ทำด้วยใจ เล่าด้วยภาพ กับเรื่องราวของคนเบื้องหลังพระเมรุมาศ

ทำด้วยใจ เล่าด้วยภาพ กับเรื่องราวของคนเบื้องหลังพระเมรุมาศ

ทำด้วยใจ เล่าด้วยภาพ กับเรื่องราวของคนเบื้องหลังพระเมรุมาศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอด 1 ปี นับจากวันที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต ประชาชนส่วนหนึ่งได้มารวมตัวกันในนามของ ‘จิตอาสาพระเมรุมาศ’ สละเวลาเพื่อร่วมแรง ร่วมใจ ทำให้งานพระราชพิธีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้ ออกมาอย่างสมพระเกียรติที่สุด

แต่ละคนล้วนแต่นำความสามารถของตัวเองมาใช้ในการรังสรรค์ทั้งงานจิตรกรรมและงานประติมากรรมที่งดงาม ขณะที่อีกหลายคนนั้น แม้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ก็อาสาสละเวลามาช่วยในสิ่งที่ตัวเองพอทำได้ เพื่อช่วยให้งานใหญ่ครั้งนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ภาคภูมิ ประทุมเจริญ ถือเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ ทว่า หน้าที่ของเขาในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอาจแตกต่างจากคนอื่นตรงที่เขารับหน้าที่จิตอาสาบันทึกภาพเบื้องหลังการจัดสร้างพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีครั้งนี้

p4

ภาคภูมิเล่าว่า หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น เขาตกอยู่ในความเศร้าเป็นเวลานานเสียจนหลงลืมไปว่าตัวเองควรจะทำอะไร เมื่อได้สติ เขาก็พบว่าได้พาตัวเองเข้ามาอยู่ในวงล้อมของจิตอาสา และได้เห็นภาพจิตอาสาเหล่านั้นที่นำอาหารไปแจกจ่ายให้กับจิตอาสาฝ่ายอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างขะมักเขม้นกับการถวายงานสร้างพระเมรุมาศให้เสร็จสมบูรณ์

“เราเคยแต่มองเห็นอยู่ไกลๆ ว่าสนามหลวงไม่เหมือนเดิม แต่วันนั้นเราสัมผัสได้ว่าตรงนี้มันเต็มไปด้วยชีวิต เต็มไปด้วยเรื่องราว คนที่อาสามาทำงานพวกนี้ยิ่งใหญ่มาก ทำให้อยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ทำงานกันอย่างไร” นั่นคือความรู้สึกของภาคภูมิในวันแรกที่เขาได้ไปเห็นภาพการเตรียมงานอย่างใกล้ชิด

ความทุ่มเทของคนที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้นทำให้เกิดความรู้สึกใหม่ในใจเขา นอกจากจะอยากเห็นความคืบหน้าของสิ่งปลูกสร้างแล้ว เขายังสนใจเรื่องราวของคนเบื้องหลังจำนวนมากที่เป็นส่วนหนึ่งของงานใหญ่ครั้งนี้

12หลังจากนั้น เมื่อมีโอกาสนำอาหารไปเติมพลังให้กับจิตอาสาอีก เขาก็พกกล้องถ่ายรูปติดตัวไปด้วย และเริ่มเก็บภาพของจิตอาสา รวมถึงเจ้าหน้าที่ โดยใช้พื้นฐานจากการทำสารคดีที่สะสมมาหลายปีตลอดเวลาที่เป็นพิธีกรรายการ ‘คนค้นฅน’

“การทำสารคดีทำให้เรามีความศรัทธากับคนเล็กๆ ที่ทำงานเงียบๆ หรือคนที่ปิดทองหลังพระอยู่แล้ว อย่างเมื่อก่อนตอนที่ยังทำงาน เราต้องเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อตามหาคนเหล่านี้ แต่วันนี้เมื่อเราเข้าไปที่สนามหลวง คนเหล่านั้นมารวมตัวกันที่นี่ ชุมชนที่เราเห็น สังคมที่เราเห็นตรงนี้ คือคนที่เราศรัทธา คือคนที่เราต้องคารวะ”

3

 ช่วงแรกที่เข้าไปเก็บภาพนั้น เขายังไม่มีบัตรจิตอาสา แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะกำลังถ่ายรูปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน เขาสะดุดตากับชายคนหนึ่งจนต้องกดชัตเตอร์เก็บภาพไว้ และเอ่ยปากขอให้ชายผู้นั้นขยับเล็กน้อย เพื่อให้ได้ภาพที่สวยยิ่งขึ้น เมื่อถ่ายเสร็จ ชายคนดังกล่าวก็ขอดูภาพ

“ตอนนั้นตกใจเลย คิดว่าจะโดนลบภาพหรือเปล่า เพราะเขาถามว่า มาทำไม มาจากไหน ถ่ายไปทำไม เราก็ตอบกลับไปว่า ผมไม่ได้คิดอะไรครับ กลับมารอบหน้า ผมอยากจะส่งภาพที่ผมถ่ายให้กับทุกคน” ภาคภูมิเล่าถึงบทสนทนาระหว่างเขากับหนึ่งในจิตอาสาคนหนึ่งที่มารู้ทีหลัง ท่านคืออาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้

อาจารย์ก่อเกียรติถามต่อว่า “คุณเอาจริงหรือเปล่า รู้ใช่ไหมว่าเข้ามาที่นี่แล้ว ถ้าคิดไม่ดีก็ไม่ได้ดี เมื่อคุณคิดอะไรก็จะได้แบบนั้น”

คำตอบของภาคภูมิคือ “ผมอยากเก็บภาพคนเบื้องหลัง อยากเก็บภาพเหล่านี้ให้กับเขา เพื่อจะแทนคำขอบคุณที่เขามาทำงานตรงนี้แทนคนไทยทุกคน”

4

ภาคภูมิเล่าต่อว่า ตอนที่ตอบไปอย่างนั้น เขาไม่คิดเลยว่าตัวเองจะได้มาทำหน้าที่ตรงนี้อย่างจริงจัง เพราะอุปกรณ์ของเขามีเพียงกล้องถ่ายรูปแค่ 1 ตัวเท่านั้น แต่เมื่ออาจารย์ก่อเกียรติได้ฟังคำตอบ ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ได้บัตรจิตอาสาพระเมรุมาศ ลำดับที่ 619 มา

1

1 เดือนแรกหลังจากได้บัตร อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเฝ้าสังเกตการณ์ทำงานของแต่ละส่วนอย่างใกล้ชิด ทั้งที่สนามหลวงและสำนักช่างสิบหมู่ เพราะเขาไม่อยากให้การถ่ายภาพของเขาไปรบกวนทุกคนที่กำลังทำงานอย่างสงบและแน่วแน่ เสียงชัตเตอร์ของเขาอาจทำให้คนทำงานเสียสมาธิได้

การอยู่ในสถานที่ติดต่อกันทุกวัน ทำให้ทุกคนที่นั่นเริ่มคุ้นเคยกับเขาและเริ่มเปิดใจ ทั้งยังทำให้เขามีความรู้สึกร่วมกับผู้คนที่ได้เจอ เมื่อเข้าเดือนที่ 2 เขาถึงเริ่มลงมือถ่ายภาพคนเบื้องหลังตามที่ตั้งใจ และใช้เวลาเก็บภาพทั้งหมดเป็นเวลา 5 เดือนเต็มนับถึงปัจจุบัน

9

เขาเล่าว่า การทำงานตรงนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกตัวเล็กลงมาก เพราะได้เจอกับคนที่หัวใจยิ่งใหญ่ในทุกๆ วัน แต่ละคนทำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นป้าแม่บ้านที่เงินเดือนไม่ถึงหมื่นแต่ตัดสินใจลาออกมาอาสาทำความสะอาดพื้นที่เตรียมงาน เพื่อให้ในวันรุ่งขึ้นทุกๆ วัน จิตอาสาคนอื่นๆ จะได้มีพื้นที่ทำงานที่สะอาดและทำงานได้อย่างราบรื่น หรืออย่างอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้เขียนภาพจิตรกรรมบนฝาผนังเป็นภาพโครงการพระราชดำริที่ชุมพร ที่ขับรถไปดูถึงสถานที่จริงเพื่อให้ภาพออกมาเหมือนจริงที่สุด

