ริ้วขบวนพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี
พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ ทรงได้รับการยกย่องเป็นสมมติเทพ กล่าวคือเป็นเทวดาจุติลงมาอุบัติบนโลกมนุษย์ ครั้นเมื่อสวรรคตเท่ากับเป็นการเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพจึงถือเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อน้อมส่งเสด็จพระมหากษัตริย์สู่สวรรคาลัย โดยอัญเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพออกจากพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ เคลื่อนสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อัญเชิญพระบรมโกศเวียนรอบพระเมรุมาศ จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธาน แล้วจึงถวายพระเพลิง วันรุ่งขึ้นอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง
การอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญไปด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า “ริ้วขบวน” ซึ่งในแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจำนวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ได้พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ได้แก่ เครื่องสูง พระกลด บังสูรย์พัดโบก บังแทรก พุ่มเงิน พุ่มทอง จามร พระอภิรุมชุมสาย แวดล้อมตามพระราชฐานันดรศักดิ์แห่งพระบรมศพ หรือพระศพนั้น ๆ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประโคม เช่น สังข์แตร ปี่ กลองชนะ พร้อมสรรพด้วยโขลนพลโยธาแห่นําตามแซงเสด็จทั้งคู่แห่ คู่เคียง เป็นจํานวนมาก ซึ่งจะเข้าขบวนและเคลื่อนขบวนไปอย่างมีระเบียบและสง่างาม
การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นสิ่งที่สำคัญ จึงต้องบูรณะและตกแต่งราชรถ รวมทั้งราชยาน คานหาม ให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่ง
ราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์