คกก.ปฏิรูปตำรวจชี้ ทำอย่างไรตำรวจไทยจะมีเครื่องมือครบครัน
นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันทำหน้าที่เป็น ประธานอนุกรรมการภารกิจและอำนาจ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม หรือปฏิรูปตำรวจ ให้สัมภาษณ์กับ Sanook! News ถึงความคืบหน้าการปฏิรูปด้านภารกิจและอำนาจว่า คณะกรรมการให้ความสำคัญเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามแก้ไขให้การกระจายงบประมาณรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การสร้างขวัญและกำลังใจอย่างแรกคือ ให้โอกาสการเติบโตในสายอาชีพที่เขาทำอยู่ หากทำงานอยู่ในกองบัญชาการได้ ก็จะให้เติบโตในกองบัญชาการนั้น และไม่เปิดโอกาสให้มีการย้ายข้ามกองบัญชาการ หรือที่เรียกว่าข้ามห้วย มารับตำแหน่งในที่ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน
นายมนุชญ์ ยกตัวอย่างว่า “อาชีพตำรวจเวลาเจริญก้าวหน้า เวลาเข้าไปมันจะเป็น รองสารวัตร สารวัตร รองผู้กำกับ ผู้กำกับ แล้วมาเป็นรองผู้บังคับการ มาเป็นผู้บังคับการ เพราะฉะนั้นถ้ามีตำแหน่งผู้บังคับการว่างหนึ่งตำแหน่ง ก็จะมีคนที่ได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นไป ทำให้เจ้าหน้าที่เติบโตได้ถึง 5 คน แต่ถ้าเผื่อผู้บังคับการว่าง แล้วย้ายคนมาจากกองบังคับการอื่นข้ามห้วยมาเอาตำแหน่ง พล.ต.ท. ในที่ๆ ตัวเองไม่ได้ทำงาน ไอ้น้องๆ 5 คนในกองบังคับการนั้นก็ไม่ได้เลื่อนชั้น ก็หมดกำลังใจในการทำงาน
แต่ถ้าตำรวจทำตามขั้นตอนได้รุ่นน้องก็จะมีขวัญกำลังใจในการทำงาน รับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งคณะกรรมการของเราก็เขียนไว้ชัดเจนเลยว่าต้องเติบโตแบบนี้ แต่ต้องอยู่บนความสามารถของตนเองนะ คุณต้องทำงานด้วย ไม่ใช่ถึงเวลาคุณก็ได้เลื่อนไปตามน้ำไม่ได้”
ส่วนการกระจายงบประมาณ ต้องทำความเข้าใจว่าในระบบปัจจุบันทุกกองบัญชาการทำคำของบประมาณไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. จากนั้นสตช. จะเป็นผู้ส่งไปยังสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบฯ ก็จะพิจารณาในนามของสตช. หลังจากได้งบประมาณมา สตช.ก็จะทยอยกระจายงบประมาณไปยังกองบัญชาการต่างๆ ซึ่งทำให้การกระจายงบประมาณล่าช้า
คณะอนุกรรมการภารกิจและอำนาจ จึงเสนอให้ทุกกองบัญชาการที่ได้รับการกระจายอำนาจแบบบูรณาการ เสนอคำของบประมาณไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. โดยตรง จากนั้นให้ ผบ.ตร. พิจารณาแล้วของบประมาณไปยังสำนักงบฯเป็นรายกองบัญชาการไป
สำนักงบประมาณก็พิจารณาเป็นรายกองบัญชาการ และส่งงบให้แต่ละกองบัญชาการโดยตรง จะทำให้การกระจายงบประมาณเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยและประกาศใช้ สำนักงบฯ ก็ต้องทำตามหน้าที่ นายมนุชญ์ กล่าวต่อว่า ถ้าเป็นแบบนี้เบี้ยเลี้ยงก็จะออกเร็วขึ้น รวมไปถึงเรื่องค่าน้ำมัน เช่นกัน
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ยังต้องซื้อคุรุภัณฑ์มาใช้เองทั้งอุปกรณ์สำนักงาน ไปจนถึงปืน กระสุน เสื้อเกราะ กระบอง กุญแจมือ รถจับคนร้าย และอื่นๆ นายมนุญช์กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเริ่มที่การพัฒนาสถานีตำรวจ ต้องมีมาตราฐานคุรุภัณฑ์ประจำสถานีตำรวจ โดยพัฒนาจากเดิมที่ตำรวจแบ่งสถานีตำรวจ S M L ที่ระบุเพียงจำนวนเจ้าหน้าที่ในแต่ละสถานี แต่ไม่ได้ระบุจำนวนคุรุภัณฑ์ที่ชัดเจน
(สถานีขนาด S หมายความว่าเป็นสถานีตำรวจขนาดเล็ก มีประชากรน้อย คดีไม่มาก ส่วน M L ก็เป็นสถานีที่ใหญ่ขึ้นมาตามจำนวนประชากรและคดี)
ต่อไปก็จะให้เขียนมาตราฐานเอาไว้เลย ตัวอย่างเช่น สถานีตำรวจขนาด L มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกี่นาย ต้องมีปืนกี่กระบอก มีกุญแจมือ มีกระสุนเท่าไหร่ ต้องมีอุปกรณ์สำนักงานเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ต้องมีรถยนต์ จักรยานยนต์กี่คัน ให้ระบุไว้อย่างละเอียด แล้วเสนอขอเพิ่มงบเพื่อให้ได้คุรุภัณฑ์ตามมาตราฐาน ถึงแม้จะใช้งบประมาณหลานแสน หลายล้าน ล้านบาท ก็ต้องพยายามเสนอต่อไป
จากที่ฟังนายมนุชญ์ให้สัมภาษณ์ เห็นได้ว่าตอนแรกตำรวจอาจจะยังไม่ได้อุปกรณ์ต่างๆ มาครบตามความต้องการ เพราะรัฐบาลแต่ละชุดก็มีนโยบายแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าตำรวจลงมือทำ เสนอขออย่างเป็นระบบระเบียบเข้าไปสม่ำเสมอในทุกๆ รัฐบาล และประชาชนช่วยกันสนับสนุนเขาบ้าง ตำรวจจะต้องมีคุรุภัณฑ์ครบตามมาตราฐานในไม่ช้าแน่นอน เพราะเชื่อว่าทุกรัฐบาลจะไม่ลืมว่าความพร้อมในการทำหน้าที่ของตำรวจทุกคน ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทุกๆ วัน ลองคิดดูถ้าทำให้ประชาชนมีความสุขได้ทุกวัน ก็คงจะได้รับความนิยมน่าดู