บินสำรวจ "หุบเขาไฮโซ" พบถูกบุกรุกมานานกว่า 10 ปี
สำรวจหุบเขาไฮโซพบถูกบุกรุกมานานกว่า 10 ปี กระทั่งเรื่องแดงเพราะนักลงทุนขัดแย้งกันเอง จนเกิดการร้องเรียนนำไปสู่การตรวจสอบ ขณะราคาที่ดินยังพุ่งสูง ติดป้ายขายคึกคัก
(26 ก.ย.) ภายหลังอธิบดีกรมป่าไม้ และชุดพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "หุบเขาไฮโซ" เนื่องจากมีกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดิน เพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ทหรู จำนวนมาก เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นป่าธรรมชาติที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 30 กิโลเมตร
เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบมีสิ่งปลูกสร้างรุกพื้นที่ป่า 18 แห่ง เนื้อที่รวมประมาณ 144 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ซึ่งมีรีสอร์ทที่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน จำนวน 11 แปลง เนื้อที่ 47 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา เป็น นส.3 จำนวน 1 แปลง 2 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา และเป็นพื้นที่ที่เคยสำรวจการถือครองตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 8 แปลง เนื้อที่ 41 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา และพื้นที่ประเภทอื่นๆ อีก 8 แปลง
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจในทำเลหุบเขาไฮโซ พบว่ามีการติดป้ายประกาศขายที่ดินกันอย่างคึกคัก แม้บางแปลงมีเอกสารสิทธิ์ นส.3 แต่ก็มีราคาสูงถึง ตารางวาละ 5,000 – 10,000 บาท หรือ ไร่ละ 3 – 5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ ตารางวาละ 2,000 – 3,000 บาท
โดยราคาขายจะเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของทำเล เช่น ตั้งอยู่ติดเชิงเขา หรือติดถนนสายหลักภายในหมู่บ้าน มีระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า เข้าถึง และส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินจะขายยกแปลง แต่ละแปลงมีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10 – 50 ไร่
แหล่งข่าวในวงการที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ใน จ.เชียงใหม่ ระบุว่า นอกจากทำเลที่ตั้งจะเป็นป่าธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และยังอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด ที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินซึ่งมีจำนวนไม่มาก แต่ด้วยความต้องการที่มีสูง ทำให้การบุกรุกและขยายแนวเขตรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนและอุทยานฯ
“ก่อนหน้านี้เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนเข้าไปบุกเบิกพื้นที่สร้างรีสอร์ทเพียงไม่กี่รายจนบูมขึ้นมา ยิ่งทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่หุบเขาไฮโซมีมูลค่าสูงขึ้นมาก และมีการบุกรุกพื้นที่กันอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความขัดแย้ง นำไปสู่การร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ กระทั่งหน่วยงานรัฐเข้ามาสำรวจพื้นที่ครั้งใหญ่ และดำเนินการกับผู้บุกรุกป่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้กันดีกว่ามีการซื้อขายที่ดินและรุกล้ำเข้าไปในเขตป่ากันอย่างโจ่งแจ้ง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็น”
หนึ่งในผู้ที่ถูกตรวจสอบจากกรมป่าไม้ ระบุว่า เข้ามาซื้อที่ดินในหุบเขาไฮโซตั้งแต่ปี 2555 จากสามีชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย ซึ่งได้ประกาศขายที่ดินผ่านเวปไซต์ โดยก่อนหน้านี้มีชาวต่างชายในวัยเกษียณเข้ามาซื้อที่ดินและสร้างบ้านเพื่อหวังใช้ชีวิตบั่นปลายที่นี่ก่อน จากนั้นจึงชักชวนให้เพื่อนชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออีก 5 – 6 ราย โดยแต่ละรายเสียเงินซื้อที่ดินและสร้างบ้านไม่ต่ำกว่าหลังละ 5 – 12 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 38 – 39 ล้านบาท
ต่อมาเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้เข้ามาตรวจสอบและรังวัดที่ดินจึงทราบว่า มีที่ดินบางส่วนรุกเข้าไปในเขตป่าสงวน ทางกลุ่มผู้ซื้อจึงรวมตัวกันฟ้องร้องสองสามีภรรยาที่หลอกขายที่ดินให้ รวม 5 คดี เป็นคดีฉ้อโกง 4 คดี และยักยอกทรัพย์ 1 คดี ล่าสุดมี 1 คดีที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องผิดแปลง และอีกฝ่ายก็มีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีรายชื่ออยู่ในการสำรวจการถือครองที่ดิน