ทีดีอาร์ไอ ค้านรบ.เสนอประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

ทีดีอาร์ไอ ค้านรบ.เสนอประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

ทีดีอาร์ไอ ค้านรบ.เสนอประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปลัดแรงงานหนุนแนวคิด อภิสิทธิ์ ผลักดันให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระ เลขาธิการ สปส.ชี้ต้องใช้เวลาศึกษาจะแจงอีกครั้ง ทีดีอาร์ไอ ค้านไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอาจจะส่งผลดำเนินงานเละเทะไม่มีเอกภาพเสนอให้หลุดพ้นจากอำนาจของบอร์ด

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะผลักดันให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์การมหาชน หรือองค์กรอิสระเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ว่า หากมีการปฏิรูป สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระแล้วเกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน และเป็นประโยชน์ในการลงทุนให้สามารถดำเนินการได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ก็สามารถปฏิบัติได้ เพราะเรื่องนี้มีแนวคิดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณา เนื่องจากต้องเร่งแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างก่อน ซึ่งในวันที่ 10 มีนาคมนี้ สปส.จะนำเรื่องการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง เข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด สปส.

ด้าน นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (เลขาธิการ สปส.) กล่าวว่า สปส.เคยเสนอเรื่องการปฏิรูป สปส.เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว โดยจะแยกกองทุนประกันสังคมไปเป็นองค์การมหาชน แต่มีการเสนอว่าควรให้สำนักงานที่มีสถานะเป็นกรม อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประกันสังคมต้องใช้เวลาในการศึกษา หากมีความพร้อมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ขณะที่ นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปฏิรูป สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล และปัญหาการบริหารจัดการใน สปส.ได้ เพราะปัจจุบันมีหน่วยงานราชการจำนวนมากที่แปลงสภาพเป็นองค์กรอิสระ แต่การดำเนินงานเละเทะ ไม่มีเอกภาพ เนื่องจากไม่มีระเบียบการทำงานรองรับ

"การแก้ปัญหาให้ตรงจุดที่สุดคือ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เพื่อให้คณะกรรมการบริหารงานลงทุน ในกองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ หลุดพ้นจากอำนาจของบอร์ด สปส. ที่อาจไม่มีความเข้าใจมากพอในเรื่องการเงิน การลงทุน ในกองทุนชราภาพกว่า 5 แสนล้านบาท จากนั้นจึงค่อยปรับแนวทางการบริหารงานลงทุนใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยให้แสดงข้อมูลการลงทุนอย่างโปร่งใส และระบุนิยามของผลประโยชน์ทับซ้อนให้ชัดเจน" นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณ กล่าวว่า ส่วนวิธีการได้มาของคณะกรรมการการลงทุนนั้น ควรมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา และคณะกรรมการการลงทุน โดยผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการสรรหาจะต้องมาจากองค์กรอิสระหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และหากได้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก สำหรับผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนชราภาพ ที่ สปส.ใช้แนวทางให้ผู้ประกันตนได้รับเงินร้อยละ 20 ของเงินสมทบนั้น ในอนาคต สปส.จะประสบปัญหาไม่สามารถหารายได้ทันกับรายจ่ายที่แน่นอนตายตัว ดังนั้นควรปรับแนวทางเงินปันผล โดยให้ผู้ประกันตนได้รับทั้งเงินสมทบที่ลงไป และผลตอบแทนการลงทุนในเวลาเดียวกัน เพื่อป้องกันภาวะขาดทุน

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์รับข้อเสนอนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเสนอมานานแล้ว และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถนำไปดำเนินการได้ทันที และควรปฏิรูป สปส.ทั้งระบบ เพื่อให้หลุดพ้นจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง โดยปรับเปลี่ยนหลายส่วน เช่น ที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่มาของผู้ทรงคุณวุฒิ การขยายสิทธิประโยชน์ เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook