นักนิติวิทยาฯชี้ นำอวัยวะ ‘น้องเมย’ ออกเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีข้อสงสัย
หลังเมื่อวานนี้ (21 พฤศจิกายน 60) พ.ท.นพ.นรุฏฐ์ ทองสอน นายแพทย์กองพยาธิ ศูนย์อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกับทหารที่เกี่ยวข้อง หลังครอบครัว นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ได้นำร่างของน้องเมยส่งผ่าชันสูตรพลิกศพครั้งที่ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบอวัยวะบางส่วนหายไปนั้น ว่าเป็นไปตามขั้นตอนการตรวจทางนิติเวชศาสตร์
https://www.facebook.com/meay.tanyakan?fref=mentions
ซึ่งนอกจากประเด็นที่ไม่มีการแจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบว่า ทางแพทย์ได้ทำการเก็บอวัยวะของน้องเมยไว้ตรวจเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร โดยไม่ได้ใส่กลับเข้าไปในร่างของน้องเมยนั้น ยังมีประเด็นที่สร้างความสงสัยว่า การเสียชีวิตจากสาเหตุ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นเรื่องปกติหรือไม่ ที่ต้องมีการผ่าชันสูตรพลิกศพ และนำอวัยวะเก็บไว้ตรวจสอบ
Sanook! News จึงสอบถามไปยังนายสกลกฤษณ์ เอกจักรวาล นักนิติวิทยาศาสตร์ ที่กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านนิติวิทยาศาสตร์และงานยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ได้อธิบายว่าการนำสมองออกมาตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต โดยการเอาสมองออกมาแช่ฟอร์มาลีน ก่อนที่จะนำไปตรวจพิสูจน์ในรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถทำได้ตามปกติ แต่ทว่าก็สามารถหั่นสมองออกมาบางส่วน ก่อนนำไปแช่ฟอร์มาลีนได้ จึงเป็นข้อสังเกตว่า การนำสมองออกไปทั้งหมดอาจมีรายละเอียดอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แต่ก็ไม่ถือว่าผิดอะไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์นิติเวช
ส่วนการนำหัวใจออกไปตรวจทั้งหมดนั้นถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน เพราะหัวใจมี 4 ห้อง การทำงานของหัวใจต้องมีความสัมพันธ์กัน มีการบีบการคลายที่เป็นจังหวะการเต้นของหัวใจ การที่จะดูรายละเอียดจึงมีความจำเป็นต้องตรวจดูหัวใจทั้งหมดด้วย
ขณะที่เรื่องของกระเพาะอาหารนั้น ได้รับคำอธิบายจาก นพ.สุรศักดิ์ รื่นสุข แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลราชบุรีว่า การเก็บตัวอย่างอาหารในกระเพาะอาหารไปตรวจก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการตรวจหาสารพิษหรือสิ่งต่างๆ ที่น้องเมยได้รับเข้าไปในระบบทางเดินอาหาร แต่ไม่จำเป็นจะต้องเก็บทั้งกระเพาะอาหาร เว้นแต่มีข้อสงสัยอย่างอื่น เช่น ในกรณีที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งมักจะพบในคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
ขณะที่กระเพาะปัสสาวะก็คล้ายกันกับการตรวจกระเพาะอาหาร จะต้องเก็บตัวอย่างน้ำปัสสาวะ นำไปตรวจหาสารเคมี หรือสารพิษอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้นักนิติวิทยาศาสตร์ และแพทย์นิติเวช ได้กล่าวตรงกันว่า ตามปกติเมื่อตรวจเสร็จแล้วทางแพทย์ต้องนำอวัยวะทุกส่วนกลับคืนร่างผู้เสียชีวิต เพื่อที่จะนำไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนาต่อไป แต่ถ้าจะเก็บอวัยวะบางส่วนไว้เพื่อตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตเพิ่มเติมนั้นสามารถทำได้ แต่ควรจะแจ้งให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทราบด้วย
โดยกรณีของน้องเมยลำดับต่อจากนี้ คือ รอให้โรงพยาบาลพระมงกุฎฯส่งมอบอวัยวะที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้กับทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และรอฟังผลการตรวจว่าจะพบสาเหตุการเสียชีวิตตรงกันหรือไม่