พลิกแฟ้มคดีดัง : แม่ชม้อย ตำนานแชร์ 4 พันล้าน

พลิกแฟ้มคดีดัง : แม่ชม้อย ตำนานแชร์ 4 พันล้าน

พลิกแฟ้มคดีดัง :  แม่ชม้อย ตำนานแชร์ 4 พันล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะล่วงเลยมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ชื่อ แม่ชม้อย หรือ ชม้อย ทิพย์โส ผู้ต้องหาคดีโกงแชร์น้ำมัน ยังคงเป็นที่จดจำของคนไทยจำนวนไม่น้อย

ระหว่างปี 2517-2528 แม่ชม้อยใช้ความสามารถในการเจรจาต่อรอง อุปโลกน์บริษัทขึ้นมาทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน หลอกระดมเงินทุนจากประชาชนที่ไม่เท่าทันได้เงินไปกว่า 4,000 ล้านบาท มีคนตกเป็นเหยื่อมากถึง 13,248 คน

แม่ชม้อยเป็นชาว จ.สิงห์บุรี หลังจบการศึกษาได้สมรสกับนายทหารอากาศคนหนึ่ง ก่อนจะเข้าทำงานที่องค์การเชื้อเพลิงในตำแหน่งเสมียนธุรการเมื่อปี 2504 กระทั่งได้ทำงานในหน้าที่ฝ่ายบริการทั่วไป และช่วยงานกองกลางฝ่ายบริหารทั่วไป

ต่อมานางชม้อยได้รับการชักนำจากเพื่อนร่วมงานให้ร่วมลงทุนค้าน้ำมัน เมื่อทำได้ระยะหนึ่งเห็นว่ารายได้ดี จึงชักชวนให้บุคคลอื่นๆ เข้าร่วมลงทุนด้วย กระทั่งมีผู้สนใจร่วมลงทุนค้าน้ำมันกับนางชม้อยเป็นจำนวนมาก

เมื่อเล็งเห็นช่องทางทำเงินเธอจึงตั้งบริษัท "ปิโตเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด" อุปโลกน์ว่าทำกิจการซื้อขายน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ มีเรือเดินทะเลขนส่งน้ำมัน โดยไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง

ต่อมานางชม้อยได้ใช่เล่ห์เหลี่ยมออกอุบายชักนำให้ผู้คนหลงเชื่อ นำเงินมาร่วมลงทุนกับบริษัท โดยทำสัญญากู้ยืมเงินว่าจะให้เงินตอบแทนในอัตราที่สูงลิบเป็นรายเดือน จนเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้นว่า "แชร์น้ำมัน"

นางชม้อยกำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี และในเดือนธันวาคมของทุกปีจะหักเงินไว้ร้อยละ 4 ของผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยอ้างว่าเป็นค่าภาษีการค้าและหักค่าเด็กปั๊มไว้อีกเดือนละ 100 บาท ตามจำนวนเดือนที่นำเงินมาให้กู้ยืม

ทุกครั้งที่มีเหยื่อหลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุน นางชม้อยจะออกหลักฐานเป็นสัญญากู้ยืมเงินตามแบบที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด หรือบางรายจะออกหลักฐานให้เป็นเช็ค โดยผู้ให้กู้ยืมสามารถเรียกคืนเงินต้นเมื่อใดก็ได้ และจะกลับมาให้กู้ยืมอีกก็ได้ในเงื่อนไขเดิม

ธุรกิจแชร์น้ำมันเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะระยะแรกทุกคนที่นำเงินมาร่วมลงทุน จะได้รับเงินตอบแทนตรงตามเวลาที่นัดหมายทุกเดือน รายใดที่ต้องการถอนเงินก็สามารถทำได้ทุกราย ประกอบกับนางชม้อยทำงานอยู่ในองค์กรเชื้อเพลิง ซึ่งกำกับดูแลเรื่องน้ำมันของประเทศอยู่แล้ว จึงเป็นที่น่าเชื่อถือ มีประชาชนนับหมื่นนำเงินมาร่วมลงทุน จนมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีนับหมื่นล้านบาทในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่ช่วงแรกผู้ที่นำเงินมาร่วมลงทุนจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้มีฐานะดี แต่ต่อมาก็แพร่หลายออกไปยังประชาชนทั่วไป ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ใครที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี นางชม้อยก็ให้นำเงินมาร่วมลงทุนได้ โดยแบ่งการลงทุนเป็นล้อ หมายถึงการแบ่งเล่นเป็นล้อคือ หนึ่งในสี่ของจำนวนเงินต่อคันรถน้ำมัน มีสัญญาเงินกู้เป็นหลักฐาน

ต่อมาเธอได้เปิด บริษัท อุดมข้าวหอมไทย จำกัด ขึ้นมาอีกบริษัท เพื่อใช้ในการหลอกระดมเงินเพิ่มเติม แต่ความจริงแล้วต้องการนำเงินที่ได้จากเหยื่อรายใหม่ไปจ่ายค่าตอบแทนให้เหยื่อรายเก่าเท่านั้น

การดำเนินธุรกิจแชร์น้ำมันล่วงเลยมาระยะหนึ่ง กรมสรรพากรได้ตรวจสอบธุรกิจของเธอ พบว่าบริษัทของนางชม้อยทั้งสองแห่งไม่ได้ทำธุรกิจค้าขายน้ำมันและค้าข้าวอย่างที่แจ้งไว้ ที่มีเงินมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ก็เพราะนำเงินที่ได้จากเหยื่อไปฝากธนาคารพาณิชย์ แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายให้เจ้าของเงิน

ขณะที่ตัวนางชม้อยเองก็นำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาไปซื้อทรัพย์สินมีค่าจำนวนมาก และปกปิดอำพรางซุกซ่อนไว้ จากนั้นไม่นานนางชม้อยก็หอบเอาเงินและทรัพย์สินหลบหนีไป

เมื่อเรื่องแดงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทยอยเข้าแจ้งความ แต่ด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ไม่อยู่ในข่ายที่จะสามารถดำเนินคดีนางชม้อยและพวกได้

รัฐบาลยุคนั้นเห็นว่าวิธีการระดมเงินของนางชม้อยเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชน ที่สูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง และเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน

จุดจบของนางชม้อยและพวกอีก 9 คน เกิดขึ้นเมื่อปี 2528 หลังจากธุรกิจแชร์น้ำมันถึงทางตัน ไม่สามารถผันเงินค่าตอบแทนมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ จึงถูกผู้ร่วมทุนนับพันคนแจ้งความร้องทุกข์

กระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 นางชม้อยและพวกจึงถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุม พร้อมทั้งยึดทรัพย์สร้างความตกตะลึงให้ชุดจับกุมอย่างมาก เนื่องจากนางชม้อยซุกซ่อนทรัพย์สินไว้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะเงินสดจำนวนมากบรรจุไว้ในถุงพลาสติกฝังไว้ในบ้านพักของเธอเองที่ จ.สิงห์บุรี ภาพการตรวจค้นถูกตีแผ่ในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ กลายเป็นเรื่องโจษขานของสังคมมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

คดีของนางชม้อยใช้เวลาสืบพยานในชั้นศาลนานกว่า 4 ปี สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 ให้นางชม้อยและพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี

แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปรวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

ทรัพย์สินของนางชม้อยและพวกที่ถูกยึด ได้ถูกนำไปเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหาย ขณะที่ตัวนางชม้อยถูกจำคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน กับอีก 5 วัน เพราะได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536

แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปี แต่คดีแชร์แม่ชม้อยยังถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่ในแวดวงนักกฎหมาย ในสถาบันการศึกษาแทบทุกแห่ง ที่มีการเรียนการสอนวิชากฎหมาย ต่างหยิบยกคดีขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการบัญญัติพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งผู้ทำผิดมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท

 

เหยื่อความโลภ

แม้จะมีคดีแชร์แม่ชม้อยเป็นคดีตัวอย่างมานานกว่า 30 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหัวหมอ ที่หลอกลวงเอาเงินจากประชาชน ด้วยวิธีระดมทุนทำธุรกิจในลักษณะ "แชร์ลูกโซ่" ทั้งที่มีการจับกุมกลุ่มคนเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง

พ.อ.ปิยวัฒน์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ในยุคปัจจุบันมานับครั้งไม่ถ้วน ระบุว่า มิจฉาชีพอาศัยความโลภของประชาชน หลอกเอาเงินและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมากไม่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าอดีต จึงกลายเป็นช่องทางในการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น

พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อสำคัญที่กำลังเป็นที่นิยมของมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกลวง เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับเหยื่อ โดยคนเหล่านี้จะไปสร้างเว็บเพจโฆษณาชวนเชื่อไว้ชักชวนให้ผู้คนนำเงินมาร่วมลงทุนในกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มิจฉาชีพอุปโลกน์ขึ้น แล้วอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงลิบ

"คนเหล่านี้มักเอาสินค้าที่อยู่ในความสนใจของสังคมมาเป็นข้ออ้าง เช่น น้ำมัน ทอง ข้าว หรือสินค้าการเกษตร มาเป็นข้ออ้างในการทำธุรกิจ เอาผลตอบแทนที่สูงลิบมาล่อระดมทุน ส่วนมากจะเริ่มจากธุรกิจขายตรง มีการจัดตั้งบริษัท มีการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่กลับไม่ได้ทำธุรกิจจริง เมื่อระดมเงินได้แล้วก็จะปิดบริษัทหอบเงินหนีไป"

ดีเอสไอร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตำรวจ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงการคลัง ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มมิจฉาชีพประเภทนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งแชร์น้ำมัน แชร์ข้าวสาร แชร์ก๋วยเตี๋ยว หรือแชร์ลูกโซ่อื่นใด แต่ยังไม่สามารถตัดรากถอนโคนกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ให้หมดไปในทันที

"ผลประโยชน์สูง จับกลุ่มนี้กลุ่มโน้นก็โผล่ มันมีมาเรื่อยๆ ตราบใดที่คนเหล่านี้ยังหาผลประโยชน์จากความโลภของประชาชนได้ การจับกุมคนเหล่านี้ก็ทำได้ยาก การจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหาย กว่าจะได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน คนเหล่านี้ก็ทำลายหลักฐาน หรือหลบหนีไปหมดแล้ว วิธีการที่จะยับยั้งไม่ให้คนเหล่านี้ทำความผิดได้ คือประชาชนจะต้องไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ"

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook