พบกบพันธุ์ใหม่ของโลก

พบกบพันธุ์ใหม่ของโลก

พบกบพันธุ์ใหม่ของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กบ สายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของโลก ลักษณะลำตัวค่อนข้างยาวใหญ่ หัวโต ตัวลื่น ต้องอยู่ในพื้นที่น้ำท่วงขังตลอดทั้งปี พบเฉพาะในประเทศไทย ที่ อ.วังน้ำเขียว โคราช ถูกตั้งชื่อแล้วว่า โคราช บิ๊กเฮด ฟอร์ก

วันนี้(18 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ประจำจังหวัดนครราชสีมารายงานหลังได้รับการเปิดเผยจาก นายทักษิณ อาชวาคม ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ว่า ได้ค้นพบกบสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดของโลกภายในป่าดงดิบสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อม สะแกราช ต.ภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยกบพันธุ์นี้มีลักษณะลำตัวค่อนข้างใหญ่ยาว ส่วนของหัวกว้าง บนหัวระหว่างตาทั้งสองข้างมีรอยพับของแผ่นหนังพาดขวางในตำแหน่งด้านท้ายของ ตา เพศผู้มีหัวใหญ่กว่าเพศเมีย ผิวหนังส่วนต้นของลำตัวค่อนข้างเรียบแต่ผิวหนังส่วนท้ายลำตัวและบนขาหลังมี ตุ่มกระจายหนาแน่นโดยเฉพาะด้านข้างลำตัว ส่วนยอดของตุ่มบางตุ่มเป็นสีขาว ขาหน้าและขาหลังสั้นแต่ใหญ่ นิ้วตีนหน้าไม่มีแผ่นหนังระหว่างนิ้ว ส่วนนิ้วตีนหลังมีแผ่นหนังเต็มความยาวนิ้ว

จากการสำรวจโดยละเอียดพบว่า ลูกอ๊อดมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่(ประมาณลูกอ๊อดปาดบ้าน)ลำตัวแบนและมีสีน้ำตาล บนหลังมีปื้นสีน้ำตาลเข้มกระจาย หางยาว และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงแผ่นครีบหางใหญ่ ปากอยู่ทางด้านล่างของหัว ช่องปากใหญ่ ตุ่มฟันในอุ้งปากมีจำนวนแถวและลักษณะการเรียงตัวเป็นสูตร I:1+1/1+1:I ขอบของจะงอยปากบนและจะงอยปากล่างมีรอยหยัก

ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช กล่าวต่อว่า จากการสำรวจวิจัยพบว่ากบชนิดนี้พบเห็นเฉพาะที่ประเทศไทย ในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช บริเวณลำห้วยบนภูเขาสูง ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้กองใบไม้ที่ทับถม หรือซอกหินตามลำห้วย และออกหากินในเวลากลางคืน ผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงต้นปี ซึ่งจะเห็นลูกอ๊อดขนาดใหญ่ในช่วงเดือนเมษายน ออกหากินบริเวณพื้นท้องน้ำ ซึ่งทางทีมวิจัยที่ค้นพบได้ตั้งชื่อกบพันธุ์ใหม่ของโลกว่า "โคราช บิ๊กเฮด ฟอร์ก" ให้เป็นเกียรติแก่จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชซึ่งเป็นจังหวัดที่ค้นพบกบชนิด นี้เป็นแห่งแรก

ด้านนายวุฒิ ทักษิณธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน หนึ่งในคณะวิจัยเปิดเผยว่า กบชนิดนี้มีลักษณะที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากกบห้วยขาปุ่มที่พบทั่วไป โดยมีลักษณะเด่นคือ หัวโต ตัวจะลื่นๆ และฤดูการสืบพันธุ์ก็แตกต่างจากกบชนิดอื่นๆ เช่น กบนาจะสืบพันธุ์ช่วงต้นฤดูฝน แต่กบพันธุ์ใหม่นี้จะสืบพันธ์ในช่วงปลายฤดูฝนที่น้ำในลำห้วยนิ่งแล้วเพื่อ ไม่ให้กระแสน้ำหลากไหลพัดเอาไข่หรือลูกอ๊อดลอยหายไปตามกระแสน้ำ รวมทั้งลักษณะโดยทั่วไปในการดำรงชีวิตต้องอยู่ในแหล่งน้ำที่มีน้ำขังตลอด ทั้งปี ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะถ้าหากพื้นที่ป่าถูกทำลายจนส่งผลให้น้ำตามลำห้วยในป่าแห้งขอด กบชนิดนี้จะปรับตัวไม่ได้ก็จะสูญพันธุ์ไป.

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook