รูปแบบและธรรมเนียม การถวายพระเพลิงพระบรมศพ

รูปแบบและธรรมเนียม การถวายพระเพลิงพระบรมศพ

รูปแบบและธรรมเนียม การถวายพระเพลิงพระบรมศพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความรู้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จากข้อมูลใน เพจคลังประวัติศาสตร์ ได้เขียนข้อมูลไว้ดังนี้ 

การถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือการพระราชทานเพลิงพระศพนั้น ถือว่าเป็นงานพระราชพิธีใหญ่ ซึ่งมีธรรมเนียม และวิธีการปฏิบัติที่ตรงตามตำราดังที่ราชสำนักสืบทอดกันมา แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันนั้น การถวายพระเพลิงพระบรมศพได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยในปัจจุบันนั้นในราชสำนักมีรูปแบบของการถวายพระเพลิงพระบรมศพอยู่ทั้งหมด 4 รูปแบบดังที่คลังประวัติศาสตร์ไทยจะขออธิบายตามรูปภาพต่อไปนี้

 

ภาพที่ 1.การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีที่พระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ) การสุมเพลิงรูปแบบนี้เป็นแบบโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่ในปัจจุบันนี้ไม่พบว่ามีการถวายพระเพลิงพระศพบนพระจิตกาธานอีกแล้ว เนื่องจากควบคุมเพลิงได้ยาก เจ้าพนักงานจะต้องคอยฉีดน้ำและควบคุมทิศทางลมอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับปัจจุบันมีการนำเตาเผาสมัยใหม่เข้ามาใช้ทดแทน ดังภาพจะเห็นว่ามีเปลวเพลิงลุกไหม้อยู่ตลอดเวลา โดยเกิดจากการสุมเชื้อเพลิงด้านล่างของพระจิตกาธาน จากภาพคืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในปีพ.ศ. 2528

ภาพที่ 2.การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีพระบรมศพอยู่ในหีบ) ในรูปแบบนี้เป็นราชประเพณีที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เนื่องจากพระบรมศพของพระองค์ประดิษฐานอยู่ในหีบ ทางสำนักพระราชวังจึงทำการตั้งหีบพระบรมศพบนพระจิตกาธานแล้วนำพระบรมโกศ (โกศเปล่า) วางบนหีบพระบรมศพอีกชั้นหนึ่งดังภาพประกอบ ในคราวนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ หลังจากที่ผู้มาร่วมงานกลับกันหมดแล้วทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังพระเมรุมาศเพื่อควบคุมการถวายพระเพลิงด้วยพระองค์เอง

ภาพที่ 3.การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในหีบ) ในรูปแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน จนถึงงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีกระบวนการต่างๆคล้ายกับงานพระบรมศพของสมเด็จย่า แต่จะแตกต่างกันตรงที่ได้อัญเชิญหีบทรงพระศพลงจากพระจิตกาธาน เข้าไปพระราชทานเพลิงในเตาเผาไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุแทน จากภาพคือเตาไฟฟ้าสมัยใหม่ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

ภาพที่ 4.การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในพระโกศ) ในรูปแบบนี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกเช่นกัน จนถึงปี พ.ศ.2555 ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดาฯ ลูกเธอในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่พระศพของพระองค์ประดิษฐานอยู่ในพระโกศตามโบราณราชประเพณี แต่เมื่อถึงเวลาพระราชทานเพลิงพระศพจริงนั้น เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระโกศลงจากพระจิตกาธานเพื่อไปพระราชทานเพลิงยังเตาไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกแทน ดังจะเห็นในภาพที่ขนาดของเตาไฟฟ้านั้นมีขนาดใหญ่ และสูงกว่าปกติ เพื่อที่สามารถอัญเชิญพระโกศเข้าไปภายในเตาไฟฟ้าได้

*จิตกาธาน คือ เชิงตะกอนหรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook