อาจารย์ร้อง ลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ. หลังค้ำประกันให้
อาจารย์เผยลูกศิษย์ให้ค้ำประกันเงินกู้ยืม กยศ. แต่กลับเบี้ยวหนี้ และทิ้งภาระให้ชดใช้หนี้แทน ชี้เครียดหนักและกำลังใกล้เกษียณราชการ
เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” ได้โพสต์เรื่องเกี่ยวกับการค้ำประกันเงินกู้ยืมของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ของอาจารย์รายหนึ่ง มีใจความว่า ตนเป็นข้าราชการครู ได้รับหนังสือจาก กยศ. ให้ชดใช้หนี้แทนผู้กู้ที่เป็นลูกศิษย์ ซึ่งตนเห็นว่าลูกศิษย์มีฐานะยากจน และมาขอให้ค้ำประกันเงินกู้
แต่ต่อมาปรากฏว่าลูกศิษย์ไม่ยอมชำระหนี้ และทิ้งภาระหนี้สินต้องให้ตนชดใช้ตามหนังสือที่อ้างถึง ทั้งนี้ผู้ที่กู้กยศและผู้ที่คิดจะค้ำประกันให้ เพื่อให้เป็นบทเรียน เป็นประโยชน์ กับคนอื่น ๆ และเป็นประโยชน์กับรัฐบาล กับรุ่นน้องที่รอเงินกู้จาก กยศ. ช่วยประชาสัมพันธ์ แจ้งให้กับผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. คิดถึงความรู้สึกของผู้ค้ำประกัน ที่อาจจะถึงขั้นต้องขึ้นศาล พร้อมกับความเครียด โดยเฉพาะตนที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณราชการ กลับต้องมารับสภาพแบบนี้
ทั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่น ต่างออกมาแสดงความคิดเห็น มีใจความว่า หากอาจารย์ไม่ค้ำประกันให้ ก็จะถูกตำหนิว่า เอาอนาคตของลูกศิษย์มาล้อเล่น อาจารย์ควรจะให้โอกาสลูกศิษย์บ้าง พร้อมตั้งคำถามว่าทราบได้อย่างไรว่าลูกศิษย์จะโกง และคำตำหนิต่างๆ ซึ่งต่างกับอาจารย์ที่เงียบๆ ไม่ค้ำประกันให้ และไม่ยุ่งกับลูกศิษย์มากเกินไป โดยเกษียณราชการแบบสบายใจ ต้องเลือกว่าอยากจะเป็นอาจารย์ลักษณะไหน
นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กบางราย ระบุว่า เป็นความมักง่ายของระบบค้ำประกัน แทนที่จะไปตามทวงเงินกับลูกหนี้ ซึ่งระบบนี้ควรจะหายไปจากระบบราชการ เพราะราชการควรจะมีอำนาจมากพอที่จะยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือตัดช่องอำนวยความสะดวกของลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายคดีและบังคับคดีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ใน พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่ให้รวบกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กับกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยกฎหมายฉบับใหม่ได้ระบุให้นายจ้างสามารถหักเงินจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ในกองทุน กยศ. ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 ล้าน 8 แสนคน เช่นเดียวกับการหักภาษีขอกรมสรรพากรในแต่ละเดือน และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2560