ปฏิรูปตำรวจไทย อนาคตจะเป็นอย่างไร ถามใจใครดี?
เมื่อปลายปี 60 เราเห็นดราม่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคิวรับอาวุธปืนราคาประหยัด ซึ่งถ้ามาดูกันจริงๆ ชีวิตของตำรวจดราม่ามากกว่านั้น เพราะแม้กระทั่ง คอมพิวเตอร์ เครื่องปรินท์ หมึกเครื่องปริ้นท์ กระดาษ จนไปถึงรถจักรยานยนต์ รถยนต์ น้ำมัน ที่ตำรวจใช้ออกไปจับผู้ร้ายเพื่อดูแลความสงบสุขให้ประชาชนนั้น เราได้ยินมาว่าตำรวจส่วนใหญ่ต้องควักเงินของตนเองออกแทบทั้งสิ้น
เห็นแบบนี้ Sanook News! จึงไปขอความรู้จาก ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล อาจารย์คณะตำรวจศาสตร์ รร.นายร้องตำรวจ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต
ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า “ถ้าตำรวจไม่สามารถดูแลตนเองได้ ไม่มีอุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง ขณะที่พวกเขาออกไปทำหน้าที่จับผู้ร้าย แล้วพวกเขาจะรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อย่างไร”
Tong Krisanaphong
จากการศึกษาค้นคว้าด้านการปฏิรูปตำรวจมาอย่างจริงจัง ทั้งใน และต่างประเทศ ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ กล่าวว่า ในหลายประเทศมีอุปกรณ์ประจำตัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนฟรี ไม่ว่าจะเป็นปืน กระสุนปืน กุญแจมือ วิทยุประจำตัว กระบอง และเสื้อเกราะ แม้กระทั่งเครื่องแบบ แต่ในประเทศไทยนั้นกลับกัน รวมถึงค่าตอบแทนที่ต่ำมาก
นอกจากอุปกรณ์ที่จำเป็นแล้ว รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมันรถ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ตำรวจบ้านเราก็ต้องหามาใช้เองแทบทั้งสิ้น ยังไม่ต้องพูดถึงเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างอินเตอร์เน็ต หรือ โดรน ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานในยุคนี้
ทั้งนี้ ผศ.พ.ต.ท.ดร. กฤษณพงค์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ตำรวจ และการปฏิรูปตำรวจจากนานาประเทศพบว่า เสียงของประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางการปฏิรูป เพราะประชาชนคือตำรวจและตำรวจคือประชาชน ประการสำคัญ การปฎิรูปจะสำเร็จได้เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่ที่จะทำ
จากการสัมภาษณ์ครั้งนั้น เราจึงเกิดคำถามกับรัฐบาลทหารว่าให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจมากน้อยเพียงใด และการให้ความสำคัญเรื่องอำนาจการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะช่วยให้ตำรวจทำงานได้ดีขึ้นอย่างไร?
เรื่องนี้คนที่น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุดคือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกกันติดปากว่า คณะปฏิรูปตำรวจ ซึ่งยืนยันกับ Sanook News! ว่า คณะทำงานมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง แต่จะออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้จริงก่อนมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ตัวเขาไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่จะดำเนินการต่อไป
แน่นอนว่าพล.อ.บุญสร้าง หวังดีและตั้งใจจริงกับการปฏิรูปตำรวจ รวมถึงเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะต้องทำในสิ่งที่เป็นไปได้ และไม่ต้องของบประมาณเพิ่ม ซึ่งก็คือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยจะให้ ผบ.ตร. เป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.
และจะมีคณะกรรมการของตำรวจเองช่วยกันพิจารณาเลือก ผบ.ตร. คนต่อไป เป็นการภายใน เมื่อเลือกได้แล้วจะเหลือเพียง 1 ชื่อ เพื่อส่งให้นายกฯ โดยนายกฯ มีโอกาสปฏิเสธได้เพียง 1 ครั้ง
ขั้นตอนทั้งหมดประชาชนต้องรับรู้ด้วยว่ามีการเสนอชื่อใคร ถ้านายกฯ ไม่เลือกคนนี้ แล้วนายกฯไปเลือกใคร แบบนี้จะเกิดความโปร่งใสมากขึ้น พล.อ.บุญสร้าง ยืนยัน
“การโยกย้าย ก.ตร. จะมีอำนาจบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านตรัสไว้ว่า เราไม่สามารถทำให้คนดีไปทุกคนได้ แต่เราหาผู้นำที่ดีมา ผู้นำที่ดีจะไม่ยอมให้คนไม่ดีมาเป็นผู้นำในองค์กรนั้นๆ เขาจะไปผลักดันเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเขา คนดีมักจะสร้างระบบที่ดี ทำอะไรดีๆ” พล.อ.บุญสร้างกล่าว
อย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยว่าจะเรียกว่าเป็นอิสระหรือโปร่งใสจริงๆ ได้อย่างไร ในเมื่อนายกฯ ก็ยังเป็นคนสุดท้ายที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.
เรื่องนี้ พล.อ.บุญสร้าง ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เสือกระดาษ “มันมีอิสระมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นอิสระ 100 เปอร์เซ็นต์ เดิมนายกฯ เป็นประธาน ก.ตร. ตั้งนายพลเองได้ทั้งหมด อยากจะเอาอะไรได้ทุกอย่าง เป็นระบบแบบปิด แต่อันนี้เราแก้ไขแล้ว นายกฯ ต้องระวังมากขึ้นเยอะถ้าจะปรับเปลี่ยนอะไร”
เขายังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาเรื่องการปฏิรูปตำรวจหลายครั้ง หลายเรื่องที่ปฏิบัติได้ง่าย ก็ดำเนินการแก้ไขไปหมดแล้ว ก่อนที่จะมีคณะปฏิรูปนี้ด้วย แต่บางเรื่องเป็นเรื่องที่เห็นตรงกัน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดเรื่องงบประมาณ
gettyimages
ในขณะที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่เห็นตรงกันว่าสมควรจะแก้ไข ทั้งยังใช้งบประมาณน้อย แต่ว่ามีหลายความเห็น มีคนเสนอวิธีที่หลากหลาย เรื่องก็ต้องล่าช้าไป
ส่วนเรื่องที่เหลือ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข พล.อ.บุญสร้าง บอกว่าเพราะเป็นเรื่องยาก เช่น เรื่องอำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย คณะปฏิรูปนี้เข้ามาก็เสนอร่างกฎหมายขึ้นไปแล้ว "เชื่อเถอะถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาไม่ให้แก้กฎหมายลดอำนาจตัวเองในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. หรอก"
ส่วนเรื่องเงินเดือนของตำรวจที่ยังไม่เป็นไปตามความเหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะต้องแบกรับภาระรอบด้านนั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เป็นเรื่องของรายละเอียดที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเป็นผู้ดำเนินการเสนอรัฐบาล ทางคณะปฏิรูปจะทำได้เพียงแก้ไขกฎหมายในภาพใหญ่ เพื่อเปิดโอกาสให้ตำรวจสามารถเสนอขอขึ้นเงินเดือนได้ โดยในร่างเสนอไปว่า ให้มีการพิจารณาค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นไปตามความเหมาะสมทุก 5 ปี และถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่าน ตำรวจจะเป็นข้าราชการกลุ่มแรกที่มีกฎหมายบังคับให้พิจารณาค่าตอบแทนตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายยี้ไม่ได้ระบุว่า ต้องขึ้นเงินเดือนให้ทุก 5 ปี แต่เปิดโอกาสให้ตำรวจเสนอทุก 5 ปี ซึ่งจะมีการขึ้นเงินเดือนให้เป็นไปตามความเหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ตัดสินใจ
ส่วนเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็น เรื่องสวัสดิการ ทั้งเรื่องบ้านพัก และเงินเดือน เขาเห็นด้วยและอยากสนับสนุนให้ตำรวจได้รับสิ่งที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพราะทุกอย่างส่งผลโดยตรงกับประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ต้องค่อยๆ ดำเนินการ เพราะใช้งบประมาณมาก เนื่องจากเรื่องนี้มีคณะอนุกรรมการอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ รับผิดชอบศึกษาและร่างกฎหมายอยู่
อย่างไรก็ตามคณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมร่างแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญระบุ 3 เรื่อง ได้แก่
1. เรื่องการบริหารงานบุคคล แบ่งเป็น 1.1 แต่งตั้งโยกย้าย, 1.2 บำเหน็จความชอบ (เรื่องเงินเดือน), 1.3 ค่าตอบแทน ให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยทั้งหมดนี้ส่งครม. ไปแล้วตามกรอบเวลา คือภายในปี 2560
2. อำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ ส่ง ครม. ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561
3. การบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ส่ง ครม. ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561
ด้านพล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่าการปฏิรูปตำรวจเพิ่งเริ่มต้น ไม่มีใครบอกได้ว่าผลงานของคณะปฏิรูปนี้ จะเป็นรูปเป็นร่างได้จริง และรวดเร็วขนาดไหน นอกจากรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
และถึงแม้รัฐบาลจะผลักดัน ให้สนช. ผ่านร่างกฎหมายนี้ไปได้ แต่การปฏิรูปตำรวจไม่ได้จะเห็นผลทันทีในพริบตา อย่างน้อยต้องใช้เวลา 10 ปี
"แต่ปัญหาต่างๆ ที่ตำรวจเผชิญอยู่ตอนนี้ ประชาชนอย่างพวกเราเป็นกำลังสำคัญ เพราะถ้าพวกเราเคารพกฎกติกาเล็กๆ น้อยๆ อย่างกฎจราจร ก็จะช่วยลดปัญหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปได้มาก" พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ กล่าวสรุป