ตอบทุกคำถาม! ลงทะเบียนคนจน เพื่อบัตรคนจน ประชารัฐสวัสดิการ
เป็นเรื่องน่าดีใจกับพี่น้องชาวไทยหลังจากที่รัฐบาลได้ออกโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หรือ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคนที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ เรียกง่ายๆว่า บัตรคนจนนั่นเอง
โดยในปีนี้ได้เริ่มให้ลงทะเบียนคนจนตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2560 และจะได้ใช้สิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
แต่ก่อนที่จะได้รับสิทธิ์นั้นหลายคนอาจสงสัยว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำไปใช้ได้อย่างไรบ้างและที่สำคัญมีขั้นตอนอย่างไรในการพิจารณา ถึงจะได้รับสิทธิ์การใช้บัตรคนจน
เริ่มต้นด้วยคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือลงทะเบียนคนจนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560
1 ต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปโดยต้องเกิดก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2542
2 ต้องเป็นคนว่างงานหรือมีรายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 1 แสนบาท
3 ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝากธนาคารสลากออมสิน พันธบัตร และตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 แสนบาท
4 ต้องไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายหรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ
-กรณีที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
กรณีอยู่อย่างเดียวต้องเป็นบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์พื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือ การอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
-กรณีที่ดิน หากเพื่อการเกษตรต้องมีไม่เกิน 10 ไร่ หรือ กรณีเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องไม่เกิน 1 ไร่
หลังจากที่ลงทะเบียนคนจนเรียบร้อยแล้ว ต้องรอการตรวจสอบประวัติและพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ข้างต้นหรือไม่ ซึ่งวันที่ 15 กันยายน 2560 ได้ประกาศผู้ที่ผ่านเกณฑ์ โดยมีผู้ลงทะเบียนคนจนทั้งหมดถึง 14,176,170 คน และมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 11,431,681 คน
ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักเพื่อเช็คสิทธิ์ได้ที่ รายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ 2560
แต่ถ้าหากใครไม่ผ่านเกณฑ์ก็สามารถขออุทธรณ์ให้ตรวจสอบคุณสมบัติใหม่ได้ภายในวันที่ 29 กันยายน 2560 และจะประกาศผลอุทธรณ์ในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 รายละเอียดการยื่นอุทธรณ์
เมื่อได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ?
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะคล้ายบัตรเครดิตและ ATM คือ สามารถนำกดเงินจากตู้ ATM ได้ นำไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการขนส่ง รวมทั้งใช้ยืนยันสิทธิในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐทุกครั้ง
โดยการช่วยเหลือจะแบ่งตามรายได้ของผู้ลงทะเบียนคนจน 2 กลุ่มคือ
1.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 3๐,๐๐๐ บาทต่อปี
- ได้รับวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ
- ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ที่ร้านค้าก๊าซที่กระทรวงพลังงานกำหนด
- ค่ารถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน
- ค่ารถโดยสาร บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน
- ค่ารถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
2.กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ได้รับวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ
- ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ที่ร้านค้าก๊าซที่กระทรวงพลังงานกำหนด
- ค่ารถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน
- ค่ารถโดยสาร บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน
- ค่ารถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน
ทั้งนี้เงินช่วยเหลือจะถูกโอนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ยกเว้นวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจะเข้าทุกวันที่ 1 ของทุก 3 เดือน ซึ่งวงเงินคงเหลือของเดือนที่ผ่านมาจะไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป
นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องชายไทยที่ประสบกับปัญหาความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและจะสามารถยกระดับฐานะคนไทยให้กินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่ถ้าหากคนที่ได้รับการช่วยเหลือไม่รู้จักทำมาหากินมัวรอแต่ความช่วยเหลือ สุดท้ายแม้จะช่วยมากมายเท่าไหร่ชีวิตก็คงจะไม่ดีขึ้นจริงไหม..?