ไม่อยากสูญเสีย อย่าปล่อยผ่าน บทเรียนจากกรณี "น้องเคลียร์" พลัดตกสะพาน

ไม่อยากสูญเสีย อย่าปล่อยผ่าน บทเรียนจากกรณี "น้องเคลียร์" พลัดตกสะพาน

ไม่อยากสูญเสีย อย่าปล่อยผ่าน บทเรียนจากกรณี "น้องเคลียร์" พลัดตกสะพาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตี 2 ของวันที่ 2 มกราคม 2561 คืนต้นปี ที่หลายคนคงนอนหลับไปแล้ว แต่ที่สะพานพระราม 8 กำลังเกิดการสูญเสีย เมื่อเด็กสาวคนหนึ่งกำลังไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวของเธอ โดยมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นผู้ถ่ายให้ 

ขณะที่ไลฟ์อยู่นั้น เด็กสาวพลัดตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จุดที่มีกระแสน้ำแรง จึงทำให้วันนี้เจ้าหน้าที่เพิ่งพบร่างของเธอ ในไลฟ์เธออยู่ในอาการมึนเมาและร้องไห้ พร้อมกับเปิดเพลงเศร้าคลอ จากนั้นปีนขึ้นไปบนขอบสะพานพระราม 8 ก่อนพลัดตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา 

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ทราบว่า รับเด็กสาวมาจากย่านลาดพร้าว ให้มาส่งที่สะพานพระราม 8 เมื่อมาถึงสะพานเธอได้ว่าจ้างเขาเพิ่มเป็นเงิน 500 บาท เพื่อให้อยู่เป็นเพื่อนและถ่ายคลิปไลฟ์สดให้

ก่อนจะเกิดเหตุ เธอบอกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า ‘ไม่กระโดดหรอก หนูว่ายน้ำไม่เป็น’ เขาจึงคิดว่าเธอไม่ได้ตั้งใจจะกระโดดลงไป

12น.ส.นิตยา หรือน้องเคลียร์ ก่อนจะพลัดตกสะพานพระราม 8

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบขวดสุรา โทรศัพท์มือถือ และบัตรประชาชน ระบุชื่อ น.ส.นิตยา อายุ 18 ปี เป็นชาวจังหวัดระนอง

จากนั้น วันที่ 3 มกราคม ที่ จ.ระนอง ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นางกาญจนา อายุ 73 ปี คุณยายผู้สูญเสียหลานสาวที่เลี้ยงมาตั้งแต่ ป.1 โดยคุณยายเล่าว่า

น้องเคลียร์ (น.ส.นิตยา) เป็นคนร่าเริง อยู่ที่บ้านไม่เคยมีปัญหา และที่บ้านดูแลอย่างดี ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน เพราะลูกชายคนเล็กของยายทำงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และส่งเงินมาให้ใช้ไม่ขาดมือ

คุณยายของน้องเคลียร์เล่าต่อว่า หลานเป็นคนน่าสงสารเพราะเสียพ่อกับแม่ไปตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งตั้งแต่หลานหนีเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ หลังจบ ม.3 เพราะอยากดูแลตัวเองให้ได้ ก็ยังโทรคุยกันเสมอ 

โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม ช่วงเย็นๆ หลานโทรมาอวยพรปีใหม่กับคุณยาย แต่น้ำเสียงเหมือนกำลังร้องไห้ จึงถามไปว่าเป็นอะไร แต่สายก็ตัดไปเลย ติดต่อไม่ได้

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำให้เห็นว่า เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมจนแทบจะแยกจากกันไม่ได้ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์กับ Sanook News! ว่า

ในปัจจุบันผู้ปกครองไม่สามารถห้ามไม่ให้บุตรหลานใช้เทคโนโลยีได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมเด็กๆ ตลอดเวลา

การแก้ปัญหาสามารถเริ่มต้นได้จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลาน และหัวใจสำคัญคือต้องไม่ บ่น จนเด็กไม่อยากพูดคุย ไม่อยากปรึกษา โดยเริ่มแรกต้องไม่พูดเชิงอ้างว่าทำอย่างนี้ไม่ดี ทำอย่างนั้นดีกว่า

s__24420390พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

แต่ให้แสดงความเป็นห่วง พูดคุยให้ลูกรู้สึกสบายใจ หรือคุยเหมือนเป็นเพื่อน จากนั้นจะตั้งกฎในการใช้อินเตอร์เน็ตก็ได้ แต่ต้องพูดคุยทำความเข้าใจ ไม่ใช่การบังคับ หลังจากนั้นให้หากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อพาเด็กๆ ออกจากหน้าจอ

ส่วนประเด็นจากข่าวที่มีการไลฟ์สด ขณะน้องเคลียร์พลัดตกจากสะพานนั้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการเลียนแบบในเด็กวัยรุ่น เพราะหากกำลังมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง ก็อาจจะเอาไปเป็นแบบอย่างได้

ดังนั้นผู้ปกครองต้องพูดคุยกับบุตรหลาน หากมีจังหวะที่เหมาะสม โดยต้องเริ่มจากให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นของเขาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน อย่าเริ่มด้วยความคิดของผู้ปกครองก่อน

เมื่อเขาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นั้น ผู้ปกครองก็สามารถสอดแทรก ทำความเข้าใจ แนะนำสิ่งที่ถูกต้องกับลูก

ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เด็กๆ จะรู้สึกว่าเมื่อเขาได้พูด ได้เล่า เขาไม่ถูกซ้ำเติม ไม่ถูกบ่น หลังจากนี้ถ้ามีปัญหา เขาก็จะอยากมาพูดคุย ปรึกษากับเรา

อย่างไรก็ตามในช่วงวัยรุ่น อาจมีปัญหาเรื่องความรักเข้ามาซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เรื่องนี้จะบรรเทาได้ถ้าเด็กๆ ได้ระบายกับเพื่อน หรือครอบครัว ทั้งนี้หากไม่อยากปรึกษาคนใกล้ชิด สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนกรณีที่เราตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงว่าคนใกล้ชิด ต้องการจะทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย พญ.วิมลรัตน์  แนะนำว่าให้ถามเขาไปตรงๆ เลยว่าเตรียมวิธีการฆ่าตัวตายไว้หรือยัง, เคยทำหรือยัง, ปัญหาเกิดมาจากอะไร

คนใกล้ชิดต้องรับฟัง ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ระบาย อย่าไปสั่งสอน อย่าไปเงียบ เพราะการที่เขาพูดออกมาเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

แต่หากสถานการณ์กำลังจะนำไปสู่การเสียชีวิต ให้คนใกล้ชิดพูดคุย เกลี้ยกล่อม ให้เขาได้พูด และรีบโทรแจ้งตำรวจเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือคนที่มีอาการเครียดจนนำไปสู่การทำร้ายตัวเองนั้นยังไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของคนใกล้ชิด

ดังนั้นจะเป็นเรื่องดีมาก ถ้าคนในสังคมมองว่า การเข้าพบจิตแพทย์เป็นการเข้ารับการรักษาโรคธรรมดาอย่างหนึ่ง เข้ามารักษาก็สามารถหายได้ หรือบรรเทาอาการไปได้ ก็จะลดปัญหาการฆ่าตัวตาย หรือปัญหาการทำร้ายตัวเองไปได้มาก

ทั้งนี้ พญ.วิมลรัตน์ ได้ย้ำประเด็นสำคัญทิ้งท้ายไว้ให้สังคม 2 ข้อคือ

  1. โรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยจริง ถ้าพบเจอคนใกล้ชิดมีปัญหาให้รีบพามารักษา

  2. ถ้าพบคนรอบข้างคิดจะทำร้ายตัวเอง ให้ถามไปเลยว่าเราสามารถช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง อย่าเงียบ หรือเปลี่ยนเรื่องสนทนาเพราะกลัวว่าจะเป็นการซ้ำเติม เพราะจริงๆ แล้ว ผู้ป่วยกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook