เปิดเบื้องหลังหมัดน็อคทำ"ยิ่งลักษณ์"ถูกสั่งจำคุก 5 ปี
เผยบรรยากาศและคำพิพากษาลับหลัง คดีปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (27 ก.ย. 60) ผู้สื่อข่าว เปิดเผยถึงบรรยากาศเกือบ 4 ชั่วโมงในห้องพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า นับตั้งแต่ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีของ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" โดยองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนผลัดกันอ่าน บางประเด็นศาลให้น้ำหนักตามข้อมูลที่อัยการยื่นฟ้อง แต่บางข้อมูลศาลให้น้ำหนักตามข้อมูลของน.ส.ยิ่งลักษณ์
ผู้สื่อข่าวพีพีทีวี ที่เข้าร่วมฟังคำพิพากษา ยกตัวอย่างมาให้ดู 5 ประเด็น 1.กรณีที่ี่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินส่งหนังสือเตือนรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ยุติโครงการรับจำนำข้าว โดยแนบเอกสารการทำโครงการรับจำนำข้าวปี 2548-2550 ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกอบการพิจารณา แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังเดินหน้าทำโครงการต่อเนื่อง
ประเด็นนี้ศาลเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามออกมาตรการป้องกันช่องโหว่เดิมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2548-2550 รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการดูแลการรับจำนำข้าวในด้านต่างๆ รวม 16 คณะเพื่อแก้ปัญหา
(ประเด็นนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้คะแนน 1 แต้ม)
2.การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริต มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ศาลระบุว่า การตรวจสอบกลับไม่ได้ตรวจสอบในประเด็นที่ถูกนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศาลจึงเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตั้งใจตรวจสอบการทุจริตอย่างจริงจัง
(ประเด็นนี้อัยการได้คะแนน 1:1)
3.หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าโครงการ การคัดเลือกข้าวเปลือก หลักเกณฑ์การสีแปรข้าว ทั้งหมดนี้เป็นข้อครหาที่ทำให้โครงการรับจำนำข้าวถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับพวงพ้อง แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวเรื่องการพบใบประทวนปลอม การเวียนข้าวกลับมาขาย ปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ
แต่ทั้งหมดนี้ศาล ระบุว่า จากข้อมูลพบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง ประเด็นนี้จึงไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ตัดสินลงโทษฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้
(น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้คะแนนนำอัยการ ไป 2:1)
4.โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาและต้องเดินหน้าเพราะสัญญากับประชาชนไว้ นี่คือสิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันมาตลอด แต่ศาลมองว่าอีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงต่อรัฐสภาและสัญญากับประชาชนไว้ไม่ต่างจากรับจำนำข้าว คือ การเร่งปรามปราบการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ดำเนินการ
(น.ส.ยิ่งลักษณ์และอัยการ เสมอกันไป 2:2)
5.ข้อกล่าวหาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ระงับยับยั้งการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี แม้จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการตรวจสอบเป็นข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ใต้การกำกับดูแลของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ศาลจึงเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตั้งใจตรวจสอบ
นอกจากนี้ในคำพิพากษายังเปรียบเทียบความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจีกับการยับยั้งการขายข้าวถุง ศาลเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์เร่งรัดการตรวจสอบการทุจริตข้าวถุง จนสามารถยุติการขายข้าวถุงได้ ขณะที่การระบายข้าวแบบจีทูจีกลับปล่อยให้มีการทำสัญญามากถึง 6 ฉบับโดยไม่ดำเนินการใดใด
(สรุปคะแนน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับอัยการ คือ 3:2)
สุดท้ายศาลตัดสินว่าการไม่ระงับยับยั้งการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ทั้งที่ทำได้ ถือเป็น "การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" ของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย จึงมีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา