4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ

4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ

4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดงานวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิด “สืบพระราชปณิธาน สานใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในเรื่องของจิตอาสา การทำความดีด้วยหัวใจมาเป็นแนวทางในการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมทำความดีเพื่อประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสตร์พระราชาและการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติของแผ่นดิน เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร

     พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 นับเป็นจุดเริ่มของการเคลื่อนไหวในการดำเนินงาน เพื่อสิ่งแวดล้อมของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานของรัฐบาลและ เอกชนในการสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมกันของประชาชน ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงได้นำเสนอความเห็น ขอมติคณะรัฐมนตรีเห็นควร ถือเป็นนิมิตหมายอันดียิ่ง ที่จะกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และตระหนักถึงความสำคัญได้ร่วมกันผนึกกำลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ต่อไป โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย และคณะรัฐมนตรียังมีมติ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ให้เป็น “วันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ” หรือ วัน ทสม. แห่งชาติ ด้วยอีกวาระหนึ่ง เพื่อเป็นวันสัญลักษณ์ของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ในการรวมพลังด้วยจิตอาสาในการสร้างคุณความดีพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ


     พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวต่อว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานโดยหน่วยงานภาครัฐเพียงลำพัง หากแต่ต้องเกิดจากความร่วมมือ ร่วมใจและร่วมบริหารจัดการจากทุกภาคส่วนและที่สำคัญคือ ภาคประชาชน ซึ่งจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรในการมุ่ง รักษา และต่อยอดตามแนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างสุขให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศที่มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการสืบสานแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานไว้อย่างครอบคลุม ทั้งด้านดิน น้ำ ป่า ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำถึงพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และบรรลุถึงเป้าหมายอันสูงสุดนั่นคือ ความกินดีอยู่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีของราษฎร การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงล้วนเป็นไปเพื่อให้ราษฎรของพระองค์สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แนวทางการบริหารจัดการน้ำ แนวทางการฟื้นฟูคุณภาพดิน แนวทางในการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญของ การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นหลักการที่น้อมนำมาปฏิบัติได้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และองค์กร เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่ความพอเพียง ความพอดี การดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจอย่างมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากเราน้อมนำหลักนี้ไว้ในใจเสมอก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ การผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเดินไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน


     นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และเผยแพร่ผลการดำเนินกิจกรรมตามรอยพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ รวมถึงยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคล ชุมชน และองค์กร ต้นแบบด้านการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อื่นต่อไป โดยการจัดงานวันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๐ นี้ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในเรื่องของจิตอาสา การทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมทำความดีเพื่อประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs – Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าสามารถดำเนินการประสบผลสำเร็จและสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับประชาชนได้จริง รวมถึงเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวทางพระราชทานของรัชกาลที่ ๑๐ ที่ทรงเน้นให้ “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” โดยมีคำขวัญของการจัดงานเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยปีนี้ คือ “สืบพระราชปณิธาน...สานใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยมีการจัดงานในวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และในวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2560 ณ สวนสัตว์นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา


     นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวต่อว่า การจัดงานวันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ ประจำปี 2560 มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สืบพระราชปณิธาน...สานใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดย นายอำพล เสนาณรงค์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 พิธีมอบรางวัลแก่บุคคลและหน่วยงานที่ทำความดีด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดแสดงนิทรรศการการดำเนินงานตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “สืบพระราชปณิธาน สานใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” นิทรรศการความสำเร็จของชุมชนและโรงเรียนที่ชนะเลิศโครงการชุมชนและโรงเรียนปลอดขยะ และการร่วมกิจกรรมกับ ทสม.

     นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ยกรูปแบบการจัดการขยะของ “สนามหลวงโมเดล” มาใช้ในการจัดงานครั้งนี้ด้วย เพื่อให้มีการรักษาความสะอาดและการจัดการขยะที่จะเกิดขึ้นในงาน โดยเฉพาะขยะประเภทเศษอาหารและขยะที่เป็นกล่องกระดาษ ชานอ้อย หรือแก้วพลาสติก โดยได้จัดเตรียม กล่องข้าว ช้อนสแตนเลส และกระบอกน้ำ บรรจุในถุงผ้า สำหรับเป็นของที่ระลึกให้กับผู้ที่มาร่วมงาน และนำไปใช้จริงในการใส่อาหารรับประทานในงาน เพื่อลดขยะจากภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการจัดงานที่คำนึงถึงการลดปริมาณขยะและของเสียที่จะเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ได้จัด ถังขยะสำหรับใส่เศษอาหารเพื่อที่จะนำกลับมาทำปุ๋ยหมักหรือน้ำหมัก

แหล่งที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม https://www.deqp.go.th

 


[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook