เชื่อต่างแล้วผิด? มอง "พี่นวล" ในมุมวิทยาศาสตร์และปรัชญา
เมื่อเรื่องพี่นวล หญิงท้องแก่ ที่โดนควายเผือกขวิด เฮี้ยนจนโดนปราบ แล้วปั้นเหน่งของพี่นวลก็ตกมาถึงมือฝาแฝด คุณแจ็ค คุณจิลล์ จนกลายเป็นล็อกเก็ตพี่นวล ที่ราคาแพงหลายหมื่น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ทำให้เห็นว่าความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ยังทำให้สังคมไทยเถียงกันรุนแรง แบ่งข้างคนเชื่อไม่เชื่อชัดเจนในโลกออนไลน์
Sanook! News จึงถือโอกาสนี้พูดคุยเรื่อง ไสยศาสตร์ กับนักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญา ดูบ้างว่าจะช่วยสังคมเถียงเรื่องนี้อย่างไร
ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 2554 ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นเจ้าของรางวัลนวัตกรรมนานาชาติด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี อีกกว่า 50 รางวัล
พูดเรื่องความเชื่อ ไสยศาสตร์ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักการสะสมพระเครื่องเลื่องชื่ออย่าง หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จนตัดสินใจขายหุ้นทิ้งหมดหน้าตัก เพราะเห็นว่าการสะสมพระเครื่องของเขาเป็น พุทธศิลป์ ผสมกับพุทธพาณิชย์อยู่บ้าง
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ อธิบายว่าคนเก็บวัตถุมงคลมีหลายแบบ "ทั้งเก็บเพื่อเป็นศิลปะ หรือพุทธศิลป์ พวกนี้จะสะสม เพราะชอบเชิงศิลปะและภาคภูมิใจในความหายาก เช่นพระเครื่องเก่าที่มีค่านิยมสูง เป็นต้น ส่วนพุทธพาณิชย์ ก็จะซื้อมาขายไปตามราคา ส่วนพวกเก็บแบบพวกของไสยศาสตร์เพื่อหวังแรงอภินิหารก็จะเป็นอีกความเชื่อหนึ่ง แต่ก็มีอีกหลายแบบ บางคนมีทั้งสามอย่างผสมกัน หรือแค่พุทธศิลป์ กับความรักและศรัทธา และมีการเช่าหาตามปกติแบบผม"
ส่วนที่ขายหุ้นทิ้ง เพราะรัก, ศรัทธา และชื่นชอบศิลปะการสร้าง รวมถึงประวัติศาสตร์การสร้างที่มาจากเจตนาและวัตถุประสงค์ที่บริสุทธิ์ของพระอาจารย์ทิม และยืนยันว่าที่สะสมไม่ได้หวังอภินิหาร เพราะส่วนตัวเชื่อในการทำความดีเท่านั้น
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ บอกว่า ถ้ามองรากฐานพุทธศาสนา ถือว่ามีเรื่องวิทยาศาสตร์ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของเหตุและผล มีการพิสูจน์ทราบ แต่ในอดีตนับพันปี เมื่อเริ่มมีศาสนาอื่นเข้ามาปะปน ก็ทำให้ความเชื่อ ประเพณีหรือวัฒนธรรมเชิงศาสนาบางส่วนเปลี่ยนไปบ้าง อย่างศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้า การบูชาเทพเจ้า พุทธแท้ๆ ไม่มี
ในขณะที่เรื่องวิทยาศาสตร์ กับ เรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องที่หาจุดเชื่อม หรือจุดคล้ายกันยาก แต่ถ้าถามว่าเรื่องไสยศาสตร์เป็นเรื่องดี หรือไม่ดี ต้องดูที่บริบทหรือจุดประสงค์ อย่างเรื่องแห่แมวดำขอฝน ก็กลายเป็นประเพณีท้องถิ่นและเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน ด้านดีคือทำให้คนมีศรัทธา มีความมั่นใจ และมีพลังในการมีชีวิตอยู่
แต่ถ้าความเชื่อความศรัทธาต่อเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคลแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ศ.ดร.ผดุงศักดิ์เห็นว่าเป็นเรื่องของค่านิยมหรือรสนิยมของแต่ละคน ที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย
"ผมยกตัวอย่าง เช่นตอนไปประเทศสิงคโปร์ ผมเข้าร้านร้านหนึ่ง คนขายรีบพูดว่า ช่วยซื้อของหน่อยนะ เพราะเป็นลูกค้าเจ้าแรก ถ้าไม่ซื้อวันนี้ต้องขายไม่ดีแน่ๆ อันนี้ก็เป็นความเชื่อเรื่องการค้าขาย คล้ายที่เมืองไทยมีนางกวัก เป็นเครื่องรางของขลังเชิงไสยศาสตร์ที่อยู่ในสังคม จนบางครั้งกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว เราก็ต้องมองหลายๆ มุมไม่ใช่มองแค่ด้านไม่ดี"
ซึ่งมันจะไม่เป็นปัญหาถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน หรือไม่ได้เป็นการใช้ความศรัทธา ความงมงายของใครมาทำเรื่องผิดกฎหมาย ไปหลอกให้ใครหลงเชื่อเกินความเป็นจริง สร้างเรื่องอภินิหารล้านแปด เพื่อให้เป็นที่นิยม แล้วมีการเรียกเงินเรียกทอง
"อันนี้ผมหมายถึงภาพรวมอย่างพุทธพาณิชย์ในวัดด้วยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง" ศ.ดร.ผดุงศักดิ์กล่าวภายหลัง
ขณะที่เรื่องของ พี่นวล ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ เห็นว่า "เรื่องเล่าเหล่านี้จะเกิดขึ้นบ่อยกับเครื่องรางของขลัง ส่วนเรื่องปาฏิหาริย์มันอยู่ที่ว่าเกิดขึ้นจากเจตนาของคน หรือเกิดจากธรรมชาติที่อธิบายไม่ได้ จนคนกล่าวขานต่อกันมา ซึ่งเขาเห็นว่าพลังศรัทธาของคนไม่มีผิดหรือถูก
แต่เดี๋ยวนี้เรื่องที่น่ากล่าวถึง และน่าเป็นกังวลมากกว่าเรื่องพี่นวล คือเรื่องพุทธพาณิชย์ในวัด ที่ทำเป็นกระบวนการ มีการทำการตลาดสร้างจุดเด่นให้วัด แล้วแบ่งเงินให้ออแกไนซ์ที่จัดงาน อันนี้มีจริง และผมว่าไม่น่ารักเลย" ดร.ทิ้งท้ายไว้เพื่ออยากให้ทุกคนได้ทบทวนและขบคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
ด้านอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นเรื่องไสยศาสตร์ของขลังในเชิงวิชาการ โดยอ้างอิงคำสอนของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า ไสยศาสตร์คือเทคโนโลยีโบราณ ที่ไม่ได้อิงกับวิทยาศาสตร์
เพราะเมื่อก่อนไม่มีวิทยาศาสตร์เลยเอาความเชื่อมาอธิบายในบางเรื่อง อย่างที่เห็นได้ชัดมาจนถึงปัจจุบัน คือเรื่องความรัก เป็นสิ่งที่ไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาอธิบาย แบบเรื่องดิน ฟ้า อากาศ จึงทำให้ยังมีการทำยาเสน่ห์ หรือเครื่องรางของขลังอื่นๆ
ซึ่งไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย ในตะวันตกก็ยังมีเรื่องแบบนี้ แต่ในเมืองนอกคนที่ไม่เชื่อ เขาจะศึกษาจะพยายามอธิบาย ถกเถียง
"สังคมไทยยังต้องการพื้นที่เปิดในการถกเถียงกันแบบแฟร์ๆ และต้องไม่คิดว่าการเถียงเป็นเรื่องร้ายแรง ตอนนี้เหมือนเราคิดกันว่า เถียง เท่ากับ ขัดแย้ง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ถ้าเถียงแบบมีกติกา มีเหตุผล เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ไม่ใช่ออกมาด่ากัน"
ส่วนความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง จะเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงคนกับความดีได้หรือไม่นั้น อาจารย์คมกฤชบอกว่า ถ้านับแบบเทคโนโลยีโบราณ ที่มีศีลธรรมเข้ามา เช่น การสักยันต์ สักแล้วจะต้องไม่ผิดลูกผิดเมีย มีคุณธรรมแบบนี้ก็น่าจะเชื่อม
แต่ปัจจุบันไม่รู้ที่มาที่ไป มีศีลธรรมหรือไม่ หรือกลายเป็นสินค้าที่ไม่มีการเชื่อมโยงกับอะไร เพราะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเรามีชื่อเสียงมาก ถือเป็นอันดับ 1 เรื่องเครื่องรางของขลัง และถึงไม่มีเรื่องพี่นวล ไม่มีการตลาดกระตุ้น เครื่องรางของขลัง ก็ขายดีได้ด้วยตัวของมันเอง
สำหรับอาจารย์คมกฤช พี่นวล ถือเป็นผลผลิตทางการตลาดเครื่องรางของขลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมบ้านเรา
"ผีที่ระบุชื่อแบบนี้มีให้ได้ยินบ่อยแต่มันไม่ดัง ส่วนเรื่องเล่าของพี่นวล คิดว่าเรื่องมันคล้ายแม่นาคพระโขนง จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงนั้นตอบไม่ได้ ถ้าอยากรู้ง่ายๆ ผมว่าเอารูปไปเช็คที่ทะเบียนราษฎร์ก็รู้แล้วครับ ส่วนคนจะเชื่อมากน้อยแค่ไหน ผมว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะเชื่อ เราไม่ควรเอาความเชื่อของตัวเองไปตัดสินความเชื่อของคนอื่น"
ประเด็นสำคัญที่อาจารย์คมกฤชอยากให้เกิดในสังคมไทย คือให้มองเหตุการณ์แบบเรื่องพี่นวล หรือลูกเทพ ในเชิงการศึกษา อย่าเพิ่งรีบไปตัดสิน ถ้ามองเชิงปรัชญาอย่ามองว่าเรื่องนี้มีแค่ขาวกับดำ หรือแบ่งแค่ดีกับไม่ดี
เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอยากให้มองในหลายๆ มุมแล้วศึกษา ตั้งคำถาม เช่น ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเราจึงทำให้เรื่องแบบนี้เป็นประเด็น เพราะตัวอาจารย์คมกฤชเอง มีจุดยืนว่าความเชื่อเป็นเรื่องของเสรีภาพ
"โลกสมัยใหม่ควรตั้งคำถามได้กับทุกเรื่อง อย่างเรามีคำถามกับศาสนา ขณะเดียวกันเราต้องสามารถตั้งคำถามกับเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ด้วย คนในสังคมควรถกเถียงกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดปัญญา จะเถียงแรงแค่ไหนก็ได้ แต่ขออย่าให้ถึงขั้นทำร้ายร่างกายเท่านั้นเอง"
สุดท้ายอาจารย์คมกฤชมีความคิดตรงกับ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ เรื่องพุทธพาณิชย์ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม
"วัดก็จัดงานได้นะ ผมไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่มันตรวจสอบได้หรือเปล่า ทั้งเรื่องใช้ความเชื่อแบบไหนมาดึงคนก็เป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องเงินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การที่วัดจะขายสินค้าไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะวัดก็ต้องใช้เงิน แต่มันตรวจสอบเงินได้หรือเปล่า หรือทำยังไงไม่ให้ขัดกับศาสนา จะลำดับความสำคัญของความเชื่ออย่างไร เพราะบ้านเรามีความสับสนอยู่เรื่องลำดับความสำคัญระหว่าง ผี พราหมณ์ พุทธ”