ป.ป.ส. ยันไม่พบ “ยาซอมบี้” แพร่ระบาดในไทย

ป.ป.ส. ยันไม่พบ “ยาซอมบี้” แพร่ระบาดในไทย

ป.ป.ส. ยันไม่พบ “ยาซอมบี้” แพร่ระบาดในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปจากต่างประเทศในโลกสังคมออนไลน์ มีชายหนุ่มลักษณะคล้ายคนเมา ใช้ศีรษะโขกหน้ารถบัสโดยไม่รู้สึกเจ็บ และอีกหนึ่งคลิปเป็นหญิงสาวที่นั่งอยู่กระบะท้ายรถตำรวจ มีท่าทีคลุ้มคลั่ง ตาแข็ง โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาการดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดที่มีลักษณะคล้ายผงเกลืออาบน้ำ หรือที่เรียกว่า “Bath Salts”

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพบว่า “Bath Salts” หรือ “Flakka” เป็นยาเสพติดประเภท Designer drugs หรือยาเสพติดแบบสังเคราะห์ แต่เดิมขายอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ต่อมาพบว่าเพิ่มปัญหาภาวะเป็นพิษต่อวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับความนิยมใช้แทนยาที่ผิดกฎหมาย บางครั้งถูกเรียกว่า “Legal Cocaine” แต่มีชื่อที่รู้จักกันดีในทางการค้าว่า “Bath Salts” เพราะมีลักษณะคล้ายเกลือที่ใช้แช่อาบน้ำ และมีชื่อทางเคมีว่า Pyrrolidinopentiophenone หรือ PVP และ Alpha-PVP จัดเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มของคาทิโนน (Cathinone) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากราคาถูก และสามารถหาซื้อได้ง่าย

โดยมีฤทธิ์รุนแรงและอันตรายมากกว่าโคเคนและยาบ้านับสิบเท่าในราคาที่ต่ำกว่ามาก ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท และหลอนประสาท ทำให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้ม อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส คล้ายเป็นไข้หนัก หัวใจวาย ไตหยุดทำงาน และตายในที่สุด หากรอดมาได้ก็จะเข้าขั้นจิตหลอน มีพลังขับเคลื่อนทางเพศแบบบ้าคลั่ง เกิดอาการคล้ายสัตว์ป่าหิวกระหาย หัวใจเต้นแรง ประสาทสัมผัสทุกชนิดตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา หวาดระแวงและคลุ้มคลั่ง มีอาการไร้สติสัมปชัญญะอย่างยาวนาน บางครั้งใช้เวลาหลายวันกว่าจะหายคลั่ง ซึ่งผู้เสพจะรู้สึกอยากเสพมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เสพยาเกินขนาดจนเสียชีวิตในที่สุด

ขณะที่ UNODC จัดให้มีการควบคุม Alpha-PVP เป็นสารสังเคราะห์ที่ผิดกฎหมายในหลายๆ ประเทศ ในประเทศไทยยังไม่มีการควบคุม เนื่องจากยังไม่พบข้อมูลการแพร่ระบาดของ Alpha-PVP แต่มีการควบคุมสารสังเคราะห์ในกลุ่มคาทิโนนชนิดอื่นที่มีลักษณะการออกฤทธิ์คล้ายกัน และเคยตรวจพบในประเทศไทย ได้แก่ เมทิโลน, บิวทิโลน, 4-MEC, และ MDPV โดยจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ด้าน นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเคยควบคุมตัวผู้มีอาการลักษณะเดียวกันได้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอย่างใกล้ชิด โดยในประเทศไทยยังไม่พบการแพร่ระบาดของยาเสพติดประเภทนี้แต่อย่างใด เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในต่างประเทศ และเป็นเพียงการตั้งข้อสันนิษฐาน ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่าเกิดจากการใช้ยาเสพติดประเภทใด อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งเตือนไปยังเยาวชน ประชาชน ถึงอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการใช้ยาในทางที่ผิด เนื่องจากมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook