เผยอีก 41 ปีข้างหน้าพื้นที่ชายฝั่งทะเล แถบ กทม.-จว. 3 สมุทร เจอภัยน้ำท่วม

เผยอีก 41 ปีข้างหน้าพื้นที่ชายฝั่งทะเล แถบ กทม.-จว. 3 สมุทร เจอภัยน้ำท่วม

เผยอีก 41 ปีข้างหน้าพื้นที่ชายฝั่งทะเล แถบ กทม.-จว. 3 สมุทร เจอภัยน้ำท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์โลก-เอดีบี-เจบิค วิจัยพบพื้นที่ชายฝั่งทะเล แถบ กทม.-จว. 3 สมุทร กว่า 1 ล้านคน เจอภัยน้ำท่วม ในอีก 41 ปีข้างหน้า จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอีก 32 ซม. อาคารที่พักอาศัยเดือดร้อน เสียหายกว่า 1.4 แสนล้านบาท แนะทำคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก 1.5 เมตร พร้อมเพิ่มขนาดเครื่องสูบน้ำตามพื้นที่ต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเมืองหลักชายฝั่งทะเล กรณีศึกษาในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล (Climate Change Impact and Adaptation Study for Bangkok Metropolitan Region) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ อยุธยา บางกอก

นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ธนาคารโลก ได้ร่วมมือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) มอบหมายให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษาประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเมืองหลักชายฝั่งทะเล ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ผลการศึกษาพบข้อมูลที่น่าเป็นห่วง คือ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 หรืออีก 41 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว จะสูงขึ้น 12.3 เซนติเมตร และยังมีปัญหาแผ่นดินทรุดตัวลงอีก 20 เซนติเมตร ซึ่งหมายความว่าระดับน้ำทะเลจะสูงเพิ่มขึ้นถึง 32.3 เซ็นติเมตร สูงกว่าค่าที่เจบิคได้คาดการณ์ไว้ 29 เซนติเมตร

"หัวข้อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นหัวข้อโต้แย้งกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ และยากแก่การหาข้อสรุป อย่างไรก็ตาม พื้นที่ อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เคยเกิดเหตุน้ำท่วมจากสาเหตุการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในเดือนกันยายน 2545" นายประกอบระบุ

นายประกอบ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์แบบจำลอง ได้คาดการณ์ผลกระทบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climaye change) อย่างรุนแรงในอีก 41 ปีข้างหน้า ดังนี้ 1.ประชาชนในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ ประมาณ 1 ล้านคน จะประสบภัยน้ำท่วม หรือเพิ่มขึ้น 6.8 แสนคนจากกรณีสภาพปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณเขตดอนเมือง บางคอแหลม ยานนาวา และสาทร ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง ขณะที่ปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพียง 320,000 คน

2.อาคารและที่พักอาศัยประมาณ 1.1 ล้านหลัง จะได้รับผลกระทบ โดยมีน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยมีช่วงระยะเวลาน้ำท่วมต่างกัน และประมาณ 1 ใน 3 ของบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในเขตบางขุนเทียน บางบอน บางแค และ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

3.ชุมชนแออัดในเขตคลองสาน บางคอแหลม สาทร และราษฎร์บูรณะ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม 4.ถนนในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 1,700 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 5.สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม อาจเกิดน้ำท่วมที่ความลึก 50-100 เซนติเมตร 6.โรงพยาบาลและสถานพยาบาลจำนวน 127 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในเขต บางขุนเทียน บางบอน บางแค และ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่โรงผลิตไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อยต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นายประกอบ กล่าวว่า ผลการวิจัยได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมสูงถึง 148,386 ล้านบาท เทียบกับปี 2551 ที่มีความเสียหายจากน้ำท่วมมูลค่า 35,285 ล้านบาทโดยอาคารและสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบสูงสุด ร้อยละ 77 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด การสูญเสียรายได้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 15 และ 7 ตามลำดับ

"ทั้งหมดยังเป็นเพียงการคาดการณ์จากแบบจำลอง อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้เสนอมาตรการป้องกันด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น การปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วม การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง" นายประกอบกล่าว

นายประกอบ กล่าวด้วยว่า มาตรการป้องกันผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงได้แก่ 1.เพิ่มความสูงสันคันกั้นน้ำในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จากแนวคันกันน้ำเดิม อีก 0-1.5 เมตร เป็นระยะทาง 235 กิโลเมตร 2.เพิ่มขนาดเครื่องสูบน้ำคลองภาษีเจริญจาก 18 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 550 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเพิ่มคลองระบายน้ำให้มีความยาวอีก 27 กิโลเมตร 3.เพิ่มขนาดเครื่องสูบน้ำสนามชัย จาก 36 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 350 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเพิ่มความยาวคลองระบายน้ำอีก 32.5 กิโลเมตร และ 4.เพิ่มขนาดเครื่องสูบน้ำขุนราชพินิจใจ จาก 30 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 250 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเพิ่มความยาวคลองระบายน้ำอีก 14.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2551-มีนาคม 2552 โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Nam Model) และ HD Model และอ้างอิงรูปแบบการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใน ปี 2538 และ 2545 โดยการสร้างภาพจำลองเพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน การทรุดตัวของแผ่นดิน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง

ผลการศึกษาครั้งนี้ของไทย ธนาคารโลก เอดีบี และเจบิค จะนำไปรวบรวมกับผลการสึกษาในเมืองหลักชายฝั่งทะเลในทวีปเอเชีย เพื่อจัดทำเป็นรายงานสรุปผลการสึกษา ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการประเมินความคล้ายคลึงและแตกต่างของผลในแต่ละมหานคร และใช้กำหนดวิธีการทั่วไปในการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ที่พร้อมจะนำปใช้กับเมืองชายฝั่งทะเลในภูมิภาคอื่นต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook