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางเพื่อทำธุรกิจนมโรงเรียนอย่างเดียว จึงมีโรงงานผลิตนมผุดขึ้นทั่วประเทศ โดยพยายามรวบรวมและซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรและสหกรณ์แข่งกันโรงงานผลิตนมขนาดใหญ่ที่ทำนมพาณิชย์ มีการแข่งขันกันรุนแรงเพื่อแย่งชิงน้ำนมดิบและแข่งขันประมูลโครงการนมโรงเรียนกันดุเดือด มีการขยายฐานประมูลนมโรงเรียนข้ามเขต ด้วยค่าการตลาดที่สูงและต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะทำให้ผู้ประกอบการหันมาลดต้นทุนโดยใช้นมผงผสมน้ำ
ดร.ดำรง กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำนมดิบในช่วงดังกล่าวยังไม่มีคณะกรรมการกำกับดูแลที่ชัดเจน แต่หลังจากมีปัญหาเกิดขึ้น ทั้งคุณภาพนมและน้ำนมดิบล้นตลาดในช่วงปิดเทอม เพราะโรงงานผลิตนมโรงเรียนหยุดรับซื้อ รัฐบาลจึงมีมาตรการบริหารจัดการน้ำนมดิบและนมโรงเรียนแบบหลวมๆออกมา กำหนดให้ใช้น้ำนมดิบผลิตนมโรงเรียน แต่ยังมีปัญหาเกิดขึ้นจนคณะกรรมการนโยบายนมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเกิดขึ้นตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2541 เข้ามาวางระบบบริหารจัดการนมทั้งระบบใหม่
"ตั้งแต่ปี 2541-2544 ในยุคของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จนถึงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯที่สลับสับเปลี่ยนกันเข้า มาดำรงตำแหน่งได้พยายามวางรูปแบบให้มีการบริหารจัดการนมทั้งระบบ ทั้งการวางระบบนมโรงเรียน การนำเข้านมผงขาดมันเนยตามโควต้าขององค์กรการค้าโลก (WTO) ที่ผูกติดกับการรับซื้อน้ำนมดิบในประเทศเพื่อให้ได้สิทธิ์ประมูลนมโรงเรียน โดยมอบหมายให้ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทยลงนามรับรองสิทธิ์แก่โรงงานที่มีน้ำนมดิบในมือให้เข้าร่วมนมโรงเรียนได้ แต่กลับไม่มีกระบวนการตรวจสอบว่ามีนมดิบอยู่จริงหรือไม่ และการถ่ายโอนงบดังกล่าวมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)"ดร.ดำรงกล่าว
รูปแบบการจัดการนมทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหา เกิดขึ้นและมีพัฒนาการในรูปแบบเรียนรู้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2541 จนปัจจุบัน โดยพัฒนาระบบการจัดการนม แต่จุดเกิดที่สำคัญมีขึ้นในสมัยที่นายเนวิน ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะปานกลาง เช่น ให้ชุมนุมสหกรณ์ฯจัดตั้งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ให้ผู้ผลิตหรือโรงงานนมในท้องถิ่นที่ทำนมโรงเรียนสร้างตลาดในท้องถิ่น ศึกษาวิจัยการแปรรูปน้ำนมดิบ กำหนดราคากลางนมโรงเรียน เปิดลงทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ฯลฯและในสัมยที่นายอาคม เองฉ้วน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯมีการร่าง พ.ร.บ.นมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งร่างดังกล่าวถูกประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลรักษาการ หลัง คมช.ปฎิวัติและยึดอำนาจ
ดร.ดำรง กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหาน้ำนมดิบทั้งระบบ ต้องยกเลิกพ.ร.บ.นมและผลิตภัณฑ์นม และกลับมาใช้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเดิม ซึ่งมีกรมปศุสัตว์เป็นฝ่ายเลขาแทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ที่เป็นฝ่ายเลขาฯตามพ.ร.บ.นมและ ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเป็นประธานคณะกรรมการฯ จากเดิม พ.ร.บ.กำหนดให้ปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน จัดตั้งองค์กรดูแลระบบบริหารจัดการนมและการรับรองสิทธิ์ให้แก่ผู้ผลิตและโรงงานแทนชุมนุมสหกรณ์ฯ และจัดเก็บภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนยตามกรอบที่ WTO กำหนด คือ 20% จากเดิมเก็บแค่ 5%
ทั้งนี้ในรายงานวิจัยโครงการสังเคราะห์โอกาสการทำธุรกิจโคนม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับประเทศในลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) ของตนได้ชี้ให้เห็นว่า การให้อ.ส.ค.ทำหน้าที่เลขาฯซึ่งไม่ใช่หน่วยงานรับผิดชอบงานตามโครงสร้างการบ ริหาร ทุกวันนี้อ.ส.ค.เองไม่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐมาร่วม 10ปี ต้องทำธุรกรรมเลี้ยงตัวเองเป็นหลักแต่ต้องมารองรับนโยบายของรัฐจนแทบจะเอา ตัวเองไม่รอด รัฐจึงต้องทบทวนบทบาทของอ.ส.ค.ใหม่หากจะให้เข้ามามีส่วนในการส่งเสริมการ เลี้ยงโคนมก็ต้องสนับสนุนงบประมาณแก่ อ.ส.ค.ด้วย