“สงครามมันโหด แต่เราฝึกแบบยืดหยุ่นได้” ความเห็นนักจิตวิทยา ผู้ผ่านสงครามเวียดนาม
ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาคลินิกคนแรกของประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ มศว เปิดเผยกับ Sanook! News ถึงช่วงชีวิตเพียงไม่กี่วัน แต่ยังจดจำไม่มีวันลืม สมัยสงครามเวียดนาม หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการสู้กันระหว่างเวียดนามเหนือ ที่มีจีน และเหล่าประเทศคอมมิวนิสต์ หนุนหลัง กับเวียดนามใต้ ที่มีสหรัฐอเมริกา และประเทศต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นคู่สงคราม
เขาเริ่มเล่าว่า “ตอนนั้นไปช่วยส่งเสบียงให้ทหารที่สู้อยู่ระหว่างรอยต่อเวียดนามใต้กับเหนือ คิดว่าบินส่ง 2 ครั้ง รวยแน่ๆ จะได้เงินหลักหมื่นกลับมาแต่งงาน โดยไม่ต้องง้อพ่อแม่”
แต่เรื่องราวกลับตาลปัตรเพราะนี่คือสงคราม คืนแรกที่ไปถึงเขาออกบินไปกับนักบินที่ไม่รู้สัญชาติ บนเฮลิคอปเตอร์เก่าๆ ลำหนึ่ง พร้อมกับเสบียง เพื่อนำไปส่งให้ทหารที่บุกขึ้นไปทางเขตเวียดนามเหนือ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์บินต่ำอยู่นั้น ทั้งสองคนไม่รู้เลยว่าจุดที่ต้องไปส่งของเข้าเขตเวียดนามเหนือแล้ว
gettyimages
“ปั้ง ปั้ง ปั้ง อยู่ๆ ก็มีเสียงดังไม่รู้ว่าเป็นปืนหรือก้อนหิน เฮลิคอปเตอร์ของเราตก กระแทกเสียงดัง แต่ผมไม่ตาย นักบินก็ไม่ตาย และออกคำสั่งให้วิ่ง วิ่ง วิ่ง อย่างไม่คิดชีวิต” แน่นอนเขาวิ่งสุดชีวิต เพราะถ้าหนีไม่ได้ความตายเท่านั้นที่รออยู่
ดร.วัลลภ เล่าต่อว่าตอนนั้นรอบด้านมืดไปหมด เรียกว่ามืดแปดด้าน แต่ระหว่างหยุดพักนักบินพูดกับเขาว่า
“มันหลอกเรา ให้เราเข้าไปส่งเสบียงในเขตเวียดนามเหนือ มีทางเดียวที่จะรอด เราต้องวิ่งกลับเวียดนามใต้” ทั้งสองออกวิ่งต่อตามเข็มทิศที่นักบินพกติดตัวไว้
ระหว่างทางที่วิ่งนั้น ดร.วัลลภ เล่าว่าพบศพทหารเวียดนาม และทหารอเมริกัน นอนตายเกลื่อนกลาด
“ทหารอเมริกันถูกเชือดคอ ทหารเวียดนามโดนยิงจนพรุน และที่แย่ ยังมีศพผู้หญิง และเด็ก ศพเกลื่อนกลาด กลิ่นก็เหม็นคละคลุ้งไปทั่ว มันแย่มากๆ ตรงนั้น”
เขากับนักบินวิ่งต่อไปอยู่นาน ได้ยินเสียงปืนยิงทีก็พักหลบที จนเคราะห์ดีวิ่งมาเจอค่ายของอเมริกาจึงรอดมาได้ วันนั้น ดร.วัลลภ ตัดสินใจทันทีว่าจะกลับประเทศไทย ซึ่งระหว่างที่รอเครื่องบิน บินกลับไทยนี่เอง ทำให้เขาได้สัมผัสกับการฝึกที่แสนโหดของทหารอเมริกัน
gettyimages
“มันฝึกกันหนัก และโหดมาก ใครซิทอัพไม่ดีจะโดนกระทืบ และโดนด่าด้วยคำหยาบคาย บางคนถือปืนไม่ถูก โดนกระทืบและด่ายับ เพราะมันอาจฆ่าตัวคนถือ หรือเพื่อนได้ ส่วนเรื่องวิ่งพวกนี้โดนสั่งวิ่งกันอย่างหนัก ใครวิ่งไม่ไหวโดนกระทืบอย่างเดียว ดังนั้นคือหยุดวิ่งไม่ได้นะ ยังไงก็ต้องวิ่ง ต้องฝึก”
นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารเชื่อว่าต้องใช้ความรุนแรง และต้องฝึกหนักเท่านั้น ถึงจะสมกับเป็นชายชาติทหาร
“เขาเชื่อกันแบบนั้น แต่ผมไม่เชื่อ ยิ่งเร็วๆ นี้ยังมีพูดว่า ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ต้องสมัครมาเป็น ไม่ต้องมาเรียน ถ้ายังพูดแบบนี้แสดงว่าอีโก้เขาแรงมาก ปรับยาก”
โดย ดร.วัลลภ ยังแสดงความคิดเห็นว่า อย่างสหรัฐอเมริกายังคงมีออกรบเป็นประจำ ทำให้ยังต้องฝึกหนัก แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เรายังต้องมีการฝึกตามที่ทหารบอกว่า เพื่อความมั่นคงของประเทศ
“เราไม่จำเป็นต้องลอกการฝึก หรือหลักการของพวกฝรั่งมาหมด เราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับบ้านเราได้”
gettyimages
gettyimages
เขาแนะนำว่าการฝึก อย่างในโรงเรียนเตรียมทหาร ควรมีการยืดหยุ่นมากขึ้น ต้องมีหน่วยงานด้านจิตวิทยาเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ตรงนี้จะช่วยเด็กเรื่องการตัดสินใจ เพื่อใช้ชีวิตต่อไปในสังคมของเขา หรือสังคมข้างนอกได้ ไม่ใช่ว่าเด็กฝึกไปแล้วพอรับไม่ได้ก็โดนกดดัน เด็กที่วุฒิภาวะพอ ก็จะตัดสินใจได้ว่าควรจะทำอย่างไร แต่เด็กที่หาทางออกไม่ได้ จะเป็นปัญหามาก
“คำว่ายืดหยุ่น คืออย่างพวกรุ่นพี่อาจจะยังไม่เข้าใจนักเพราะก็ยังเด็กกันอยู่ ดังนั้นอาจารย์ต้องเข้ามาดูแลใกล้ชิด ถ้ายังไม่ไหวต้องส่งมาที่ศูนย์แนะนำเลย ต้องขอบอกก่อนว่ากฎเกณฑ์ที่ทหารมีมันไม่ผิดนะ แต่ต้องเอาจิตวิทยามาช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา ที่รับไม่ได้ หนึ่งเลยคือช่วยให้เด็กอยู่ต่อไปได้กับเพื่อน กับพี่
หรือถ้าเด็กจะออกเราก็ต้องช่วยบอกเขาว่า เขาเหมาะที่จะไปทำอะไรต่อไป ยกตัวอย่างเด็กบางคนเรียนเก่ง สอบติดที่ดีๆ อาจจะเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร เรียนวิศวะ หมอ อะไรที่เขานิยมกัน แต่อาจทำให้เขาเป็นบ้า เพราะเขาอาจไม่เหมาะกับทางนี้ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ให้ละเอียด จะรู้ว่าเขามีพรสวรรค์ด้านอื่นที่เหมาะกับเขา เช่นอาจจะเก่งบริหาร หรือปรัชญา และเราก็แนะนำอาชีพที่เหมาะสม แบบนี้จะดีกับเด็กมากๆ”
ทั้งนี้กว่าที่ ดร. วัลลภ จะก้าวมาเป็นนักจิตวิทยาคลินิกคนแรกของประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ได้ เขาเปลี่ยนคณะเรียนมาถึง 4 ครั้ง ในหลายมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย และในสหรัฐอเมริกา
ใช้เวลาลองผิดลองถูกราว 4 ปี ที่สหรัฐอเมริกากว่าจะตัดสินใจเรียนสิ่งที่ชอบ ขณะที่อยู่ที่นั่น เขาโดนไล่ออกจากงานที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารถึง 13 ครั้ง ใน 13 วันติดๆ กัน
ครั้งสุดท้ายเขาคิดจะฆ่าตัวตาย ขณะเดินออกมาหลังโดนไล่ออก ในค่ำคืนที่มืดมิดบนฟรีเวย์ (ทางด่วนในสหรัฐ) เขาด่าทอตัวเองว่า งานง่ายๆ ยังทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้ แต่สลบไปข้างถนน แล้วฟื้นขึ้นมาในเช้าอีกวัน พร้อมได้ข้อคิดใหม่ว่า ชีวิตถึงจะมืดมน แต่ก็มีแสงสว่างเข้ามา ดังนั้นต้องลุกขึ้นมาสู้
โดยใช้ชีวิตเป็นเด็กเก็บจาน, ล้างจาน, เด็กเสิร์ฟ, ผู้ช่วยกุ๊ก, กุ๊ก และบาร์เทนเดอร์ ขณะที่ศึกษาปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก ที่นั่น