หลายคนเลือกที่จะนอนกางเต็นท์ข้างผลงานของตัวเอง ยอมสละความสะดวกสบาย แทนที่จะนอนในบริเวณที่พักที่จัดไว้ เพื่อจะได้ทำงานได้ทันทีที่ตื่นนอน บางคนแม้จะทำงานในส่วนของตัวเองเสร็จแล้ว แต่เมื่อเห็นว่างานที่ทำไม่เข้ากับของเพื่อนๆ จิตอาสาคนอื่น ก็ลงมือทำใหม่ตั้งแต่ต้น ไม่ยอมปล่อยผ่าน เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

162586วสันต์ วณิชชากร

เมื่อพูดถึงภาพถ่ายของเขา นายภาคภูมิยอมรับว่าภาพของเขาไม่ใช่ภาพที่สวย ไม่ได้มีการจัดระเบียบภาพที่ดี ไม่ใช่มุมของมืออาชีพอะไร เป็นภาพธรรมดา แต่มีความหมายกับคนในภาพ เมื่อถ่ายไประยะหนึ่งก็ได้รับโอกาสจากอาจารย์ในสำนักช่างสิบหมู่ ให้ช่วยเก็บภาพไว้เป็นประวัติศาสตร์ ของทางสำนักด้วย

แน่นอนว่าการมาเป็นจิตอาสาถ่ายภาพเบื้องหลังการจัดสร้างพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีฯ นี้ถือเป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิตของเขา และยังทำให้เขาเป็นคนที่ใจเย็นลง การได้มาทำตรงนี้ เหมือนมาเข้าโรงเรียนติวเข้มของพ่อ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับชีวิตมากขึ้น ทุกคนที่มีส่วนร่วมให้เหตุการณ์นี้เสมือนครูที่พ่อส่งมา ทุกคนมีคุณค่า ทุกคนเป็นแบบเรียน เป็นผู้สอนโดยไม่ต้องพูด

เขามองว่า ในรูปธรรม การถวายงานครั้งนี้เป็นดั่งโรงเรียนสุดท้ายที่พ่อมอบให้คนไทย แต่จริงๆ แล้วทุกที่ ที่พ่อเสด็จพระราชดำเนินไป ถือเป็นโรงเรียนทั้งสิ้น เรามีโรงเรียนชีวิตที่พ่อทิ้งไว้ให้เราศึกษา อย่างไม่จบไม่สิ้น ทุกถิ่นทั่วประเทศ โรงเรียนเหล่านี้จะพร่ำสอนคนไทยทุกคน และข้อสอบครั้งใหญ่ก็คือ หลังจากงานพระราชพิธีฯ เสร็จสิ้น พวกเราคนไทยจะทำข้อสอบ ที่ไม่ต้องตอบคำตอบบนกระดาษ แต่เป็นข้อสอบในชีวิตจริงได้ดีแค่ไหน

2

5

และอีกคนหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คืออาจารย์ก่อเกียรติเอง ซึ่งภาคภูมิยกให้เป็นบุคคลที่จะเป็นต้นแบบในชีวิตของเขาหลังจากนี้ เพราะ “อาจารย์เป็นคนที่มีบทบาทและมีภาระที่หนักอึ้งมากในงานครั้งนี้ แต่ท่านไม่เคยแสดงอาการเหนื่อยเลย ในความเป็นหัวหน้าทีม ก็ไม่เคยทำให้ลูกน้องต้องลำบากใจ เป็นทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี”

8

หลังงานพระราชพิธีฯ เสร็จสิ้น เขาได้รับโอกาสให้จัดทำหนังสือเฉพาะกิจ รวมภาพเบื้องหลังจากการจัดสร้างพระเมรุมาศของจิตอาสา ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีชื่อดังเป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้จะจัดทำเพื่อแจกฟรีทั้งหมด 1,000 เล่ม รวมถึงเผยแพร่ในรูปแบบ e-book ด้วย

ทุกๆ วันที่ทำงานตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ภาคภูมิบอกว่า เขาไม่เคยเหนื่อยเลย แค่ไม่อยากให้วันนั้นมาถึง แต่เขาก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ทำได้และเป็นไปได้ก็คือ ทำชีวิตให้ดีที่สุดและทำความดีตามรอยพระองค์ ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่เกิดในรัชกาลที่ 9

p2

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ทำด้วยใจ เล่าด้วยภาพ กับเรื่องราวของคนเบื้องหลังพระเมรุมาศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook