ชะตากรรม “โรฮิงญา” บนสงครามสื่อโซเชียล
สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา เท่าที่รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ก็คือ ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยความโหดร้าย และการหนีตายของชาวโรฮิงญา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้แน่ชัดเลยว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากฝ่ายทหาร หรือมีกลุ่มก่อการร้ายจริงหรือไม่
การสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลเมียนมาร์ กับกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮิงญา ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ท่ามกลางการอพยพหลบหนีของประชาชน ที่ส่วนใหญ่มุ่งหน้าสู่ชายแดนบังกลาเทศ แต่การสู้รบครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนพื้นที่ในรัฐยะไข่เท่านั้น สงครามวาทะบนโลกโซเชียล ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยต่างฝ่ายต่างใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ต บอกเล่าสถานการณ์ตามที่ตัวเองอยากให้เป็น และกล่าวหาว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง
อย่างฝ่ายรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ก็ใช้ช่องทางสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก นำเสนอว่า ทหารฝ่ายรัฐบาลเข้าไปในรัฐยะไข่ ก็เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่มีชื่อว่า อารากัน โรฮิงญา ซาลเวชั่น อาร์มี หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งอารากันโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย
ขณะที่กลุ่มอารากันโรฮิงญาก็ใช้ช่องทางเดียวกันคือเฟซบุ๊ก ออกมาตอบโต้ว่า ทหารรัฐบาลเข้ามาเพื่อฆ่าชาวโรฮิงญา ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ รวมถึงมีการเผาบ้านเรือนประชาชนอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเมียนมาบอกว่า การเผาบ้านเป็นฝีมือของกลุ่มอารากันโรฮิงญาเอง ที่ต้องการให้สังคมภายนอกเข้าใจผิด และหันมาสนับสนุนพวกตัวเอง
นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ที่เข้าไปเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ก็ตกเป็นเป้าถูกโจมตีเช่นกัน โดยกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล นำภาพสิ่งของที่องค์กรเหล่านี้ นำไปแจกจ่ายช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ถูกดัดแปลงไปทำเป็นอาวุธ ทำให้ชาวเมียนมาเกิดความโกรธแค้นองค์กรความช่วยเหลือ เพียงเพราะไม่ต้องการให้คนพวกนี้เข้าไปช่วยชาวโรฮิงญานั่นเอง สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นรายงานบนหน้าจอโลกโซเชียล แต่ในความเป็นจริงแล้ว สื่อมวลชนที่เป็นกลาง ไม่มีโอกาสเข้าไปดูหรือพบกับสถานการณ์จริงเลย มีเพียงสื่อของรัฐบาล และของกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น ที่รู้ว่าความจริงคืออะไร