อวสาน ครูจอมทรัพย์ จาก “แพะ” กลายเป็น “แกะ”

อวสาน ครูจอมทรัพย์ จาก “แพะ” กลายเป็น “แกะ”

อวสาน ครูจอมทรัพย์ จาก “แพะ” กลายเป็น “แกะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“แพะ” เสียงเรียกหาความยุติธรรมจากผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม โดยไร้ข้อต่อสู้และหมดโอกาสโต้แย้งใดๆ ทำได้เพียงยอมจำนนเป็นเบี้ยล่าง รับผิดต่อข้อกล่าวหาที่ตนเองไม่ได้กระทำ ซึ่งไม่มีใครรับรู้ความจริงได้นอกจากตัวของเราเอง

และหนึ่งในแพะรับบาปที่กลายเป็นคดีสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรม ไล่เรียงไปตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงขบวนการตัดสินของศาลจนมีการรื้อฟื้นคดีกันขึ้นมาใหม่นั่นก็คือ

“คดีครูจอมทรัพย์” หรือ นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ที่ถูกตัดสินจำคุกในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตเป็นเวลา 3 ปี 2 เดือน ตั้งแต่ปี 2556 และได้รับอภัยโทษออกจากคุกมาเมื่อปี 2558 ซึ่งรวมแล้วติดคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน

โดยคดีนี้เหตุเกิดเมื่อปี 2548 ที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม โดยครูจอมทรัพย์เป็นคนสกลนคร ขับรถสีน้ำตาลบรอนซ์ ทะเบียน บค 56 สกลนคร

dee2

ซึ่งหลังพ้นโทษออกมา ครูจอมทรัพย์ได้ออกมาเรียกร้องหาความยุติธรรมขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ โดยอ้างว่าตนเองตกเป็นแพะในคดีนี้และที่สำคัญต้องจบชีวิตทางราชการ ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ลูกชายหมดโอกาสเรียนหนังสือหมดอนาคต รวมทั้งชีวิตของตนเองก็ไม่อาจจะไปต่อได้

การต่อสู้คดีครั้งนี้ทางครูจอมทรัพย์ได้ยื่นหลักฐานใหม่ที่เป็นพยานปากสำคัญคือ นาย สับ วาปี ซึ่งเป็นคนขับรถชน ตัวจริง และเจ้าตัวก็รับสารภาพ ทำให้คดีแพะของครูจอมทรัพย์มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลที่ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของกระบวนการยุติธรรมว่าบกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่

โดยเฉพาะในชั้นกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีผิดพลาด จับผู้บริสุทธิ์ติดคุกกลายเป็น "แพะ" ในคดีนี้

แต่แล้วเรื่องราวที่ดูเหมือนกับว่าจะไปถูกที่ถูกทางแล้ว สุดท้ายกลับกลายเป็นคดีโอละพ่อกลับตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อพยานปากสำคัญคือนายสับ วาปี ได้สารภาพต่อนายเอ็มเจ้าหน้าที่ดีเอสไอว่าถูกจ้างมาให้เป็นแพะรับผิดแทนครูจอมทรัพย์ ซึ่งนายเอ็มจึงพูดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวจะช่วยให้ไม่ต้องติดคุกติดตะราง

e4r3

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม จึงนำตัวนายสับ วาปี เข้าเครื่องจับเท็จเพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้ที่ขับรถชนคนตายหรือไม่ ซึ่งเครื่องประมวลผลออกมาว่า นายสับ วาปี พูดเท็จ เขาจึงให้การรับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเครื่องจับเท็จว่าถูกจ้างมาให้รับผิดแทนนางจอมทรัพย์ ด้วยเงิน 400,000 บาท และแจ้งว่าจะพูดความจริงในการเบิกความในชั้นศาล

โดยยอมรับว่าตนเองรู้ว่าอาจผิดกฎหมาย แต่อยากได้เงิน เพราะครูอ๋องยืนยันว่าไม่ติดคุก จึงหลงเชื่อ แต่ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ยอมรับจ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เงิน ได้เงินเพียง 2,000 บาท เพราะมีปัญหาเกิดขึ้นก่อน

นอกจากนี้ยังมีบทสนทนาที่นายสับ คุยกับครูจอมทรัพย์และนายสุริยา หรือ ครูอ๋อง ที่เป็นผู้จ้างวานในการรับผิดแทนครั้งนี้

ในขณะที่ทั้ง 3 คน ได้พักอยู่ที่ห้องพักภายในรีสอร์ตในกรุงเทพฯ ที่กระทรวงยุติธรรมจัดหาให้ โดยนายสับพักอยู่ห้องเดียวกับนายสุริยา และครูจอมทรัพย์พักอยู่ห้องติดกัน

ewerer3

ครูจอมทรัพย์ได้เปิดประตูเข้ามาต่อว่านายสับ ว่า “ทำไมจึงได้พูดความจริงเรื่องถูกจ้างเป็นแพะมารับผิดแทนครูจอมทรัพย์กับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ”

นายสับได้ปฏิเสธกับครูจอมทรัพย์ว่า “ไม่ได้พูด”

ครูจอมทรัพย์จึงได้ให้ตรวจดูข้อความในไลน์ซึ่งมีผู้ส่งเข้ามาบอกว่า “นายสับ ได้รับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอแล้วว่าถูกจ้างมา”

นายสับ จึงได้รับกับครูจอมทรัพย์ว่า “ได้ให้การรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอว่าถูกจ้างมาจริง เนื่องจากไม่ผ่านเครื่องจับเท็จ จึงต้องพูดความจริง”

ครูจอมทรัพย์จึงได้พูดกับนายสับ และนายสุริยา ว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ตัวใครตัวมัน อย่าพาดพิงถึงคนอื่น”

นายสุริยา จึงได้บอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกจะรับผิดชอบคนเดียวเอง”

fvf

ทั้งนี้จากหลักฐานและการสืบพยานทั้งหมด ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 17 พ.ย. 60 โดยให้ยกคำร้องของนางจอมทรัพย์ เนื่องจากศาลวิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของนางจอมทรัพย์ที่นำสืบไม่น่าเชื่อถือ และไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่

รวมทั้งยังมีพิรุธ จึงมีความเห็นให้ยกคำร้อง ซึ่งเท่ากับว่ายังคงคำพิพากษาเดิมที่ให้จำเลยมีความผิด มีผลทำให้ไม่ต้องดำเนินกระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาเพื่อพิจารณาใหม่อีกต่อไป

จากนั้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดนครพนมได้อนุมัติหมายจับ

1.นางจอมทรัพย์ และ 2.นายสุริยา หรือ ครูอ๋อง ในความผิดฐาน “ร่วมกันนำสืบ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี ในการพิจารณาคดีอาญา และซ่องโจร”

ซึ่งหากทั้งหมดผิดจริงตามข้อกล่าวหานี้อาจจะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท

ส่วนอีกข้อหาสำคัญคือ ฐานซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

gh545

ทั้งนี้เพราะสาเหตุใด ครูจอมทรัพย์ถึงเดิมพันสูงขนาดนี้ หากชนะคดีและหลุดจากการเป็นแพะ จะมีผลดีต่อครูจอมทรัพย์อย่างไร..?

ทาง Sanook! News จึงได้ติดต่อสอบถามไปยัง ทนายวรวัฒน์ บุญฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า “หากครูจอมทรัพย์สามารถรื้อฟื้นคดีได้สำเร็จ ก็สามารถลบล้างมลทินได้ทั้งหมดที่เคยรับโทษมาก่อนหน้านี้ และสามารถกลับเข้าไปรับราชการได้เหมือนเดิม หากเกษียณก็จะได้รับบำนาญตลอดชีวิต

นอกจากนี้ครูจอมทรัพย์ยังจะได้รับค่าเยียวยาจากการถูกคุมขังวันละ 500 บาท ครูจอมทรัพย์ ติดคุก 1 ปี 6 เดือน เป็นเวลา 545 วัน จะได้เงินเยียวยา 272,500 บาท

ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย แก่จำเลยในคดีอาญา ฉบับใหม่ และยังมีสิทธิ์ที่จะขอค่าเยียวยาจากกระทรวงศึกษาธิการได้ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ รวมทั้งยังสามารถฟ้องร้องทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งทำให้ตนเองขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพอีกด้วย

e3r

ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คาดว่ายอดเงินคงไม่ต่ำกว่าล้านบาท

แต่ส่วนตัวคิดว่า คงไม่มีใครอยากได้เงินทองมากกว่าการถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิดทั้งที่ไม่ได้ทำ เพราะคนเราถ้าบริสุทธิ์แล้วถูกจับเป็นแพะมันช่างเป็นความรู้สึกที่แย่มากจริงๆ แต่ในทางกลับกันหากมีขบวนการจ้างติดคุกจริงๆ ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการยุติธรรมก็จะทำหน้าที่ลงโทษต่อไป เพราะโอกาสมีให้เฉพาะคนที่บริสุทธิ์จริงๆ ไม่ใช่มีไว้เพื่อให้คนผิดสร้างหลักฐานเท็จ” ทนายวรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

คดีครูจอมทรัพย์จากแพะกลายเป็นแกะ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ต้องย้อนกลับไปดูว่า หากเชื่อข้อมูลเพียงด้านเดียวไม่มีการพิสูจน์ความจริง ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการเชื่อสิ่งที่มองเห็นเพียงด้านเดียว สามารถสร้างความเสียหายได้มากขนาดไหน และที่สำคัญผู้ที่แอบอ้างถามหาความบริสุทธิ์ สุดท้ายแล้วจุดอวสานคงไม่ต่างจากผู้กระทำผิดร้ายแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook