ครม.ไฟเขียว 'สิทธิมนุษยชน' เป็นวาระแห่งชาติ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและประกาศให้ใช้วาระแห่งชาติเป็นเรื่อง สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (วาระแห่งชาติฯ) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำวาระแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติฯ ตามที่ กระทรวงยุติธรรม กำหนดภายในเดือน พ.ย.61 และปี 62 และให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
และให้กระทรวงยุติธรรมนำประเด็นที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุได้ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) และข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศมากำหนดเป็นตัวชี้วัดด้วย โดยกระทรวงยุติธรรม ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ถึงแนวทางการดำเนินงานและการจัดทำรายงานตามตัวชี้วัดดังกล่าวด้วย
ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เสนอแนะให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนในการประชุมประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 7 ประการดังต่อไปนี้
(1) การใช้มาตรา 44 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่ง UNHRC มองว่าเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เป็นกฎที่ล้าหลัง และเปิดช่องให้มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือน โดยที่ คสช.ไม่ต้องรับผิดในภายหลัง
(2) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ไม่มีคุณภาพ ถูกลดสถานะจากเกรดเอ มาเป็นเกรดบี เนื่องจาก UNHRC ไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานและคัดเลือกคณะกรรมการของ กสม. พร้อมทั้งแนะนำว่า กสม.ควรจะดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและอิสระภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
(3) ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา โดย UNHRC ระบุว่าแม้ไทยจะบังคับใช้กฎหมายด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แต่ มาตรา 17 ของกฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้มีการกีดกันทางเพศบนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาและความมั่นคงของรัฐ และยังแสดงความกังวลต่อการกีดกันและการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTI กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มคนไร้สัญชาติ
(4) โทษประหาร เนื่องจากโทษประหารของไทยถูกบังคับใช้ในคดีที่ไม่ใช่ความผิดอาญาร้ายแรงด้วย อย่างเช่น การทุจริต ติดสินบน หรือยาเสพติด UNHRC จึงมองว่าไทยมีการตัดสินโทษประหารในแต่ละปีค่อนข้างมาก อยากให้รัฐบาลตรวจสอบระบบยุติธรรมและการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าโทษประหารจะถูกใช้กับคดีที่มีความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเท่านั้น
(5) การซ้อมทรมานและอุ้มหาย ซึ่ง UNHRC เรียกร้องให้ไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยทันที รวมทั้งจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ เพื่อรับประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
(6) การค้ามนุษย์ เนื่องจากไทยมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายอย่างแพร่หลายทั้งในอุตสาหกรรมประมง การเกษตร หรือในภาคครัวเรือน และยังมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ไทยจึงจำเป็นต้องมีระบบคัดกรองบุคคลเหล่านี้ ก่อนดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทาง
(7) มาตรา 112 และศาลทหาร โดย UNHRC เรียกร้องการละเว้นไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การอ้างภัยต่อความมั่นคง การหมิ่นประมาททางอาญาและกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความเห็นต่อนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และนักกิจกรรมการเมือง รวมทั้งดูแลให้กระบวนการพิจารณาคดีมีความโปร่งใสและเป็นกลาง และให้โอนคดีพลเรือนทุกคดีจากศาลทหารไปดำเนินการในศาลพลเรือน