อย.หาทางสกัดขบวนการไล่ซื้อยาแก้หวัดเอาไปสกัดทำยาบ้า

อย.หาทางสกัดขบวนการไล่ซื้อยาแก้หวัดเอาไปสกัดทำยาบ้า

อย.หาทางสกัดขบวนการไล่ซื้อยาแก้หวัดเอาไปสกัดทำยาบ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย.สั่งคุมเข้มจ่ายยาแก้หวัด-อัลฟาโซแลม ขบวนการค้ายาลักลอบตระเวนซื้อยาแก้หวัดไปสกัดสารทำยาบ้าส่งขายต่างประเทศ ล้อมคอก บริษัทยาทำแพ็คเกจใหม่ ขายยกแผงสำหรับร้านขายยาทั่วไป ทำให้มีราคาแพงขึ้น ส่วนโรงพยาบาลขายยกขวดเหมือนเดิม ขอเวลา 1-2 เดือน หากไม่ได้ผลย้ายไปอยู่บัญชียาควบคุมพิเศษต้องให้หมอสั่งจ่าย สุเทพ ย้ำปราบยาเสพติดไม่มีการอุ้มฆ่า-ฆ่าตัดตอน

ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ถึงการเฝ้าระวังจำนวนการใช้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของ สารสูโดเอฟรีดีน(Pseudoephedrine) ที่อาจมีคนลักลอบนำไปเป็นสารผลิตยาบ้า โดยมีการควบคุมบริษัทผู้ผลิตยาที่สั่งนำเข้าสารดังกล่าว รวมถึงให้รายงานยอดการจำหน่ายยาทุกครั้ง เพื่อให้ทราบว่ามีเส้นทางการซื้อขายที่ถูกต้องหรือไม่ โดยที่ผ่านมาอย.ตรวจพบว่าผู้ผลิตบางรายแจ้งข้อมูลเท็จ โดยอ้างว่ามีการจำหน่ายยาดังกล่าวจำนวนมากให้กับคลินิก และร้านขายยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่เมื่ออย.ตรวจสอบไปยังร้านขายยาและคลินิกที่ถูกกล่าวอ้างกลับพบว่าไม่มีการสั่งยาดังกล่าวมาจำหน่าย แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ยาแก้หวัดมี 2 ประเภท คือ ชนิดที่เป็นยาสูโดเอฟรีดีน 100% ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น แต่หากเป็นยาสูตรผสม หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปแต่ต้องไม่เกินครั้งละ 60 เม็ด ซึ่งอย.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดตรวจสอบอย่างเข้มข้น หากมีการสั่งยาทั้ง 2 ชนิดไปขายในพื้นที่ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ก็ให้รีบเช็คข้อเท็จจริงว่า นำยาไปใช้ในลักษณะใด มีการแอบลักลอบนำไปผลิตเป็นยาบ้าหรือเสพเป็นยาเสพติดหรือไม่

ภญ.วีรวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องนำยาคลายเครียดหรืออัลฟาโซแลม ไปผสมแอลกอฮอล์เพื่อเสพ ทำให้รู้สึกสนุกสนาน เคลิบเคลิ้ม มึนงง เวียนศรีษะ ไม่รู้สึกตัว เพราะประสาทส่วนกลางถูกกด เช่นเดียวกับการนำยาแก้ไอหรือยาลดน้ำมูกไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วดื่ม ซึ่งเดิมเคยตรวจพบเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นภาคใต้ แต่ปัจจุบัน มีการตรวจพบส่งขึ้นไปยังพื้นที่ภาคเหนือมากขึ้น

ภก.วินิต อัศวกิจวีรี ผู้อำนวยการกองควบคุมยา กล่าวว่า อย. ได้ประสาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) ให้เฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด โดยเฉพาะการตระเวนซื้อยาแก้หวัดเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดยจะนำไปสกัดสารบางชนิดไปเป็นส่วนผสมยาบ้า ซึ่งที่ผ่านมา มีการจับกุมครั้งใหญ่มาแล้ว โดยนำยาแก้หวัดที่ตระเวนซื้อส่งออกไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพราะสารในยาแก้หวัดมีสรรพคุณออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ประกอบมีราคาถูก ราคาต้นทุนเม็ดละ 30 สตางค์ หรือ 1 ขวด มียา 1,000 เม็ด ราคา 300 กว่าบาทเท่านั้น ที่สำคัญวิธีสกัดสารออกจากยาก็ทำได้ง่าย ใช้วิธีละลายเท่านั้น ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น อย. ได้ประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยา และผู้จำหน่ายยาทั้งส่งและปลีก ขอความร่วมมือให้จัดทำบรรจุภัณฑ์ยาแก้แพ้และยาแก้หวัดสำหรับร้านขายปลีกทั่วไปใหม่ ซึ่งจากเดิมจะขายเป็นเม็ด หรือขายยกขวด ให้เปลี่ยนเป็นขายเป็นแผงแทน แต่จะทำให้ยามีราคาแพงขึ้น ส่วนการขายให้สถานพยาบาลต่างๆ ให้ขายยกขวดตามปกติ ที่สำคัญให้ระมัดระวังหากมีผู้มาซื้อยาแก้หวัดจำนวนมากจนผิดปกติ ให้แจ้งเบาะแสมายังอย. หรือปปส. ได้ทันที และไม่ควรขายยาให้กับคนเหล่านี้

"หากภายใน 1-2 เดือนนี้ ปัญหาการลักลอบซื้อยาแก้แพ้และแก้หวัดไปผลิตยาบ้าระบาดหนักขึ้น จนทำให้ยาขายตลาดทำให้ผู้ป่วยไม่มียารับประทาน อย. จะพิจารณาเพิ่มการควบคุมโดยกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องให้แพทย์ เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น จากเดิมที่เป็นเพียงยาอันตราย ซึ่งไม่มีการควบคุม ประชาชนสามารถซื้อยาได้จากร้านขายยาทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาเดียวกับต่างประเทศ" ภก.วินิต กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้ยาแก้แพ้ และยาแก้หวัดในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 600 ล้านบาทต่อปี จากรายการยาที่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาและจำหน่ายในท้องตลาดกว่า 100 รายการ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารยก พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.ท.วรพงศ์ ชิวปรีชา ผบ.ชน. พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่า ในวันที่ 18 มีนาคม นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายให้กับส่วนราชการต่างๆ ที่จะเข้ามาบูรณาการแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากนั้นแต่ละส่วนจะไปเปิดยุทธการของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นศูนย์อำนวยการประสานแผนปฏิบัติการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็น ผอ.รมน.จังหวัด

"สำหรับผมจะประชุมหัวหน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศในวันที่ 20 มีนาคมนี้ และจะประเมินผลกันทุกเดือน โดย 6 เดือนแรก จะมารายงานกับประชาชนว่า สามารถป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมากน้อยแค่ไหน ยืนยันว่าจะเคารพสิทธิของประชาชน ไม่ล่วงละเมิด ทุกอย่างจะทำภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่มีการอุ้มฆ่า หรือฆ่าตัดตอน" รองนายกฯกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook