แง้มรั้วโรงเรียนเตรียมทหาร ผ่านอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนฯ
“นักเรียนเตรียมทหารมีความจำเป็นต้องฝึกความอดทน เพื่อสามารถรองรับการทำงาน อยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้น”
“หากนักเรียนคนใด ไม่สามารถทำได้ตามปกติที่เพื่อนๆ ทำได้ก็ต้องมีการ ธำรงวินัย”
“ไม่มีใครเจตนาจะฆ่ากันแน่นอนผมมั่นใจ พี่ถูกสอนให้รักน้องเหมือนเป็นน้องแท้ๆ และผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหารทุกคน รักนักเรียนเหมือนเป็นลูกตัวเอง”
“ผมยังขอยืนยันว่าระบบไม่จำเป็นต้องแก้ไข ระบบดีอยู่แล้ว ไม่มีไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจดูแลเพิ่มเติมในรายละเอียดที่เห็นว่าหละหลวมก็เพียงพอแล้ว”
พล.ท.ชนินทร์ โตเลี้ยง จเรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย 1 ในกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของน้องเมย ทั้งยังเป็นอดีตเจ้ากรมยุทธบริการทหาร และอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร (ผบ.รร.ตท. เมื่อ ต.ค. 57- ก.ย. 59) บอกเล่าเรื่องราว และความรู้สึกของเขากับ Sanook! News
จากกรณีการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ชั้นปีที่ 1 ที่ทางครอบครัวมีความเคลือบแคลงใจในการเสียชีวิต และหาทางผ่าชันสูตรน้องครั้งที่ 2 จนทราบว่าอวัยวะหลายชิ้นหายไป และจากผลชันสูตรพบเลือดคั่งในอวัยวะภายใน โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบอย่างเหมาะสม ดั่งเป็นการตอกย้ำความโศกเศร้าให้ครอบครัว ตัญกาญจน์ ยิ่งขึ้น
เหตุนี้ทำให้ครอบครัว และสังคม ยังคงตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วน้องเมยจากไปเพราะอะไร ซึ่งประเด็นนี้ต้องรอผลการชันสูตร ครั้งที่ 2 จาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ว่าจะออกมาตรงกับผลการชันสูตรครั้งแรกหรือไม่
โดยในเรื่องนี้ พล.ท.ชนินทร์ เปิดเผยว่า ผู้บังคับบัญชาทุกระดับไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สั่งสอบสวนเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด และในไม่ช้าทุกฝ่าย จะได้คลายความสงสัย จึงควรรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริง
ส่วนประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์การฝึกอย่างหนัก และการ "ธำรงวินัย" (ที่มีชื่อเล่นในวงการทหารว่าการ "ซ่อม" หรืออีกชื่อว่าการ "แดก") จนเป็นสาเหตุให้ นตท. บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น Sanook! News มีโอกาสพูดคุยกับอดีต ผบ.รร.ตท. ถึงความเห็นที่มีต่อการฝึก และการธำรงวินัย ว่ายังจำเป็นมากน้อยเพียงใดในปัจจุบันเมื่อโลกพัฒนาไปมาก และสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว
เราก็ได้คำตอบที่ชัดเจนจากอดีต ผบ.รร.ตท. ว่า
“การฝึก การธำรงวินัย เป็นกิจกรรมในระบบทหารและตำรวจ ออกแบบมาเพื่อให้ นตท. รับรู้ธรรมเนียมปฏิบัติ การปกครองบังคับบัญชา กฎ ข้อบังคับ ระเบียบวินัย ที่ต้องคุ้นเคยกับการถูกสั่งการ การรับคำสั่ง ตามผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด
จึงยังคงต้องมีอยู่ เพราะระบบดีอยู่แล้ว การปกครองแบบทหารตำรวจจะต้องมีการฝึกหนัก มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบอาวุโส ระบบการปกครองบังคับบัญชา ระบบเกียรติศักดิ์ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนภายใต้กฎ ข้อบังคับ ระเบียบวินัยอันเดียวกัน และมีการธำรงวินัย แต่เป็นเรื่องที่โรงเรียนต้องให้ความใส่ใจ ต้องไม่ชะล่าใจหากมีนักเรียนคนใดเข้ารักษาตัวที่กองแพทย์บ่อยกว่าเพื่อน"
โดย พล.ท.ชนินทร์ ชี้ว่าหากนักเรียนมีอาการผิดปกติ ไม่ใช่ป่วยธรรมดา เช่นเซื่องซึม ไม่ปราดเปรียว เหม่อลอย ไม่ซุกซน หรือไม่ร่าเริงเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป นอกจากจะอยู่ในสายตาของเพื่อนที่เป็นคู่หู (Buddy) ซึ่งได้จับคู่กันไว้ตั้งแต่เข้ามาเป็นนตท. และนักเรียนบังคับบัญชา (นักเรียนรุ่นพี่ ที่เรียกกันว่า พี่คอมแมนด์ มาจากคำว่า Commander) รวมทั้งนายทหารปกครองแล้ว
ผู้บังคับบัญชาของกรมนักเรียน ต้องรีบประสานส่งตัวไปให้แพทย์เพื่อตรวจเช็คหาสาเหตุเพิ่มเติม เพราะถึงแม้ว่าเด็กๆ จะผ่านการตรวจร่างกายอย่างดีจนผ่านเข้ามาศึกษาได้ แต่ใช่ว่าร่างกายทุกคนจะสามารถรับการฝึกได้เท่ากัน เป็นไปได้ที่นตท. บางคนอาจมีอาการผิดปกติของอวัยวะภายใน แต่มองไม่เห็น ทุกคนก็คิดว่าไม่เป็นอะไร
“อีกอย่างคือ นตท.ทุกคนจะถูกสอนให้อึด ให้อดทน บางครั้งเมื่อเกิดอาการผิดปกติภายใน จึงไม่กล้าปริปากบอกใคร โดยเกรงว่าจะถูกตำหนิว่าอ่อนแอ ซึ่ง นตท.จะรู้สึกอับอาย ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดต้องตั้งข้อสังเกตให้เร็ว ใส่ใจ เพราะมันเป็นไปได้ว่าการเจ็บป่วยจะปรากฏภายหลังการฝึกหนัก” พล.ท.ชนินทร์ กล่าว
โดยอดีตผบ.รร.ตท. ยังยอมรับว่าที่ผ่านมามีการฝึกจนนักเรียนบาดเจ็บถือเป็นเรื่องปกติ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ฉีก ข้อเท้าซ้นหรือพลิก หรือเล่นกีฬา แขนเดาะ ขาหัก
“โดยเฉพาะนักเรียนในชั้นปีที่ 1 ในห้วงแรกที่มอบตัวเข้ามาเป็น นตท. ที่เรียกว่านักเรียนใหม่ จะมีปัญหาเจ็บป่วยบ่อยเพราะร่างกายเด็กๆ ยังปรับสภาพไม่เท่ากัน การมาเรียนในช่วงแรกเป็นการปรับสภาพร่างกาย และจิตใจ จากพลเรือนมาเป็นทหารและตำรวจ และเมื่อผ่านช่วงแรกนี้ไปได้ เด็กๆ จะเริ่มจัดสรรเวลาและร่างกายได้ จนรับการฝึก ทำกิจกรรม และเรียนต่อไปตามปกติ”
ขณะที่เรื่องของการธำรงวินัย
เราได้รับการอธิบายให้เข้าใจทีละขั้นตอนว่าในรอบ 1 วัน ตั้งแต่ตื่นนอน เรียนวิชาการ การฝึก กิจกรรมชมรม เล่นกีฬา ฝึกฝนทำการบ้านตอนกลางคืน จนกระทั่งสวดมนต์ก่อนนอน ตามปกติแล้วนักเรียนทุกคนจะมีกิจวัตรประจำวันที่ถูกบีบด้วยเวลา เช่น อาบน้ำ กินข้าว และการตรวจยอด เพื่อเป็นการฝึกฝนระเบียบวินัย อันเป็นเรื่องปกติที่จะฝึกให้ นตท.ต้องปฏิบัติกิจกรรมทุกอย่างที่ได้รับมอบด้วยความรวดเร็ว ว่องไว เรียบร้อย และเสร็จทันเวลา
แล้วจะทำอย่างไรจึงจะให้ นตท.ทำอย่างนั้นได้ คำตอบคือ ระบบการปกครองและสั่งการทำให้เกิดผลนั้น โดยมีผู้บังคับหมวด หรือผบ.มว, ผู้บังคับกองร้อย หรือ ผบ.ร้อย, นักเรียนบังคับบัญชา(พี่คอมแมนด์) และผู้บังคับบัญชา ควบคุมเพื่อให้รู้จักการวางตัวระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ รู้จักสายบังคับบัญชา และการเชื่อฟังในระบบ
“หากนักเรียนคนใด ไม่สามารถทำได้ตามปกติที่เพื่อนๆ ทำกัน เช่น มาตรวจยอดช้า รองเท้าสกปรก หรือแสดงท่าทางกระด้างกระเดื่องไม่พอใจ หรืออาจมีท่าทางอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเท่าเพื่อนๆ แบบนี้จะมีการ ธำรงวินัย หรือที่เรียกว่า ซ่อม ที่มาจากคำว่า ซ่อมเสริม เสริมเพื่อให้สมบูรณ์แบบ เหมือนเราสอบตกในวิชาการก็ต้องมีสอบซ่อม” พล.ท.ชนินทร์กล่าว
ส่วนการที่โรงเรียนมีการอบรมวิธีการ ธำรงวินัย ให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงอบรมการซ่อมรุ่นน้องให้อยู่บนความพอดี กับพี่คอมแมนด์ ที่ถูกคัดเลือกมาจากคะแนนเรียน และคะแนนพฤติกรรมที่ดีแล้ว แต่ก็ยังมีนักเรียนเจ็บ และเสียชีวิตอยู่นั้น!
อดีต ผบ.รร.ตท. ระบุ เคยมีนักเรียนบังคับบัญชาหลายคนถูกปลดจากการเป็นนักเรียนบังคับบัญชาเพราะทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งถือเป็นการขัดคำสั่ง
แต่บางกรณีต้องเข้าใจว่าคนออกกำลังกายแล้วเกิดการเจ็บป่วย เนื่องจากกล้ามเนื้อยังไม่พร้อม หรือเจ็บแล้วยังไม่ได้มีการฟื้นฟู ทำให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง มีเกิดเป็นประจำ ทุกคนก็จะมาพบแพทย์เพื่อรักษาอาการ แล้วก็เดินกะโผลกกะเผลก มีไม้ค้ำไปเรียน หรือเข็นรถเข็นไปเรียน
ขณะที่เรื่องที่เกิดการเสียชีวิตนั้น พล.ท.ชนินทร์ กล่าวด้วยความมั่นใจว่า
“ผมเชื่อว่าไม่มีพี่คนไหนอยากซ่อมให้น้องตาย หรือต้องการเอาชีวิต ทุกคนอยากให้น้องแข็งแกร่ง สง่างาม และพี่ทุกคนถูกสอนให้รักน้องเหมือนน้องแท้ๆ ผมและผบ.รร.ตท. ทุกคนก็รักนักเรียนทุกคนเหมือนลูกของเรา
ทุกคนเสียใจกับการสูญเสีย พ่อแม่ผู้ปกครองสูญเสียบุตรชาย โรงเรียนเตรียมทหารสูญเสียนักเรียน ครูอาจารย์สูญเสียลูกศิษย์ เหล่าทัพและ สตช.สูญเสียบุคลากร รุ่นพี่ก็สูญเสียรุ่นน้อง รุ่นของ นตท.ก็สูญเสียเพื่อนไป ทุกคนสูญเสีย ต่างก็เสียใจ และไม่อยากให้เกิดขึ้น”
สุดท้ายในเรื่องของการซ่อมนั้น พล.ท.ชนินทร์ กล่าวยืนยันว่า การซ่อมจะต้องอยู่ในสายตานายทหารปกครอง ไม่มีการอนุญาตให้ซ่อมเดี่ยว ไม่ให้โดนตัวจนนำไปสู่การโดนซ้อม ส่วนคำพูดกดดันจากพี่จนอาจทำให้เด็กไม่กล้าเปิดเผยว่า เจ็บหรือเหนื่อยจนไม่ไหวแล้วนั้น เห็นว่าเด็กที่มีวุฒิภาวะต้องรู้ตัวว่าแค่ไหนที่รับได้ รับไม่ได้ หรือพอแล้วสำหรับร่างกายของตนเอง
โดยที่ผ่านมาทางโรงเรียนพยายามแก้ปัญหา เรื่องวุฒิภาวะของพี่คอมแมนด์ โดยให้พิจารณาจากสภาพร่างกายของตนเองสมัยที่เป็นรุ่นน้องที่ถูกสั่งให้ปฏิบัติ รวมถึงให้หมั่นสังเกตอาการที่พร้อมและไม่พร้อมของน้องๆ
ทั้งนี้ พล.ท. ชนินทร์ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวมีความมั่นใจว่าผู้บริหารบ้านเมืองทุกคน และ ผู้ใหญ่ในกองทัพ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญอย่างมากกับนักเรียนเตรียมทหาร
“เพราะถือว่านักเรียนเตรียมทหารทุกนายเป็นวัตถุดิบสำคัญยิ่ง ที่จะถูกป้อนไปยังเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
โดยจะเห็นได้จากที่ผ่านมา ผบ.ทุกเหล่าทัพ รวมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งนายทหาร นายตำรวจระดับต่างๆ ที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ซึ่งมีความประพฤติดี มีบุคลิกภาพที่ดี นิสัยใจคอดี มีระเบียบ มารับราชการที่โรงเรียน เพื่อทำหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชา นตท. และเป็นแบบอย่าง เป็นไอดอลให้น้อง ทั้งยังเป็นตัวอย่างให้น้องรู้ถึงภาพและวิธีการทำหน้าที่ในบทบาทของรุ่นพี่ในเหล่าของตัวเอง
ขณะที่ในส่วนของโรงเรียน พล.ท.ชนินทร์ มั่นใจเช่นกันว่า ผู้บริหารของโรงเรียนทุกคน ตั้งแต่ผู้บัญชาการโรงเรียน ผู้บังคับการกรมนักเรียน ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับกองร้อย จนถึงผู้บังคับหมวด มีความตั้งใจ และใส่ใจดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี
ทางโรงเรียนมีกองแพทย์ให้การพยาบาลในเบื้องต้น หากมีการเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถ ก็จะทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล รร.จปร. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันต่อไป และขอยืนยันว่าการดูแล นตท.ที่เจ็บป่วย ทางกรมนักเรียนจะประสานกับกองแพทย์อย่างใกล้ชิด เวลามีการฝึกหรือมีกิจกรรมออกกำลังกายหรือการธำรงวินัยเป็นส่วนรวม จะอยู่ในความควบคุมของกรมนักเรียนและมีแพทย์อยู่ด้วยเสมอ
ปัจจุบัน หลักสูตรของ รร.ตท.ได้ปรับปรุงใหม่แล้ว มีหลักเกณฑ์ในการรับสมัคร คือผู้ที่จะเข้ามาเป็น นตท. จากเดิมที่รับผู้ที่จบ ม.3 เรียน 3 ปี เป็นรับผู้ที่จบ ม.4 แล้วเรียน 2 ปี ร่างกายของเด็กเหล่านี้จะได้มีความพร้อมสำหรับการฝึกแบบตรากตรำได้