คำถามโลกแตก เพราะใคร.? ปัญหาน้ำท่วม กทม.
“น้ำเข้ามาในบ้านถึงหัวเข่าจากแต่ก่อน 20-30 ปีที่แล้วอยู่ไม่เคยท่วมเลย เขตดินแดงนี่เป็นทะเลเลย รถยนต์ถูกน้ำท่วมกว่าครึ่งคัน ขนาดมอเตอร์ไซค์ยังไปลำบาก ตั้งแต่เกิดมาครั้งนี้หนักสุดเลยของใช้ไฟฟ้าเสียหายหมด ซึ่งคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการระบายน้ำไม่ทัน จึงอยากจะฝากเตือนผู้มีอำนาจเตรียมการรับมือน้ำท่วมขังให้มีความพร้อมมากกว่านี้”
นี่คือเสียงสะท้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ปริมาณน้ำฝนได้โหมกระหน่ำลงมามากที่สุดในรอบ 30 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่ตกเกิน 200 มิลลิเมตร คือปี พ.ศ. 2529 มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 270 มิลลิเมตร
แต่จากนั้นเป็นต้นมาปริมาณน้ำฝนก็ไม่เคยตกเกิน 200 มิลลิเมตรเลย จนเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 13 ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนตกเกิน 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงหลายจุดในเขตกรุงเทพมหานครกว่า 50 จุด อันเป็นผลพวงมาจากการระบายน้ำเป็นไปได้ล่าช้าทำให้เกิดน้ำท่วมขังสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามจากประชาชนคนกรุงว่าระบบการจัดการเรื่องการระบายน้ำกรุงเทพมหานครนั้นไม่มีความพร้อมจริงหรือไม่..?
ซึ่ง นายจักรพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า กทม.มีการวางแผนพร้อมรับมือกับน้ำท่วมขังหากฝนตกหนักตลอดเวลา แต่เมื่อคืนนี้มีฝนตกลงมา 203 มิลลิเมตร ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ ที่ฝนตกมากที่สุดในรอบปี
ทำให้การระบายน้ำเกิดปัญหาติดขัดต้องใช้เวลาอย่างมาก โดยปริมาณน้ำฝนที่ กทม.จะรับมือไหว และระบายได้ทัน ตามแผนที่วางไว้คือ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อคืนนี้ถือว่าฝนตกลงมาเกินถึง 3 เท่า อาจจะทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าเดิม
ส่วนเรื่องการเตือนภัยหรือแจ้งให้ประชาชนเฝ้าระวังทาง กทม. ยอมรับว่า ไม่คาดคิดมาก่อนว่าฝนจะตกมาเยอะขนาดนี้
สอดคล้องกับระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากปริมาณน้ำฝนของกรุงเทพมหานครที่ได้ก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยโดยเร็ว ซึ่งขีดความสามารถของระบบระบายน้ำสามารถรองรับปริมาณฝนได้ไม่เกิน 60 มม./ชม.
ประกอบไปด้วยประตูระบายน้ำ 227 แห่ง, ท่อระบายน้ำ 6,400 กม., แก้มลิง 25 แห่ง ,สถานีสูบน้ำ 174 แห่ง, อุโมงค์ระบายน้ำ 7 แห่ง, คู คลอง 1,682 สาย
ฉะนั้นแล้วการที่ปริมาณน้ำฝนที่มีมากที่สุดในรอบ 30 ปี อาจอยู่เหนือความคาดหมายและขีดจำกัดในการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครซะทีเดียว หรือ จะโทษการจัดการของเจ้าหน้าที่อย่างเดียวก็คงไม่ได้
ทั้งนี้ลองหันกลับมามองปัญหาหรือจุดเล็กๆที่อาจเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานครอันเกิดมาจากกการระบายน้ำไม่ทันของระบบท่อระบายน้ำ นั่นคือปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งได้รับรายงานจากทางเจ้าหน้าที่หน่วยดูแลเครื่องสูบน้ำว่าเจอปัญหาเศษขยะชิ้นเล็กๆ ที่ถูกทิ้งลงในท่อและในคลองเข้าไปอุดตันในท่อสูบน้ำจนไม่สามารถระบายน้ำต่อไปได้
ทีนี้ลองมาดูกันว่ากรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะจำนวนมากเท่าใด..?
จากสถิติของสำนักสิ่งแวดล้อมพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บได้ในแต่ละวันในกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 59 – 31 กรกฎาคม 60 พบว่ามีปริมาณขยะสูงถึงวันล่ะกว่า 10,000 ตันเลยทีเดียว หากเทียบกับประชากรในเขตกรุงเทพมหานครที่มีมากกว่า 5.7 ล้าน จะเท่ากับว่าใน 1 วัน จะมีคนทิ้งขยะประมาณ 1.7 กิโลกรัมต่อคนเลยทีเดียว
และถ้าหากว่าประชากรหนึ่งในจำนวนนี้ทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำลำคลองหรือในท่อระบายน้ำด้วยความมักง่าย ขยะเหล่านี้ก็จะเป็นปัญหาเล็กๆที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับการระบายของกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังอันเนื่องมาจากฝนตกหนักเพราะท่อระรายน้ำไม่สามารถจะทำงานได้เต็มที่ หรือ อาจจะอุดตันจนไม่สามารถใช้งานได้
ซึ่งภาพที่ปรากฏบนโลกออนไลน์เมื่อเกิดน้ำท่วมขังเศษขยะก็ลอยเกลื่อนตามท่อระบายน้ำ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นพอจะตอบคำถามได้หรือไม่ว่าปัญหาน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นเพราะใครกันแน่...!!!