ป.ป.ท.ข้องใจ แค่ 3 เดือน กบข. ขาดทุนอ่วม7.4หมื่นล. แต่โบนัสผู้บริหาร3เดือน
เลขาป.ป.ท.แฉ"กบข."ไตรมาสสุดท้ายปี51ขาดทุน7.4หมื่นล้าน สมาชิกกว่าล้านมียอดเงินติดลบอย่างน้อยคนละหมื่น แต่ยังแจกโบนัสผู้บริหาร3เดือน เลขาฯกองทุนบำเหน็จฯอ้างจ่ายเป็นสวัสดิการพนง.ปกติ ชี้ขาดทุนกำไร เงินต้นยังอยู่ครบ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ถึงการตรวจสอบการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งผลประกอบการขาดทุน ทำให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.กว่า 1.1ล้านคน ได้รับความเสียหาย โดยมียอดเงินสมทบติดลบ ว่า ได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการในสำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ตรวจสอบ กบข. นอกจากนั้น ยังมีข้าราชการอีกหลายหน่วยงานได้ร้องเรียนมายัง ป.ป.ท.เป็นลายลักษณ์อักษร โดยกังวลและคลางแคลงใจในการบริหารของ กบข.ที่ผลประกอบการขาดทุน จึงมอบหมายให้ชุดสืบสวนจากหน่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2 หน่วยงานการข่าว และหน่วยกฎหมายของ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบการตัดสินใจและบริหารสินทรัพย์และการลงทุนของ กบข.
"ได้รับข้อมูลการร้องเรียนว่า สินทรัพย์ของ กบข.ที่มีอยู่จนถึงกลางปี พ.ศ.2551 มีทั้งสิ้น 376,000 ล้านบาท แต่ผลจากการลงทุนเพียง 4 เดือนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 กบข.ขาดทุนไปถึง 74,000 ล้านบาท ส่งผลให้ข้าราชการแต่ละคนมียอดเงินติดลบเฉลี่ยอย่างน้อย 10,000 บาท กบข.จึงควรออกมาให้ข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และให้ข้าราชการหายคลางแคลงใจ เพราะกฎหมายกำหนดให้ กบข.ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่เหตุใดปีที่ผ่านมา การลงทุนของ กบข.จึงขาดทุนส่งผลให้ยอดเงินสะสมของข้าราชการติดลบเป็นจำนวนมาก" นายธาริตกล่าว
นายธาริตกล่าวว่า กบข.เป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบ ที่ผ่านมากรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ มีผู้บริหารปล่อยสินเชื่อผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหาย ก็ยังต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา
นายธาริตกล่าวว่า ป.ป.ท.จะประสานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และวิทยาลัยตลาดทุน ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมวิเคราะห์การลงทุนของ กบข.ที่ขาดทุน เพื่อให้รู้ว่า สถานการณ์จริงเป็นอย่างไร หากข้าราชการรายใดต้องการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเงิน กบข.สามารถติดต่อได้ที่สำนักงาน ป.ป.ท.
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กบข.ออกมาชี้แจงการบริหารเงินสะสมขาดทุนว่า เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดย กบข.ขาดทุนเพียงร้อยละ 5.31 ถือว่าเป็นน้อยเมื่อเทียบกับผลประกอบการกองทุนในลักษณะเดียวกันที่ประเทศสหรัฐที่ขาดทุนสูงถึง ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ กบข.จะขาดทุน แต่ผู้บริหารของ กบข.ได้รับเงินโบนัสในปี 2551 เฉลี่ยคนละ 3 เดือน สร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการจำนวนมากที่เป็นสมาชิก กบข.
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข.กล่าวว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนของ กบข.ในปี 2551 ที่ติดลบประมาณ 5% เป็นไปตามภาพรวมของการลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลง ยืนยันว่า ผลตอบแทนที่ติดลบดังกล่าวเป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชี และเป็นการขาดทุนกำไรเท่านั้น ส่วนเงินต้นของสมาชิกยังอยู่ครบ นอกจากนี้ เมื่อหักลบกับผลประโยชน์ตลอด 11 ปี ของการก่อตั้ง กบข. มา ถือว่า ยังมีผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 7% หรือหากคิดผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 2 ปี คือ ระหว่างปี 2550-2551 ผลตอบแทนก็ยังเป็นบวกอยู่ 2% และเชื่อว่าการลงทุนในปีนี้น่าจะได้รับผลแทนเป็นบวก
"แม้ผลตอบแทนการลงทุนในปีที่แล้วจะติดลบประมาณ 5% แต่เงินของสมาชิกไม่ได้หายไปไหน เมื่อครบกำหนดจะได้รับคืนทั้งหมด ส่วนที่หายไปเป็นเพียงในส่วนของผลประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น ไม่ใช่นโยบายการลงทุนที่ผิดพลาด" นายวิสิฐกล่าว
เลขาธิการ กบข.ว่า หาก ป.ป.ท.จะเข้าตรวจสอบการดำเนินงานและนโยบายการลงทุนของ กบข. ก็พร้อมจะให้ข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ชี้แจงแก่สมาชิกมาตลอด เพราะยอมรับว่ายังมีบางคนที่ยังไม่เข้าใจ หลังจากนี้ จะพยายามชี้แจงสมาชิกให้มากขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีผลการลงทุนติดลบ แต่ กบข.ยังจ่ายโบนัสให้ผู้บริหารถึง 3 เดือนนั้น นายวิสิฐกล่าวว่า มีการจ่ายโบนัสเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น เป็นการจ่ายปกติเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน เรื่องโบนัสจะมี 2 ส่วน คือ 1.โบนัสที่จ่ายเป็นปกติทุกปี และ 2.โบนัสที่อิงกับผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งในส่วนนี้มีอัตราการจ่ายที่ต่ำมาก และในปีที่แล้วเมื่อผลตอบแทนติดลบก็ไม่มีการจ่ายในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงาน จากตรวจสอบงบดุลของ กบข. พบว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 กบข.มีสินทรัพย์สุทธิ 391,066 ล้านบาท ขณะที่สิ้นเดือนธันวาคม 2551 มีสินทรัพย์สุทธิ 391,882 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 716 ล้านบาท
ส่วนด้านเงินทุนรายบุคคลและผลประโยชน์ของสมาชิก ณ สิ้น เดือนกันยายน 2551 มีจำนวน 311,789 ล้านบาท แต่สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ลดลงเหลือ 299,353 ล้านบาท หรือลดลง 12,436 ล้านบาท