ถ้าสาเหตุการตายไม่ชัด ก็ลองมารู้จักการชันสูตรพลิกศพดู

ถ้าสาเหตุการตายไม่ชัด ก็ลองมารู้จักการชันสูตรพลิกศพดู

ถ้าสาเหตุการตายไม่ชัด ก็ลองมารู้จักการชันสูตรพลิกศพดู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยังเป็นข้อสงสัยเมื่อสาเหตุการเสียชีวิตของ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเปิดเผย กับความจริงที่ครอบครัวไปพบไม่ตรงกัน อ่านข่าวเพิ่มเติม วันนี้ลองมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่าการชันสูตรพลิกศพในบ้านเราหมายถึงอะไร มีวิธีขั้นตอนอย่างไร

การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทยเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า บุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย"

การตายโดยผิดธรรมชาติ มี 5 ลักษณะ คือ 1.ฆ่าตัวตาย 2.การถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3.การถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4.การตายโดยอุบัติเหตุ 5.การตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

วิธีการชันสูตรพลิกศพในบ้านเรามี 2 วิธี คือ

1. การตรวจสอบด้วยการพลิกศพ เป็นการตรวจสภาพภายนอกของศพ ดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของที่ติดตัว เพื่อดูว่าผู้ตายคือใคร ดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังเสียชีวิต เพื่อประมาณเวลาเสียชีวิต ดูลักษณะบาดแผลที่ปรากฏเพื่อสันนิษฐานหาสาเหตุ โดยต้องพลิกดูศพทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงใช้คำว่า พลิกศพ

2. การตรวจสอบด้วยการผ่าศพ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต เพราะจะทำให้ทราบรายละเอียดหากเกิดข้อสงสัยจากการพลิกศพ และอาจจะทำให้ทราบว่าแผลนั้นเกิดจากอาวุธ หรือวัตถุอะไร และอาวุธ หรือวัตถุนั้น โดนอวัยวะอะไรจึงทำให้ถึงแก่ชีวิต

แต่จะกระทำการผ่าได้ต่อเมื่อ การชันสูตรพลิกศพ ไม่สามารถบอกสาเหตุการณ์เสียชีวิตได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา มาตรา 151 บัญญัติว่า "ในเมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพเพื่อแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพ หรือบางส่วนไปยังแพทย์ หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้"

ซึ่งนอกจากผ่าศพดูดด้วยตาเปล่า ยังรวมถึงการตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย

574206

สถานที่ชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย หากพิจารณาตามกฎหมายแล้ว มีเจตนารมณ์ให้ทำการชันสูตร ณ สถานที่ที่พบศพ โดยเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ ส่วนแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรศพนั้นได้แก่ แพทย์ตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 150 กำหนดไว้

ได้แก่ นิติเวชแพทย์ , แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด , หรือแพทย์อาสาสมัครที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุข

หลังจากได้มีการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นแล้ว หากยังหาสาเหตุการตายไม่ได้ หรือไม่ชัดแจ้ง จะส่งศพให้แพทย์ทำการผ่าศพตรวจโดยละเอียดได้ (ตาม ป.วิ อาญา ม.151) ณ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชเช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น

สำหรับต่างจังหวัดอาจส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ,โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ในแต่ละภูมิภาค หรือโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีแพทย์นิติเวชประจำอยู่ การนำศพไปชันสูตร ณ โรงพยาบาล มักเป็นการดำเนินการโดยอนุโลม เช่น แพทย์ไม่สะดวกในการเดินทางไปชันสูตรในพื้นที่ที่เกิดเหตุ หรือเป็นการเคลื่อนย้ายศพมาชันสูตรเพิ่มเติม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook